วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

คอนเสิร์ต 2 ฟากฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน

วันที่ 26 ก.ย.2553 คอนเสิร์ต "คิดถึง..ทอดตาแลแผ่นดินด้ามขวาน" ณ โรงยิมเนเซี่ยม สนามกีฬาจิระนคร กลางเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา และในวันที่ 27 ก.ย.2553 คอนเสิร์ต "รักษ์เภตรา-ตะรุเตา ทะเลบ้านเราเพื่อลูกหลาน" ณ บริเวณลานสิบแปดล้าน ริมอ่าวปากบารา อ.ละงู จ.สตูล

ทั้ง 2 เวทีคอนเสิร์ต ใน 2 ฟากฝั่งทะเลภาคใต้ตอนล่างนี้ เพื่อร่วมรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรากว่า 4,700 ไร่ เพื่อใช้ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพื่อยื่นต่อรัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหากท่าเรือน้ำลึกปากบาราถูกสร้างขึ้นจริง จะกระทบถึงอุทยานแห่งชาติตะรุเตาอีกด้วย

รัฐบาลไทยเตรียมการมานานแล้วที่จะนำ 17 อุทยานฯ และ 1 เขตห้ามล่าสัตว์ป่ารวมเป็น "พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน" แล้วไปขอขึ้นเป็น "แหล่งมรดกโลก" แต่วันนี้ก็มีแผนจะสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เชื่อมโยง "แลนด์บริดสงขลา-สตูล" พร้อมกันไปด้วย ตามโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดของรัฐบาลนั่นเอง....แล้วจะเอาอย่างไรกันแน่..
 

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา
มีพื้นที่รวมเกาะและทะเลประมาณ 931,250 ไร่ หรือ 1,490 ตร.กม.  ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ 51 เกาะ ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในความใฝ่ฝันของคนไทยและทั่วโลก เนื่องจากเป็นจุดรวมของความงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ทั้งบนเกาะและในน้ำ มีป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ในน้ำก็งดงามไปด้วยกลุ่มปะการังหลากสีสวยสด

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา
ครอบคลุมพื้นที่ 494.38 ตร.กม. หรือกว่า 3 แสนไร่ เป็นพื้นน้ำประมาณ 94.7% ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่มากกว่า 22 เกาะ เรียงรายกระจัดกระจายตั้งแต่เขต อ.ละงู อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล เรื่อยไปจรด อ.ปะเหลียน จ.ตรัง  การที่ส่วนมากเป็นเกาะเขาหินปูนและมีความลาดชันสูง บ้างก็เป็นโขดหิน หน้าผา ถ้ำ แถมรูปร่างก็แปลกตา จึงทำให้มีทิวทัศน์ทางทะเลที่สวยงาม มีเกาะขนาดใหญ่อยู่ 2 เกาะคือ เกาะเภตราและเกาะเขาใหญ่ บนเกาะมีสภาพป่าสมบูรณ์มาก ส่วนที่เป็นหาดทรายก็ขาวสะอาด อีกทั้งในน้ำยังมีปะการังและแหล่งหญ้าทะเล จึงเป็นที่วางไข่และอยู่อาศัยของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะเต่าทะเลหลายชนิด

การเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ในทะเลจำนวน 292 ไร่ระหว่างเกาะเขาใหญ่กับเกาะลินต๊ะ เพื่อก่อสร้างแท่งคอนกรีตขนาดใหญ่กว่า 1 กิโลเมตร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของท่าเรือน้ำลึกปากบารา และส่วนพื้นน้ำที่เหลืออีก 4,408 ไร่ ถูกกำหนดให้เป็นเส้นทางเดินเรือสินค้า

ที่มาของภาพ http://www.marinerthai.com/articles/pic/pbr001.jpg
ผลกระทบ
เรือสินค้าที่จะเข้า-ออกที่ท่าเรือแห่งใหม่นี้ จะผ่านร่องน้ำที่ใกล้กับเกาะไข่ เกาะอาดัง และเกาะตะรุเตา ซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นและตะกอนจากใบพัดเรือ เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและการไหลของน้ำ เกิดมลพิษทางเสียง ซึ่งทั้งหมดจะกระทบต่อแนวปะการัง แหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะพะยูน ที่จะไปกินหญ้าทะเลในบริเวณนั้น และในส่วนอุทยานหมู่เกาะเภตรา อาจจะเกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จุดที่ตั้งท่าเรือและเส้นทางเดินเรือยังมีแนวปะการังที่ยังสมบูรณ์สวยงาม มีแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่หลายร้อยไร่ที่เป็นแหล่งอาหารของพะยูน เช่นเดียวกัน

แล้วจะทำอย่างไรกันต่อไป
"แลนด์บริด สงขลา-สตูล" ก็เพื่อที่จะลดต้นทุนทางการขนส่งสินค้าลง ลดทรัพยากรที่นำมาใช้เป็นพลังงาน ลดทั้งเวลาในการเดินทาง ซึ่งการลดต้นทุนดังกล่าว ก็ยอมรับว่าจะเป็นผลดี

แต่การลดต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่สร้างสรรค์อยู่คู่โลกของเรามาเป็นเวลานาน  มีระบบนิเวศน์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตมนุษย์ ก็น่าคิดเช่นเดียวกัน 

ขอให้รัฐบาล นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายช่วยกันไตร่ตรองและคิดให้รอบคอบด้วย  อย่าคิดแค่ช่วงชีวิตของเรา ต้องคิดถึงช่วงชีวิตของลูกหลานในอนาคตของพวกเราด้วย

อย่าให้เรามีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย แต่มโนธรรมในใจกลับลดลง

ที่มาข้อมูล :
___________. (2553). ปรากฏการณ์อุตสาหกรรมเข้าไปไล่ที่มรดกโลก : นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา. ปีที่ 2 ฉบับที่ 23 เดือนตุลาคม 2553.(หน้า 138-141).
Read more >>

วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

จะเอาน้ำมันหรือการท่องเที่ยวทะเลไทย

การเคลื่อนไหวของ "เครือข่ายรักษ์อ่าวไทย" ต่อต้านกลุ่มทุนขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล ด้วยหวาดหวั่นผลกระทบแหล่งท่องเที่ยวชื่อก้องโลกอย่างเกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง

ตามที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานและหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้อนุมัติให้มีการขุดจาะสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่รอบแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญของประเทศ ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง

โดยมีที่ได้ขออนุญาตขุดเจาะสำรวจก่อนปี 2553 คือ แปลงสัมปทาน G4/50 ของบริษัทเชฟรอน ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด มีระยะห่างจากเกาะพงันและเกาะสมุยเพียง 65 กับ 78 กิโลเมตร และ G6/48 ของบริษัท เพิร์ลออยส์ (อมตะ) จำกัด มีระยะห่าง 113 กับ 110 กิโลเมตร

นอกจากนี้ยังมีแปลงสัมปทานที่ขออนุญาตขุดเจาะสำรวจใหม่ปี 2553 ที่อยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และมีหลุมขุดเจาะใกล่เกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่าอีก 2 บริษัท คือ แปลงสัมปทาน B8/38 ของบริษัทซามานเดอร์ เอนเนอร์ยี่ (บัวหลวง) จำกัด ห่างจากทางเกาะเต่าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 65 กิโลเมตร กับแปลงสัมปทาน G5/50 ของบริษัทนิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด มีระยะห่างจากเกาะสมุยไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เพียง 42 กิโลเมตร และห่างจากชายฝั่ง อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ไปทางทิศตะวันออกเพียง 41 กิโลเมตร



เครือข่ายรักษ์อ่าวไทย ได้ศึกษาผลกระทบจากโครงการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าว ถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สัตว์ใกล้สูญพันธ์ ความไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยว และการดำรงอยู่ของชุมชนที่พึ่งการท่องเที่ยว โครงการดังกล่าวจะสร้างมลภาวะ อาทิ ตะกอน คราบน้ำมัน กลิ่นเหม็นและของเสียจากการผลิต ทั้งในกรณีปกติและกรณีเกิดการรั่วไหลของน้ำมันจากอุบัติเหตุ หรืออุบัติภัยธรรมชาติ ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในอ่าวไทย

จึงเป็นที่หวั่นเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงการประกอบสัมมาอาชีพของผู้คนมากมายนับแสนคน และยังทำให้สูญเสียภาพลักษณ์ด้านความสวยงามทางธรรมชาติของท้องทะเลและเกาะแก่งต่างๆ อันมีผลกระทบโดยตรงต่อตำแหน่งทางการตลาดท่องเที่ยวทางทะเลที่ทั้ง 3 เกาะ และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองที่อยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ซึ่งปัจจุบันเป็นแม่เหล็กดึงดูดที่ให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกมาเยือนไทย

ปัจจุบันมีการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวบนเกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า รวมกันแล้วหลายแสนล้านบาท มีโรงแรมราว 800 แห่ง รวมห้องพักกว่า 2 หมื่นห้อง สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศชาติแต่ละปีเกินกว่า 2 หมื่นล้านบาทมาโดยตลอด และก็กระจายอยู่ในคนทุกอาชีพ ในทุกภาคส่วน อีกทั้งยังได้สร้างมูลค่าเพิ่มไปยังพื้นที่อื่นๆ ในประเทศอีกมากมาย

ธุรกิจท่องเที่ยวหากมีการพัฒนาที่ดีก็จะนำไปสู่ความยั่งยืน และสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์กันไปได้ชั่วลูกชั่วหลาน ขณะที่อุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันที่สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละไม่กี่หมื่นล้านบาท แต่กลับไม่มีความยั่งยืนอะไรเลย อาจจะ 5-10 ปี ก็ดูดน้ำมันขึ้นมาหมดแล้ว ที่เหลือไว้ก็คือความบอบช้ำของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เท่านั้นเอง


เครือข่ายรักษ์อ่าวไทย กำลังจะยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ระงับโครงการหรือกิจกรรมในพื้นที่อ่าวไทยที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กว่า 26 โครงการ โดยจะเลือกฟ้องหน่วยงานราชการทั้งหมด เช่น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี เป็นต้น ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถฟ้องกลับได้ เพราะเป็นคดีสาธารณะและเป็นคดีปกครอง อีกทั้งบริษัทฯ ที่ได้รับสัมปทานสำรวจและขุดเจาะน้ำมันคู่กรณีก็ไม่มีสิทธิ์ฟ้องกลับเช่นกัน เนื่องจากไม่ใช่คู่กรณีตามคำฟ้อง

ถึงเวลาแล้วที่พวกเราคนไทยทุกคนจะต้องช่วยกันตัดสินใจ ว่า "จะเอาน้ำมันหรือการท่องเที่ยวทางทะเลไทย" ผมว่า น้ำมันน่าจะหาได้จากแหล่งอื่นๆ อีกมากมาย แต่ธรรมชาติที่สวยงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนี่ซิ มันหายาก  อย่าเอาเพียงแค่ผลประโยชน์ระยะสั้นของกลุ่มทุน และนักการเมืองเลย...เอาผลประโยชน์ระยะยาวให้แก่ประเทศไทยและลูกหลานของเราดีกว่า...หยุดเอาเปรียบกับประเทศไทยได้แล้ว..

ขอเอาใจช่วยและให้กำลังใจ กลุ่มเครือข่ายรักษ์อ่าวไทย
  • นายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีเมืองเกาะสมุย /ประธานเครือข่ายรักษ์อ่าวไทย
  • นายเรืองนาม  ใจกว้าง ประธานมูลนิธิเกาะสีเขียว และนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ฝั่งตะวันออก
  • นายสุธรรม  สามทอง รองนายกเทศมนตรีเมืองเกาะสมุย
  • นพ.บรรณศาสตร์  เรืองจันทร์  นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย
  • นายธีรกิจ  หวังมุทิตากุล ประธานหอการค้า จ.สุราษฎร์ธานี
  • นายไชยยันต์ ธุระสกุล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเต่า
  • นางวรรณี  ไทยพานิช  นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะพงัน
  • นางวัลวลี  ตันติกาญจน์ นายกสมาคมสปาสมุย
  • นางมาลีพันธ์  ซาฮิล หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์ทางทะเลเกาะเต่า
  • นายมานพ  แซ่เตียว ประธานชมรมรักษ์พะงัน
  • นางรัฎดา สามหมุน เลขาธิการชมรมรักษ์เกาะเต่า
  • นายอานนท์ วาทยานนท์ กรรมการธรรมาภิบาล จ.สุราษฎร์ธานี
  • นายอยับ ซาดัดคาน รองนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี
  • นายทนงศักดิ์  สมวงศ์ ประธานกลุ่มรักษ์เฉวง
  • นายวชิรพงษ์  สกุลรัตน์ ประธานชมรมพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขนอม
  • และผู้แทนชุมชนผู้เดือดร้อนและเสียหายในพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่าและ ใกล้เคียง
  • ฯลฯ
ที่มาข้อมูล :
___________. (2553). อะไรสำคัญกว่ากัน? พลังงานหรือการท่องเที่ยว : นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา. ปีที่ 2 ฉบับที่ 23 เดือนตุลาคม 2553.(หน้า 130-136). 
Read more >>

วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

“วาฬสีน้ำเงิน” เจ้าสมุทรที่ใกล้สูญพันธุ์

วาฬสีน้ำเงินขณะล่า "กริลล์" (BBC News)
แม้เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งครองผืนน้ำในมหาสมุทรทั่วโลก และมีขนาดใหญ่โตไม่น้อยกว่าตึก 8 ชั้น แต่ “วาฬสีน้ำเงิน” เกือบต้องสูญพันธุ์ไปจากโลกสีน้ำเงิน จากมนุษย์ที่ไล่ล่าอย่างหนักในช่วง 2-3 ศตวรรษที่ผ่านมา

“วาฬสีน้ำเงิน” (Blue Whale) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุด และอาจเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งอาศัยอยู่บนโลกนี้ แม้กระทั่งไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งเคยครองแผ่นดินบนโลกยังมีขนาดเล็กกว่าวาฬชนิดนี้ เคยมีผู้พบเห็นวาฬสีน้ำเงินขนาดยาวถึง 33 เมตร หนัก 190 ตัน แต่โดยทั่วไปจะพบวาฬที่มีขนาดเล็กกว่านี้ โดยมีขนาดเฉลี่ย 25-26.2 เมตร หนัก 100-120 ตัน

ข้อมูลจากเนชันนัลจีโอกราฟิกระบุว่า เฉพาะลิ้นของวาฬสีน้ำเงินอย่างเดียวก็หนักเท่าๆ กับช้างตัวหนึ่ง ส่วนหัวใจมีขนาดพอๆ กับรถยนต์คันหนึ่งเลยทีเดียว
วาฬหลังค่อมตีลังกากลางน้ำ

ในช่วงศตวรรษที่ 20 วาฬสีน้ำเงินถูกล่าจนเกือบจะสูญพันธุ์ กระทั่งช่วงกลางทศวรรษ 1960 ได้เริ่มมีการปกป้องวาฬชนิดนี้ และเร็วๆ นี้ประมาณว่า เหลือวาฬสีน้ำเงินในซีกโลกใต้อยู่ประมาณ 2,300 ตัว อีกทั้งมีหลักฐานว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นปีละ 7% แต่ยังไม่มีการประมาณจำนวนวาฬชนิดนี้ที่ดีพอในบริเวณอื่นของโลก

ถึงอย่างนั้น บีบีซีนิวส์ระบุว่า มีหลักฐานประชากรวาฬสีน้ำเงินเพิ่มจำนวนขึ้นในแอตแลนติกเหนือ โดยก่อนเริ่มอุตสาหกรรมล่าวาฬ คาดว่ามีวาฬสีน้ำเงินในท้องทะเลราว 200,000-300,000 ตัว และเชื่อว่าปัจจุบันน่าจะเหลือประมาณ 12,000 ตัว ซึ่งน้อยกว่า 1% ของจำนวนเดิมที่มีอยู่

วาฬสีน้ำเงินแม่-ลูก ซึ่งลูกวาฬแรกเกิด
มีขนาดใหญ่ 6-8 ม.(BBC News)
ทำไมต้องล่า “วาฬ” ?
วาฬถูกล่าเพื่อ “เนื้อ” และ “น้ำมัน” เป็นหลัก โดยการล่าวาฬสามารถย้อนกลับไปได้ไกลถึง 3,000 ปีก่อน ค.ศ.ชาวอินนูอิตในกรีนแลนด์ล่าวาฬเพื่อยังชีพ ส่วนชาวญี่ปุ่นและนอร์เวย์ต่างมีวัฒนธรรมในการล่าวาฬ โดยการล่าวาฬเป็นอุตสาหกรรมนั้นเริ่มต้นในคริสศตวรรษที่ 17 และมีการล่าวาฬหนักขึ้นในช่วงศตววรษที่ 18-19 โดยในอดีตเมืองต่างๆ ของสหรัฐฯ และยุโรปใช้น้ำมันจากวาฬเป็นเชื้อเพลิงในการจุดตะเกียง

จนกระทั่งในปี 1986 คณะกรรมการควบคุมการล่าวาฬนานาชาติ (International Whaling Commission) หรือไอดับเบิลยูซี (IWC) ได้ห้ามการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ ปัจจุบันความต้องการน้ำมันวาฬลดลงมาก และเหลือเพียงการล่าเพื่อเป็นอาหาร โดยปัจจุบันวาฬมิงก์ซึ่งเป็นวาฬขนาดเล็กที่ถูกล่ามากที่สุด

“ไอดับเบิลยูซี” คณะกรรมการจัดสรรโควตาล่าวาฬ
คณะกรรมการควบคุมการล่าวาฬนานาชาติจัดตั้งขึ้นเมื่อ 2 ธ.ค.1946 ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี สหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อการล่าวาฬที่เหมาะสมต่อจำนวนวาฬที่มีอยู่ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมล่าวาฬ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 88 ประเทศ ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่นและนอร์เวย์ที่ล่าวาฬเป็นวัฒนธรรมด้วย

วาฬสีน้ำเงินพ่นน้ำ อีกหนึ่งสัญญลักษณ์
ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้
(BBC News)
ภารกิจหลักของไอดับเบิลยูซี คือกำหนดจำนวนและตารางที่เหมาะสมในการล่าวาฬ ซึ่งการกำหนดนี้เพื่อคุ้มครองวาฬบางสปีชีส์ กำหนดพื้นที่เฉพาะให้วาฬได้หลบภัยจากการล่า จำกัดจำนวนและขนาดของวาฬที่จะถูกล่า วางเงื่อนไขสำหรับการเปิด-ปิดฤดูกาลล่า และห้ามล่าลูกวาฬและวาฬตัวเมียที่มีลูกอ่อน และผู้ล่าวาฬยังต้องรวบรวมรายงานการจับ รวมถึงสถิติและข้อมูลเชิงชีววิทยาให้แก่คณะกรรมการด้วย

สัตว์ใหญ่ที่กินเฉพาะสัตว์เล็ก
วาฬสีน้ำเงินเป็นวาฬกรองกิน (baleen whale) มีแผ่นกรองซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับเล็บที่เรียกว่า “บาลีน” (baleen) เชื่อมกับขากรรไกร และจัดเป็นสัตว์กินเนื้อ แต่เหยื่อของวาฬกลับเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็กๆ เวลากินอาหารสัตว์น้ำขนาดยักษ์นี้จะกลืนน้ำปริมาณมหาศาลเพื่อกรองเอา “กริลล์” (krill) สัตว์น้ำขนาดเล็กคล้ายกุ้งและกลืนกิน

วาฬต้องดำน้ำลงไปล่ากริลล์ที่ความลึกประมาณ 100 เมตร และปกติจะดำน้ำนาน 20 นาที แต่มีบันทึกสูงสุดว่าดำได้นานถึง 36 นาที ทั้งนี้ วาฬสีน้ำเงินที่โตเต็มวัยกินกริลล์วันหนึ่งได้มากถึง 4 ตัน

อีกหนึ่งลีลาของวาฬสีน้ำเงิน
(Julia Communication)
วาฬไม่ใช่ “ปลา”
เราคุ้นเคยกับการเรียกวาฬว่า “ปลาวาฬ” เช่นเดียวกับการเรียกโลมาว่า “ปลาโลมา” แต่สัตว์น้ำทั้งสองชนิดนั้นเป็นสัตว์เลือดอุ่นที่เลี้ยงลูกด้วยนม ต่างจาก “ฉลาม” ที่จัดเป็นปลาชนิดหนึ่ง ทั้งวาฬและโลมาเป็นสัตว์ในลำดับเซตาเซีย (Cetacea) เช่นเดียวกัน โดยวาฬจะหายใจได้เช่นเดียวกับคน และหายใจแต่ละครั้งสามารถดำน้ำได้นานถึง 20 นาที และวาฬยังพ่นน้ำออกจากช่องหายใจได้สูงถึง 9 เมตร

วาฬแรกเกิดหนักได้ถึง 3 ตัน และมีขนาดถึง 8 เมตร โดยในช่วงปีแรกวาฬตัวน้อย จะกินนมแม่อย่างเดียวมากถึงวันละ 91 กก. ซึ่งวาฬมีอายุเฉลี่ยประมาณ 80-90 ปี โดยศัตรูของวาฬนอกจากมนุษย์แล้วยังมีปลาฉลามที่เป็นผู้ล่าอีกชนิดหนึ่ง นอกจากนี้ทุกๆ ปียังพบว่าวาฬบาดเจ็บจากการปะทะกับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ด้วย

นักท่องสมุทรส่งเสียงได้ไกล 1,600 กม.
วาฬสีน้ำเงินอาศัยอยู่ทั่วไปในมหาสมุทรทั่วโลก โดยมักจะว่ายน้ำเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ปกติจะพบเพียงลำพังหรือไปเป็นคู่ ในช่วงหน้าร้อนวาฬสีน้ำเงินจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในน่านน้ำแถบขั้วโลก และจะอพยพสู่แถบศูนย์สูตรในช่วงที่ฤดูหนาวมาเยือน โดยวาฬสีน้ำเงินจะว่ายน้ำได้ไกล 8 กม.ในเวลา 1 ชั่วโมง แต่หากตื่นเต้นหรือตกใจวาฬสีน้ำเงินจะเร่งความเร็วได้ถึง 32 กม.ต่อชั่วโมง

กริลล์ตัวเล็กๆ คืออาหารหลักของ
วาฬตัวใหญ่ (BBC News)
นอกจากเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว วาฬสีน้ำเงินยังเป็นสัตว์ที่เสียงดังกังวานที่สุดในโลกอีกด้วย ซึ่งภายในสภาวะที่เหมาะสม วาฬสีน้ำเงินสามารถส่งเสียงถึงวาฬอีกตัวที่อยู่ไกล 1,600 กิโลเมตรได้ โดยจะส่งชุดเสียงเป็นคลื่นสั้น เสียงครวญครางหรือโหยหวนออกไป


ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าวาฬสีน้ำเงินไม่ได้ส่งเสียงเพื่อการสื่อสารเพียงอย่างเดียว แต่ใช้เพื่อนำทางใต้มหาสมุทรที่ลึกและอับแสงด้วย


สถานภาพใกล้สูญพันธุ์ของวาฬสีน้ำเงินนั้น สะท้อนให้เห็นว่าไม่มีสัตว์โลกใดรอดพ้นจากการคุกคามของมนุษย์ไปได้ แม้กระทั่งสัตว์ใหญ่ที่สุดในโลกนี้ แต่ยังไม่สายเกินไปที่เราจะเพิ่มโอกาสให้เพื่อนร่วมโลกนี้ได้อยู่คู่กับมหาสมุทรต่อไป

ภาพสะเทือนใจเมื่ออุตสาหกรรมล่าวาฬ
ของญี่ปุ่นจับวาฬแม่-ลูก
ทั้งที่ผิดข้อห้ามของ IWC

อุตสาหกรรมล่าวาฬ ซึ่งมีเทคโนโลยี
ก้าวหน้ากว่าอดีตมาก
(Australian Costom Service)

ที่มา :
ASTVผู้จัดการออนไลน์. (2553). “วาฬสีน้ำเงิน” เจ้าสมุทรที่ใกล้สูญพันธุ์. Science & Technology. [Online]. Available : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000090170. [2553 กรกฎาคม 23 ].
Read more >>

วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เมื่อผู้สื่อข่าวดำน้ำเป็น

เมื่อวันที่ 13-19 ก.ค.2553 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสสอนหลักสูตรดำน้ำสากลระดับ Open Water Diver ให้แก่ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3, 5, 7, 9 , ทีวีไทย และกำลังพลส่วนหนึ่งจากกรมกิจการพลเรือนทหารบก นำโดย พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (เสธ.ไก่อู) โฆษก ศอฉ. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพาผู้สื่อข่าว ไปทำข่าวเกี่ยวกับการนำรถถังของกองทัพบก จำนวน 25 คัน ไปทิ้งใต้ทะเลที่ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส เพื่อสร้างปะการังเทียม  ตามโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ งานนี้ทางกองทัพบก เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเรียนให้ผู้สื่อข่าวฯ ทั้งหมด

ข่าวใต้ทะเลหายไป
แต่เดิมที่ผ่านมาการทำข่าวใต้ทะเล ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีส่วนแบ่งพื้นที่ข่าวหน้าจอโทรทัศน์น้อยมาก  และมักจะไม่ค่อยได้รับการนำเสนอข่าว หรือบางครั้งการนำเสนอข่าวก็อาจคลาดเคลื่อนจากความจริง ไม่ได้ภาพประกอบข่าวที่ตรงกับความเป็นจริงนัก ทั้งๆ ที่ข่าวใต้ทะเลมีหลากหลายประเด็นข่าวมาก อาทิ
  • ทรัพยากรปะการังและสัตว์น้ำ ที่กำลังเสื่อมโทรมและถูกทำลาย
  • การทำการประมงที่ผิดกฏหมาย เช่น การระเบิดปลา การลากอวนในแนวปะการัง
  • ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบ  เช่น การเกิดปะการังฟอกขาว ขยะใต้ทะเล
  • เหตุการณ์หลายอย่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำน้ำ เช่น การพิสูจน์ทราบตู้คอนเทนเนอร์ที่แสมสาร ครูสอนดำน้ำสูญหาย นักดำน้ำเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในระหว่างการดำน้ำ ปัญหาเกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยวดำน้ำในประเทศไทย
  • ฯลฯ  
ในส่วนตัวแล้วผมคิดว่า เหตุการณ์ที่กล่าวมานี้ สาเหตุที่ไม่ค่อยได้นำเสนอข่าวผ่านทางจอโทรทัศน์ไปยังผู้ชม อาจมาจากปัจจัยที่สำคัญ เช่น
  1. ผู้สื่อข่าวและช่างภาพดำน้ำไม่เป็น ด้วยสาเหตุนี้ ทำให้ผู้สื่อข่าวไม่สามารถที่จะเขียนข่าวได้ ช่างภาพก็ไม่สามารถที่จะหาภาพจริงมาประกอบตามเนื้อข่าวได้
  2. กล้องถ่ายวิดีโอใต้น้ำและอุปกรณ์ประกอบ ค่อนข่างมีราคาแพง ส่งผลให้ทางสถานีโทรทัศน์ ไม่กล้าที่จะลงทุน  หากลงทุนไปแล้วไม่แน่ใจว่าจะสามารถใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่าหรือไม่
  3. อุปกรณ์เกี่ยวกับชุดดำน้ำ ถังอากาศ และเรือสำหรับดำน้ำ ต้องมีการวางแผนในรายละเอียด เพราะในบางสถานที่ไม่ได้มีไว้ให้เช่าหรือให้บริการ อาจต้องมีการจัดเตรียมไปเอง
  4. การมองประเด็นข่าวของกองบรรณาธิการ ข้อนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ   เพราะหาก บก.ข่าว มองประเด็นข่าวเกี่ยวกับใต้ทะเลไม่ออกแล้ว  งานนี้ก็คงไม่มีข่าวใดๆ ให้ผู้สื่อข่าวทำ
ผมขออนุญาตยกตัวอย่างในข้อ 4 (ในฐานะผู้ชม)  เกี่ยวกับเนื้อหาข่าวที่อยากชม เช่น  "ในวันที่ 9 ส.ค.2553 กรมประมงเชิญผู้สื่อข่าวไปชมการทิ้งรถถัง และตู้รถไฟ เพื่อจัดสร้างปะการังเทียม ตามแนวพระราชดำริ ที่นราธิวาส"   สิ่งที่ผมอยากชมข่าว ไม่ใช่เพียงแค่ว่า ความเป็นมา การจัดงานพิธี  ใครมาเป็นประธาน ใครเป็นให้ผู้การสนับสนุน แล้วก็ชมภาพการทิ้งรถถัง และตู้รถไฟจากเรือบาส จมลงสู่ทะเล" 

ผมอยากชมว่า จริงหรือไม่ ที่กล่าวว่า  "การจัดสร้างแนวปะการังเทียมทำให้สัตว์น้ำบางชนิดที่หายไปในช่วงเวลาหนึ่งกลับมาให้เห็นในพื้นที่ เช่น ปลาหมอทะเลขนาดใหญ่ ปลาช่อนทะเล ปลาผีเสื้อเทวรูป และปลาจะละเม็ดเทา"  หากเขียนข่าวเช่นนี้ ใครจะเป็นผู้ลงไปพิสูจน์ทราบว่าเป็นเช่นนั้นจริง มีภาพประกอบปลาเหล่านี้ให้เห็นจริง (ไม่ได้เอาภาพจากที่อื่นมา Insert แทน) 

นอกจากนั้น อาจจะต้องมีภาพให้เห็นว่า รถถังและตู้รถไฟที่ทิ้งลงไป มีการวางตัวกันอย่างไรที่ใต้พื้นทะเล  ไปขัดขวางการไหลของกระแสน้ำหรือไม่ อีกทั้งจะมีผลกระทบกับระบบนิเวศน์อื่นๆ ใต้ทะเลหรือไม่  เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นภาพจริง ไม่ได้เห็นภาพแค่การจัดงานพิธี ภาพแค่รถถัง และตู้รถไฟจมหายไปในทะเลเท่านั้น

ข่าวใต้ทะเลจะกลับมา
ขณะนี้ ผมรู้สึกภูมิใจ ที่สามารถติดอาวุธให้ผู้สื่อข่าวได้ ติดอาวุธในที่นี่หมายถึง การดำน้ำเป็น การถ่ายภาพวิดีโอใต้น้ำได้  ซึ่งสามารถแก้ปัญหาปัจจัยเริ่มแรกตามที่กล่าวมาได้ 

ส่วนเรื่องกล้องถ่ายวิดีโอใต้น้ำ เดี๋ยวนี้ก็มีราคาไม่แพงเท่าใดนัก ทางสถานีโทรทัศน์ฯ น่าจะลงทุนได้ เอาขนาดราคาปานกลางก็พอ เพราะการถ่ายภาพข่าว ไม่จำเป็นต้องใช้กล้องในระดับมืออาชีพ ที่ใช้ถ่ายโฆษณาหรือถ่ายสารคดีใต้น้ำ  และผมก็เชื่อว่าเทคโนโยโลยีการปรับปรุงคุณภาพของภาพ เดี๋ยวนี้มีโปรแกรมดีดีที่ช่วยได้หลายโปรแกรม  หรือหากทางสถานีต้องการได้ภาพดีดี ก็สามารถหาเช่ากล้องถ่ายใต้น้ำระดับมืออาชีพไปใช้ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อเป็นของตนเอง  

ชุดดำน้ำ ถังอากาศ ผู้สื่อข่าวก็สามารถเช่าได้ทั่วไป  ราคาวันละ 400-500 บาท(ครบชุด)  ถังอากาศใบละ 100-200 บาทต่อใบ (แล้วแต่สถานที่)  ซึ่งผมคิดว่าไม่แพงเกินไป ทางสถานีฯ ไม่จำเป็นต้องจัดซื้อมาไว้เป็นอุปกรณ์ประจำให้ผู้สื่อข่าว เมื่อจะใช้ก็ค่อยจ่ายค่าเช่าไป


สำหรับการมองประเด็นข่าวของกองบรรณาธิการ เรื่องนี้ต้องเป็นวิจารณญาณของสถานีโทรทัศน์แต่ละช่องเอง ผมคงไม่กล้าที่จะแนะนำ เพราะผมเป็นเพียงแค่คนชมข่าวเท่านั้น


แต่อย่างไรก็ตาม ผมขอแนะนำผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่ดำน้ำเป็นแล้ว  ควรจะต้องปฏิบัติในเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง  คือ
  1. หมั่นหาประสบการณ์และพัฒนาทักษะในการดำน้ำ และการถ่ายภาพใต้น้ำอยู่เสมอ
  2. ควรเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น คือ Advanced Open Water Diver  เพราะจะสามารถดำน้ำในที่ลึกได้ สามารถใช้เข็มทิศในการเดินทางใต้น้ำได้  สามารถที่จะดำน้ำในเวลากลางคืนได้ ฯลฯ
  3. ควรเรียนคอร์สพิเศษเกี่ยวกับการถ่ายวิดีโอใต้น้ำเพิ่มเติม    
โลกใต้ทะเลของไทย มีเรื่องราวที่เป็นปัญหา รอให้ผู้สื่อข่าวตีแผ่ความจริงออกมาอีกเป็นจำนวนมาก   วันนี้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ กองทัพบกได้เล็งเห็นความสำคัญของการสอนให้ผู้สื่อข่าวดำน้ำเป็น ถึงแม้ กองทัพบกมุ่งหวังเพียงต้องการให้นักข่าวไปทำข่าว การทิ้งรถถังของกองทัพบกเพื่อจัดสร้างปะการังเทียมเท่านั้น  แต่การกระทำครั้งนี้  ถือว่าเป็นคุณูปการอย่างยิ่งต่อวงการข่าวของประเทศไทย  ที่ความจริงของโลกใต้ทะเล จะถูกเปิดเผยและตีแผ่ต่อสายตาประชาชน ทางสถานีโทรทัศน์ฯ ช่องต่างๆ ด้วยฝีมือของผู้สื่อข่าวเหล่านี้ ในโอกาสต่อไป  

เขียนโดย สุชาต จันทรวงศ์

ข้อมูลเพิ่มเติม
Read more >>

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส ปี 2553

๒๕๔๔ ราษฎรบ้านละเวง อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานความช่วยเหลือจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้ทรงพิจารณาช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ เนื่องจากปัจจุบันได้ลดลงเป็นอันมาก ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานคำแนะนำให้จัดประชุมหารือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องทางด้านต่างๆ และได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้จัดตั้งโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน และในโครงการดังกล่าวมีกิจกรรมการฟื้นฟูระบบนิเวศสัตว์น้ำ โดยการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (ปะการังเทียม) ซึ่งใช้วัสดุจำพวกคอนกรีต ท่อระบายน้ำ ซากเรือ หรือ วัสดุขนาดใหญ่ที่ไม่ใช้งานแล้ว

การจัดสร้างปะการังเทียมดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีแหล่งทำการประมงสำหรับชาวประมงขนาดเล็กเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังช่วยป้องกันแหล่งทำการประมงใกล้ฝั่งจากเครื่องมือทำการประมงที่มีอัตราการทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อนสูง เช่น อวนลาก อวนรุน เป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งและให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นแหล่งสำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล เช่น กีฬาตกปลา และดำน้ำ

การจัดสร้างปะการังเทียมในโครงการฯ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง กองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร กรมเจ้าท่า และกรมประมง มีการจัดวางตู้รถไฟเก่า ๖๐๘ ตู้ ท่อคอนกรีตระบายน้ำ ๗๐๗ ท่อ รถยนต์เก็บขยะมูลฝอย ๓๘๙ คัน และแท่งคอนกรีต ๒๗,๗๖๓ แท่ง ซึ่งกระจายอยู่ตามชายฝั่งจังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส รวม ๗๒ แห่งโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สำนักงาน กปร. จำนวน ๓๓,๒๔๔,๕๐๐ ล้านบาท และกรมประมง ๑๒๕ ล้านบาท

จากการติดตามผลการจัดสร้างปะการังเทียมในภาพรวมพบว่าให้ผลดีในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้อุดมสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ชาวประมง และช่วยในการบริหารจัดการการทำการประมงโดยช่วยป้องกันเรืออวนลาก อวนรุน ไม่ให้เข้ามาทำการประมงใกล้ฝั่ง รวมทั้งเป็นแหล่งประมงใกล้ฝั่ง เหมาะสำหรับชาวประมงพื้นบ้านที่ไม่ต้องออกไปทำการประมงไกลฝั่ง ช่วยให้ประหยัดค่าน้ำมันลงได้ถึง 10-20 เปอร์เซ็นต์ และมีรายได้เพิ่มขึ้น 20-30 เปอร์เซ็นต์ ชาวประมงชายฝั่งขนาดเล็กมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินในการประกอบอาชีพ อีกทั้งเป็นแนวป้องกันการทำลายสัตว์น้ำขนาดเล็กและสภาพแวดล้อมจากการทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนลากและอวนรุน ซึ่งสามารถลดข้อขัดแย้งระหว่างชาวประมงในเรื่องแย่งชิงทรัพยากรและที่ทำกิน อันเป็นสาเหตุมาจากแหล่งทำการประมงมีจำกัด รวมทั้งเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลรวมทั้งกีฬาที่เกี่ยวข้อง เช่น แหล่งตกปลาและดำน้ำ นอกจากนี้ยังพบสัตว์น้ำบางชนิดที่หายไปในช่วงเวลาหนึ่งกลับมาให้เห็นในพื้นที่ เช่น ปลาหมอทะเลขนาดใหญ่ ปลาช่อนทะเล ปลาผีเสื้อเทวรูป และปลาจะละเม็ดเทา

และเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ในโอกาสที่คณะบุคคลต่างๆ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำรัส ใจความว่า ให้ร่วมมือกันจัดสร้างปะการังเทียมเพิ่มเติม ทำให้หลายหน่วยงานร่วมแรงร่วมใจในการที่จะจัดสร้างปะการังเทียมในพื้นที่ของโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส เช่น กระทรวงคมนาคมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทยสนับสนุนตู้รถสินค้า จำนวน ๒๗๓ ตู้ กรุงเทพมหานครสนับสนุนรถยนต์เก็บขยะมูลฝอย จำนวน ๑๙๘ คัน กองทัพบกสนับสนุนรถถัง รุ่น ที ๖๙ จำนวน ๒๕ คัน และกองทัพไทยสนับสนุนรถยนต์ ๓ คัน โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน ซึ่งมอบหมายให้กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานงานหน่วยงานต่างๆ กำหนดจุดพิกัดที่จัดวางปะการังเทียมร่วมกับชาวประมงท้องถิ่น และควบคุมการจัดวางวัสดุให้ถูกต้องตามที่ชาวประมงต้องการ นอกจากนั้นยังมีหลายหน่วยงานที่ร่วมให้การสนับสนุนพร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน เช่น กรมเจ้าท่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย กองทัพเรือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมศุลกากร


พื้นที่จัดสร้างปะการังเทียม พ.ศ. ๒๕๕๓




  1. BK ๑๐ พื้นที่ ต.บ้านน้ำบ่อ อ.ปะนาเระ ปัตตานี ชนิดวัสดุ รถเก็บขยะมูลฝอย ๑๐ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๑ ม. ระยะห่างฝั่ง ๒.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖ - ๔๘.๓๖๒ ลองติจูด (E) ๑๐๑-๓๖.๑๒๔
  2. BK ๑๑ พื้นที่ ต.บ้านน้ำบ่อ อ.ปะนาเระ ปัตตานี ชนิดวัสดุ รถเก็บขยะมูลฝอย ๑๐ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๒ ม. ระยะห่างฝั่ง ๒.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๔๗.๘๔๕ ลองติจูด (E) ๑๐๑-๓๖.๔๒๕
  3. BK ๑๒ พื้นที่ ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี ปัตตานี ชนิดวัสดุ รถเก็บขยะมูลฝอย ๔๐ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๕ ม. ระยะห่างฝั่ง ๕.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๔๕.๒๕๔ ลองติจูด (E)๑๐๑-๓๙.๑๗๕
  4. BK ๑๓ พื้นที่ ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี ปัตตานี ชนิดวัสดุ รถเก็บขยะมูลฝอย ๔๐ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๗ ม. ระยะห่างฝั่ง ๕.๕ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๔๕.๔๑๑ ลองติจูด (E)๑๐๑-๓๙.๙๖๘
  5. BK ๑๔ พื้นที่ ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น ปัตตานี ชนิดวัสดุ รถเก็บขยะมูลฝอย ๑๐ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๑ ม. ระยะห่างฝั่ง ๓.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๓๕.๖๒๘ ลองติจูด (E)๑๐๑-๔๔.๗๖๐
  6. BK ๑๕ พื้นที่ ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น ปัตตานี ชนิดวัสดุ รถเก็บขยะมูลฝอย ๒๕ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๕ ม. ระยะห่างฝั่ง ๕.๐ กม.ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๓๖.๒๐๕ ลองติจูด (E)๑๐๑-๔๕.๗๖๒
  7. BK ๑๖ พื้นที่ ต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ นราธิวาส ชนิดวัสดุ รถเก็บขยะมูลฝอย ๕๐ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๒๐ ม. ระยะห่างฝั่ง ๑๒.๐ กม.ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๒๑.๓๔๘ ลองติจูด (E)๑๐๒-๐๖.๔๕๒
  8. SRT ๕๓-๑ พื้นที่ ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี ปัตตานี ชนิดวัสดุ ตู้รถไฟ ๕๐ ตู้ พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๒๐ ม. ระยะห่างฝั่ง ๘.๕ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๔๒.๓๒๓ ลองติจูด (E)๑๐๑-๔๔.๑๓๓
  9. SRT ๕๓-๒ พื้นที่ ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น ปัตตานี ชนิดวัสดุ ตู้รถไฟ ๑๐ ตู้ พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๑ ม. ระยะห่างฝั่ง ๒.๓ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๓๙.๕๕๘ ลองติจูด (E)๑๐๑-๔๑.๙๑๐
  10. SRT ๕๓-๓ พื้นที่ ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น ปัตตานี ชนิดวัสดุ ตู้รถไฟ ๑๕ ตู้ พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๒ ม. ระยะห่างฝั่ง ๓.๒ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๓๙.๘๑๔ ลองติจูด (E)๑๐๑-๔๒.๒๗๘
  11. SRT ๕๓-๔ พื้นที่ ต.บางนาค อ.เมือง นราธิวาส ชนิดวัสดุ ตู้รถไฟ ๕๐ ตู้ รถเก็บขยะมูลฝอย ๒๓ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๒๒ ม. ระยะห่างฝั่ง ๑๑.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๓๒.๕๙๕ ลองติจูด (E)๑๐๑-๕๒.๕๕๗
  12. SRT ๕๓-๕ พื้นที่ ต.ไพรวัน อ.ตากใบ นราธิวาส ชนิดวัสดุ ตู้รถไฟ ๔๐ ตู้ พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๘ ม. ระยะห่างฝั่ง ๗.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๒๔.๔๐๔ ลองติจูด (E)๑๐๑-๕๘.๓๖๖
  13. SRT ๕๓-๖ พื้นที่ ต.ไพรวัน อ.ตากใบ นราธิวาส ชนิดวัสดุ ตู้รถไฟ ๕๐ ตู้  พื้นทะเล ทรายปนโคลน  ความลึกน้ำ ๑๙ ม. ระยะห่างฝั่ง ๙.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๒๕.๒๙๐ ลองติจูด (E)๑๐๑-๕๙.๑๐๐
  14. SRT๕๓-๗ พื้นที่ ต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ นราธิวาส ชนิดวัสดุ ตู้รถไฟ ๕๐ ตู้ พื้นทะเล ทรายปนโคลน  ความลึกน้ำ ๒๐ ม. ระยะห่างฝั่ง ๑๑.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๒๒.๐๗๕ ลองติจูด (E)๑๐๒-๐๖.๒๐๐
  15. RTA ๕๓ พื้นที่ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง นราธิวาส  ชนิดวัสดุ รถถัง ๒๕ คัน รถของกองทัพไทย ๓ คัน พื้นทะเล ทราย ความลึกน้ำ ๒๑ ม. ระยะห่างฝั่ง ๙.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๒๙.๐๗๕ ลองติจูด (E)๑๐๑-๕๕.๗๕๕
ที่มา :
กรมประมง. (2553). โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. เอกสารประชาสัมพันธ์โครงการ.
Read more >>

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล จังหวัดปัตตานี

เมื่อวานนี้ (28 มิ.ย.2553) ผมได้ไปประชุมที่กองทัพบก มาเกี่ยวกับภารกิจการสอนดำน้ำ ให้ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ เพื่อเตรียมลงไปทำข่าวใต้น้ำเกี่ยวกับการจัดทำปะการังเทียม ที่ จ.ปัตตานี ตามพระราชดำริ ซึ่งปีนี้มีหลายหน่วยงานที่หันมาช่วยกัน  โดยเฉพาะกองทัพบกจะนำรถถัง T69-2 จากโคราช ที่ปลดระวางแล้วไปทิ้งเพื่อทำแนวปะการังเทียมถึง 25 คัน ผมเลยต้องมาค้นหาเรื่องราวเกี่ยวกับปะการังเทียมที่ปัตตานี นี้ก่อน เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นต่อไป 



พระราชดำริ
เมื่อปี พ.ศ.2544 ราษฎรบ้านละเวง อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานความช่วยเหลือจากสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ให้ทรงพิจารณาช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ เนื่องจากปัจจุบันได้มีปริมาณลดลงเป็นจำนวนมาก

ต่อมาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน 2544 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริกับนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ สรุปได้ว่า ให้จัดหาพื้นที่ในการจัดตั้งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งและการอนุบาลสัตว์น้ำเพื่อปล่อยลงสู่ทะเลในบริเวณจังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะในเขตบริเวณที่ทำการประมงชายฝั่งของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่มีปัญหา พร้อมทั้งจัดทำปะการังเทียมให้เกิดเป็นแหล่งชุมนุมและที่อยู่อาศัยของปลา รวมทั้งการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ชายฝั่งโดยการปลูกป่าชายเลน ป่าชุ่มน้ำและหญ้าทะเล


ที่ตั้งโครงการ : บ้านละเวง ตำบลดอนทราย อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี

ระยะเวลาที่ดำเนินการ : ตั้งแต่ปี 2545 - 2549

หน่วยงานที่รับผิดชอบ : สำนักงาน กปร. ร่วมกับกรมประมง การรถไฟแห่งประเทศไทย กองทัพเรือ และหน่วยงานอื่น ๆ

วัตถุประสงค์
  1. เพื่อจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล
  2. เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำที่เหมาะสมปล่อยลงสู่ทะเลและแหล่งน้ำภายในเพื่อให้แพร่ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ
  3. เพื่อเผยแพร่ความรู้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการทำประมงในเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมถึงการแปรรูปสัตว์น้ำให้แก่ชาวประมงและผู้สนใจในพื้นที่


ผลการดำเนินการ
  • การดำเนินงานในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงาน กปร. ร่วมกับกรมประมง การรถไฟแห่งประเทศไทย กองทัพเรือ และหน่วยงานอื่น ๆ ได้ร่วมกันดำเนินงานไปแล้ว ได้แก่ จัดวางตู้รถไฟเพื่อจัดสร้างแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล จำนวน 610 ตู้ ในทะเลในเขตจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การปลูกป่าชายเลน ในเขตจังหวัดปัตตานี 400 ไร่ จังหวัดนราธิวาส 100 ไร่ การผลิตพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อปล่อยลงสู่ทะเล โดยศูนย์พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งนราธิวาส 55 ล้านตัว และศูนย์พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งปัตตานี 42 ล้าน และการฝึกอาชีพให้แก่ราษฎร ในด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ การจัดทำปะการังเทียมขนาดเล็กในพื้นที่เป็นต้น
  • นอกจากนี้ จะดำเนินการจัดสร้างอาคารเอนกประสงค์บริเวณบ้านละเวง เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ให้แก่ราษฎรบริเวณใกล้เคียงและผู้ที่สนใจในการทำประมง รวมทั้งการแปรรูปสัตว์น้ำ โดยสำนักงาน กปร. ได้สนับสนุนโครงการฯ ในการจัดซื้อที่ดินจากราษฎร จำนวน 28 – 0 – 27 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ดินกรมธนารักษ์ โดยกรมประมง เป็นผู้ใช้ประโยชน์ แต่เนื่องจากแบบแปลนอาคารยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ประกอบกับปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้ สำนักงาน กปร. จึงได้สนับสนุนงบประมาณในปี 2548 จำนวน 467,700 บาท ให้แก่ กรมประมง เพื่อดำเนินการก่อสร้างรั้วล้อมบริเวณที่จะก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ โดยจะก่อสร้างรั้วคอนกรีตบริเวณด้านหน้าของพื้นที่ความยาว 487 เมตร และก่อสร้างรั้วลวดหนามความยาว 801 เมตร กั้นบริเวณด้านข้างและด้านหลังของพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวเขตบริเวณอาคารเอนกประสงค์ ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์แล้วเสร็จ จะเป็นประโยชน์ต่อราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งผู้สนใจได้เข้าไปศึกษาหาความรู้จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่กรมประมงได้จัดไว้ เช่น การอบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ วิธีการจับปลาอย่างถูกวิธี เป็นต้น 
  • ในเรื่องของวิชาการ สำนักงาน กปร. ได้ขอให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ดำเนินการประเมินผลโครงการดังกล่าวในด้านต่าง ๆ เช่น สมุทรศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา รวมทั้ง เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการศึกษาไปแล้วส่วนหนึ่ง และจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการในช่วงต้นปี 2549 ผลการศึกษาในเบื้องต้นพบว่า มีสัตว์ทะเลรวมถึงแพลงก์ตอนและอาหารสัตว์ประเภทต่าง ๆ มาอาศัยอยู่ในบริเวณกองปะการังเทียมทั้งตู้รถไฟ บล๊อคคอนกรีตและท่อคอนกรีต แต่บริเวณกองตู้รถไฟมีสัตว์ทะเลมาอาศัยอยู่หนาแน่นกว่า เนื่องจาก มีที่สำหรับหลบภัยมากกว่า และปัจจุบันชาวบ้านได้ไปตกปลาในบริเวณกองปะการัง ทำให้มีรายได้จากการประมงเพิ่มขึ้น
  • ปี 2549 กรุงเทพมหานครได้น้อมเกล้าฯ ถวายรถยนต์เก่าเพื่อนำไปจัดทำเป็นแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล จำนวน 189 คัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ
ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น
ราษฎรในเขตการทำประมงทะเลชายฝั่งพื้นบ้านในเขตจังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส รวมทั้งสิ้น 8 อำเภอ 72 หมู่บ้าน ราษฎร 19,424 ครัวเรือน 109,416 คน จะมีรายได้จากการจับสัตว์น้ำทะเลเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีสัตว์น้ำทะเลจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้มีความสุขสบายยิ่งขึ้น รวมทั้งราษฎรจะมีสถานที่สำหรับฝึกอบรมเกี่ยวกับอาชีพประมง


อ่านเพิ่มเติม พระราชดำรัสเกี่ยวกับ "ปะการังเทียม"

ที่มา :
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553).โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล จังหวัดปัตตานี. [Online]. Available :http://www.rdpb.go.th/RDPB/Front/Projects/ImportantDetail.aspx?projectid=47. [2553.มิถุนายน 29].
Read more >>

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

"ไอ้เท่ง" ติดท็อป 10 สุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่ของโลก แห่งปี 2009

เรื่อง"ไอ้เท่ง" ติดท็อป 10 สุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่ของโลก แห่งปี 2009 นี้ ผมได้อ่านเจอใน ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ซึ่งเขียนไว้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 คิดว่าเป็ความรู้ที่มีประโยชน์โดยเฉพาะ "ไอ้เท่ง" ซึ่งพบอยู่ในบริเวณป่าชายเลน ที่อ่าวปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช บ้านเรานี้เอง นอกจากนั้นนักดำน้ำอย่างพวกเราก็ยังเคยปลาบางชนิดที่ระบุไว้ เช่น ปลากบไซเซเดลิกา (Psychedelic frogfish) เป็นต้น เลยขอนุญาตคัดลอกนำมาเก็บไว้ในบล็อกนี้ เพื่อจะได้ช่วยเผยแพร่โดยตรงไปอีกทางหนึ่ง

สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น 10 สุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่แห่งปี 2009 (ภาพจาก IISE)

นานาชาติยก "ไอ้เท่ง" ทากทะเลชนิดใหม่ของโลก ที่พบในไทยให้ติด 1 ใน 10 สุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่แห่งปี 2009 พร้อมกับหม้อข้าวหม้อแกงลิงยักษ์ในฟิลิปปินส์ แมงมุมสีทองจากมาดากัสการ์ จากหลายพันสปีชีส์ที่มีรายงานการค้นพบในปีเดียวกัน

สถาบันนานาชาติเพื่อการสำรวจสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ หรือไอไอเอสอี (International Institute for Species Exploration: IISE) มหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต (Arizona State University) สหรัฐอเมริกา และคณะกรรมการนักอนุกรมวิธานนานาชาติ ไดัคัดเลือกสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่จากทั่วโลกกว่าหลายพันสปีชีส์ให้เหลือเพียง 10 สปีชีส์ เพื่อขึ้นบัญชีสุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่แห่งปี 2009 ซึ่งได้มีการประกาศผลการคัดเลือกไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพพอดี และมีสปีชีส์ใหม่ที่พบในไทยได้ติดอันดับโลกด้วย

"คณะกรรมการตัดสินแต่ละคนมีอิสระในการคัดเลือกและกำหนดเกณฑ์การตัดสินของตัวเองจากคุณลักษณะที่แปลกใหม่หรือความจริงที่น่าประหลาดใจ รวมไปถึงชื่ออันแปลกประหลาดของสปีชีส์นั้นๆ" เควนติน วีลเลอร์ (Quentin Wheeler) ผู้อำนวยการสถาบันไอไอเอสอี และนักกีฏวิทยาจากสถาบันชีววิทยาศาสตร์ (School of Life Sciences) เผยไว้ในไลฟ์ไซน์ด็อตคอม

ทั้งนี้ การจัดอันดับ 10 สุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่แห่งปี 2009 ในปีนี้นับเป็นปีที่ 3 แล้ว ซึ่งในจำนวนนั้นมี "ทากทะเล" ชนิดใหม่ของโลก ที่ค้นพบในประเทศไทยรวมอยู่ด้วย โดยสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ทั้ง 10 สปีชีส์ มีดังนี้ (ไม่เรียงอันดับ)

แมงมุมสีทองสปีชีส์ใหม่ที่พบบนเกาะมาดาร์กัสการ์ เป็นแมงมุมสีทองที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และสามารถถักทอใยแมงมุมได้ใหญ่กว่า 1 เมตร (ภาพจาก IISE)

1. แมงมุมสีทองของโคแมค (Komac's golden orb spider) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เนฟิลา โคมาชิ (Nephila komaci) เป็นสปีชีส์แรกในสกุลเนฟิลาที่ถูกกล่าวขานถึงมาตั้งแต่เมื่อปี 1879 แต่เพิ่งจำแนกได้ว่าเป็นแมงมุมสปีชีส์ใหม่ตามหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์และได้รับการตีพิมพ์รายงานการค้นพบเมื่อปี 2009 โดย เอ็ม คุนต์เนอร์ (M. Kuntner) นักวิจัยของสถาบันชีววิทยาแห่งวิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์สโลวีเนียน (Institute of Biology of the Slovenian Academy of Sciences and Arts) และ โจนาธาน คอดดิงตัน (Jonathan Coddington) นักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาสมิธโซเนียน (Smithsonian's National Museum of Natural History)

แมงมุมชนิดนี้สามารถถักทอใยแมงมุมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ใหญ่กว่า 1 เมตร โดยที่แมงมุมตัวเมียที่สร้างใยขึ้นมานั้นเมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดยาวประมาณ 3.8-4.0 เซนติเมตรเท่านั้น ขณะที่แมงมุมตัวผู้มีขนาดเพียง 0.8-09 เซนติเมตร หรือเล็กกว่าราว 5 เท่า มีถิ่นอาศัยอยู่ในมาดากัสการ์ ซึ่งคุนต์เนอร์ตั้งชื่อสปีชีส์ให้ว่า โคมาชิ เพื่อรำลึกถึงแอนเดรจ โคแมค (Andrej Komac) นักวิทยาศาสตร์ผู้ที่เป็นเพื่อนรักที่สุดของเขาที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในระหว่างที่พวกเขากำลังศึกษาวิจัยแมงมุมชนิดนี้

ปลาแดร็กคูลา ตัวเล็กจิ๋ว แต่มีเขี้ยวยาวคล้ายค้างคาวดูดเลือดในตำนาน (ภาพจาก IISE)

2. ปลาแดร็กคูลา (Dracula fish) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แดนิโอเนลลา แดร็กคูลา (Danionella dracula) เป็นปลาน้ำจืดที่พบในแม่น้ำ Sha Du Zup รัฐคะฉิ่น สหภาพพม่า ตัวผู้มีเขี้ยวยาวแหลมคมคล้ายสุนัขหรือค้างคาวดูดเลือดในตำนาน และนี่ยังเป็นการรายงานการค้นพบอวัยวะที่มีลักษณะคล้ายฟัน (oral teeth-like structures) ของสัตว์ในวงศ์ไซพรินิเด (Cyprinidae) หรือวงศ์ปลาตะเพียน ซึ่งเป็นวงศ์ของปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ฟองน้ำเพชฌฆาต ฟองน้ำสปีชีส์ใหม่ที่มีโครงสร้างแตกต่างจากฟองน้ำชนิดอื่นๆ (ภาพจาก IISE)

3. ฟองน้ำเพชฌฆาต (killer sponge) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า คอนโดรคลาเดีย (เมลิเดอร์มา) เทอร์บิฟอร์มิส [Chondrocladia (Meliiderma) turbiformis] อยู่ในวงศ์คลาโดไรซิเด (Cladorhizidae) เป็นวงศ์ฟองน้ำในทะเลลึกที่กินสัตว์เป็นอาหาร มีความหลากหลายสูง พบในทะเลเปิดทั่วไป โดยเฉพาะในมหาสมุทรแปซิฟิก พบครั้งแรกในประเทศนิวซีแลนด์ มีลักษณะพิเศษคือโครงสร้างส่วนของสปิคูลไม่เหมือนฟองน้ำชนิดอื่น (เป็นแบบ trochirhabd spicule)

"ไอ้เท่ง" ทากทะเลสปีชีส์ใหม่ของโลกพบที่ป่าชายเลนในปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช มีตัวสีดำและหน้าตาละม้ายคล้ายกับ "ไอ้เท่ง" ตัวละครในหนังตะลุงของปักษ์ใต้บ้านเรา (ภาพจาก IISE)

4. ไอ้เท่ง (Aiteng) เป็นทากทะเลสปีชีส์ใหม่และวงศ์ใหม่ของโลกด้วย โดยจัดอยู่ในวงศ์ไอเทงกิเด (Aitengidae) ถูกค้นพบเมื่อปี 2009 บริเวณร่องน้ำในป่าชายเลนที่อ่าวปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่นำโดย ดร. ซี สเวนเนน (Dr. C.Swennen) นักวิจัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์ และนายสมศักดิ์ บัวทิพย์ นักวิทยาศาสตร์ จากแผนกชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ไอ้เท่งมีขนาดประมาณ 6-17 มิลลิเมตร ลำตัวมีสีดำ กินแมลงในระยะดักแด้เป็นอาหาร ซึ่งแตกต่างจากทากทะเลวงศ์อื่นๆ ที่มักกินสาหร่ายเป็นอาหาร สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ คล้ายกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั่วๆไป ซึ่งความพิเศษนี้พบได้น้อยมากในทากทะเลที่มีการค้นพบหรือมีการศึกษาอยู่แล้วในปัจจุบัน และทีมวิจัยได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้ว่า ไอเทง เอเตอร์ (Aiteng ater) ซึ่งชื่อสกุล Aiteng ตั้งตามจากชื่อตัวหนังตะลุงของปักษ์ใต้ที่ชื่อ "ไอ้เท่ง" ที่มีลักษณะตัวสีดำและมีตาคล้ายกับสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ ส่วนชื่อสปีชีส์ ater มาจากภาษาลาติน หมายถึง สีดำ (ข้อมูลจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)

ตัวระเบิดเขียว หนอนทะเลชนิดใหม่ สร้างระเบิดเรืองแสงสีเขียวได้ไว้ป้องกันตัวเอง (ภาพจาก IISE)

5. ระเบิดเขียว (Green bombers) พบที่อ่าวมอนเตอเรย์ (Monterey Bay) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า สวิมา บอมบิวิริดิส (Swima bombiviridis) เป็นหนอนทะเลชนิดหนึ่งที่สามารถทิ้งระเบิดเรืองแสงสีเขียวที่ดัดแปลงมาจากอวัยวะส่วนเหงือกเพื่อป้องกันตัวเองจากศัตรูคู่อาฆาต

ปลากบไซเดลิกา ปลากบสปีชีส์ใหม่ หน้าแบนราบ มีสีสันลวดลายชวนเวียนหัว (ภาพจาก IISE)

6. ปลากบไซเซเดลิกา (Psychedelic frogfish) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ฮิสทิโอฟไรน์ ไซเซเดลิกา (Histiophryne psychedelica) ซึ่งเป็นปลากบที่มีรูปลักษณ์อันน่าพิศวงงงงวยที่ดูแล้วชวนประสาทหลอน และมีใบหน้าแบนราบแตกต่างจากปลากบชนิดอื่นๆ พบครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซีย

ปลาไฟฟ้าที่นักวิทยาศาสตร์ใช้เป็นต้นแบบศึกษาการสร้างกระแสไฟฟ้าในร่างกายของสิ่งมีชีวิต (ภาพจาก IISE)

7. ปลาไฟฟ้า (Electric fish หรือ Omars' banded knifefish) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า จิมโนตัส โอมาโรรัม (Gymnotus omarorum) พบในประเทศอุรุกวัยซึ่งตั้งชื่อตามของ โอมาร์ มาคาดาร์ (Omar Macadar) และโอมาร์ ทรูจิลโล-เคนอซ (Omar Trujillo-Cenoz) สองนักวิทยาศาสตร์ผู้ริเริ่มศึกษาการสร้างกระแสไฟฟ้าของปลาในสกุลจิมโนตัส ซึ่งปลาสปีชีส์นี้ถูกใช้เป็นต้นแบบในการศึกษาเกี่ยวกับสรีรวิทยาและการสื่อสารด้วยกระแสไฟฟ้ามาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยก่อนหน้านั้นนักวิทยาศาสตร์ในอุรุกวัยเคยอ้างผิดว่าเป็นปลาสปีชีส์ จิมโนตัส คาราโป (Gymnotus carapo)

หม้อข้าวหม้อแกงลิงของแอทเทนเบอเรอห์ เป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่ใหญ่ที่สุดและใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (ภาพจาก IISE)
8. หม้อข้าวหม้อแกงลิงของแอทเทนเบอเรอห์ (Attenborough's Pitcher) ซึ่งเป็นพืชกินแมลงในกลุ่มหม้อข้าวหม้อแกงลิงสปีชีส์ใหม่ และที่มีขนาดใหญ่ที่สุดประมาณ 30x16 เซนติเมตร หรือประมาณลูกอเมริกันฟุตบอล พบบนยอดเขาวิคตอเรีย (Mount Victoria) บนเกาะพาลาวัน ประเทศฟิลิปปินส์ ได้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เนเพนธีส แอทเทนเบอเรอห์อี (Nepenthes attenboroughii) ตั้งตามชื่อของเซอร์เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ (Sir David Attenborough) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษและผู้นำเสนอข่าวสารความรู้ด้านธรรมชาติวิทยาผ่านสื่อโทรทัศน์ของอังกฤษมาเป็นเวลาหลายสิบปี และเป็นพืชถิ่นเดียวที่คณะกรรมการมีความเห็นว่าพืชสปีชีส์ใหม่ชนิดนี้ควรได้รับการขึ้นบัญชีเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งด้วย

หัวมันแองโกนา พบบนเกาะมาดากัสการ์ มีลักษณะแปลกประหลาดเป็นพวงคล้ายนิ้วมือ จัดเป็นพืชอีกชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (ภาพจาก IISE)
9. หัวมันประหลาดแองโกนา (Angona) พบบนเกาะมาดากัสการ์ เป็นหัวมันที่กินได้ มีลักษณะเป็นพวงคล้ายนิ้วมือ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ไดออสโคเรีย ออเรนจีอานา (Dioscorea orangeana) และจัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง เพราะถูกประชาชนเก็บเกี่ยวไปเป็นอาหารจำนวนมากโดยที่ไม่ได้มีการอนุรักษ์ถิ่นกำเนิดเอาไว้

เห็ดฟัลลิก ลักษณะละม้ายคล้ายกับอวัยวะเพศชาย (ภาพจาก IISE)
10. เห็ดฟัลลิก (Phallic mushroom) เป็นเห็ดสปีชีส์ใหม่ที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายอวัยวะเพศชาย มีขนาดยาวประมาณ 5 เซนติเมตร พบบนเกาะเซาตูเม (São Tome) ในแอฟริกา ได้รับการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ฟัลลัส ดรูเวสซี (Phallus drewesii) เพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.โรเบิร์ต ดรูเวส (Dr. Robert Drewes) นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย (California Academy of Sciences) ผู้อุทิศตนให้กับการศึกษาความความหลากหลายทางชีวภาพในแอฟริกาเป็นเวลามากกว่า 30 ปี

ที่มาข้อมูล : ASTV ผู้จัดการออนไลน์.(2553). Science & Technology. [Online]. Available :http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000071651. [2553.พฤษภาคม 27].
Read more >>

วันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ต่อไปอาจจะไม่มีเต่าให้เราดู

ภาพการหาไข่เต่า ที่นำมาลงนี้ มีเพื่อนส่งอีเมล์มาให้ ไม่ทราบว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไหน ใครเป็นเจ้าของภาพ และที่นำมาลงนี้ไม่มีเจตนาจะว่าหรือประจานบุคคลในภาพแต่อย่างใด เพราะเป็นการทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริตของเขา เหตุผลที่นำมาลงก็เพื่อต้องการสื่อถึง การกินของมนุษย์ที่มากเกินไป จนบางครั้งไม่สมดุลย์กับธรรมชาติ "ตราบใดที่มนุษย์ไม่หยุดกิน(ในสิ่งที่ควรกิน) เราก็จะเห็นภาพเช่นนี้อยู่ร่ำไป"
ต่อไปอาจจะไม่มีเต่า ให้นักดำน้ำอย่างพวกเราดูก็ได้










Read more >>

วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประชุมคณะทำงานบูรณะอนุสาวรีย์สึนามิใต้น้ำ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษาภาคม 2553 เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จ.นครปฐม พันเอกสุชาต จันทรวงศ์ ประธานชมรมกีฬาทางน้ำ ศูนย์กีฬากรมการทหารช่าง อดีตหัวหน้าคณะทำงานก่อสร้างอนุสาวรีย์สึนามิใต้น้ำ เกาะพีพี ได้เรียนเชิญ รศ.ดร.ดวงเดือน ไกรลาศ ดร.กัมปนาท ธาราภูมิ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยา อ.วราภรณ์ ภาราดามิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี ผศ.ศรีศักดิ์ พัฒนวศิน ผู้เชียวชาญด้านสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วย นายพิสิฐ กองลำเจียก และ จ.ส.อ.ธีรวัฒน์ ไล้เลิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำ ร่วมประชุมหารือเบื้องต้นเกี่ยวกับ "การปรับปรุง ซ่อมแซม และบูรณะอนุสาวรีย์สึนามิใต้น้ำ" ที่บริเวณ หน้าหาดสามหาด อ่าวต้นไทร เกาะพีพี จ.กระบี่ ซึ่งขณะนี้ชำรุดเสียหาย อยู่ โดยได้รับมอบหมายจาก นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ อดีตหัวหน้าโครงการฯ ให้เสนองบประมาณและแผนงานในการบูรณะปรับปรุง ให้แล้วเสร็จก่อนจะถึงวันครบรอบ 6 ปีเหตุการณ์สึนามิ ใน 26 ธ.ค.2553 นี้ ซึ่งจะได้เปิดตัวไปพร้อมกับการก่อสร้างอนุสรณ์สึนามิ (บนบก) แห่งใหม่ที่จะสร้างขึ้น




คลิบวีดีโอความเป็นมาของอนุสาวรีย์สึนามิใต้น้ำ




คลิบวีดีโอการชำรุดเสียหายของอนุสาวรีย์สึนามิใต้น้ำ

ในที่ประชุมได้เสนอความเห็นกันโดยคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ เช่น ชีวิตสัตว์และพืชใต้น้ำ การทำปฏิกิริยาของน้ำทะเลกับวัสดุต่างๆ ความยากง่ายในการปฏิบัติการใต้น้ำ และการดูแลบำรุงรักษาในอนาคต ฯลฯ สำหรับในการบูรณะซ่อมแซมและปรับปรุงในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ ต้องพยายามออกแบบหาวิธีการนำคำไว้อาลัยของสถานฑูตต่างๆ ทั้ง 11 ชาติ ลงกลับไปไว้ที่อนุสาวรีย์สึนามิใต้น้ำตามเดิม ทดแทนที่เคยจารึกไว้ในแผ่นอะคลีลิคใส ซึ่งได้ชำรุดเสียหายไป

และที่ประชุมได้ขอความกรุณาให้ ผศ.ศรีศักดิ์ พัฒนวศิน ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ช่วยกรุณาออกแบบร่าง เพื่อนำมาพิจารณาในที่ประชุมครั้งต่อไป เพื่อจะได้รีบนำเสนอไปยัง นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ หัวหน้าโครงการฯ กระทรวงคมนาคม ซึ่ง ผศ.ศรีศักดิ์ฯ แจ้งว่าจะพยายามรีบออกแบบร่างให้แล้วเสร็จก่อน 12 มิถุนายน 2553 ที่จะถึงนี้

Read more >>

วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เกิดปะการังฟอกขาวในอันดามัน


1- 10 พค. 2553 13:40 น.
นายนิพนธ์ พงษ์สุวรรณ นักวิชาการประมงชำนาญการ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากการสำรวจแนวปะการังในฝั่งทะเลอันดามัน เมื่อประมาณช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบปรากฎการณ์ฟอกขาวเกิดขึ้นเกือบทุกพื้นที่ ยกเว้น จ.สตูล และ จ.ตรัง ซึ่งในระหว่างการสำรวจ ทั้งนี้ ในส่วนของฝั่งทะเลอันดามันได้เกิดปรากฎการณ์ฟอกขาวในแต่ละจุดประมาณ 90 % และในกรณีที่เกิดการฟอกขาวดังกล่าวจะมีปะการังเสียชีวิตประมาณ 5 % ส่วนที่เหลือหากสภาวะอากาศและอุณหภูมิลดลง หรือมรสุมเข้ามาเร็วก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ แต่หากอุณหภูมิน้ำยังคงเพิ่มสูงต่อเนื่องโอกาสที่ปะการังฟอกขาวตายก็จะมีสูงมากตามไปด้วย
“ ขณะนี้ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต เริ่มที่จะมีกลุ่มเมฆเข้ามาบดบังแสงแดดบ้างแล้ว และสถานการณ์ดังกล่าวทำให้อุณหภูมิน้ำในทะเลลดลงได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อแนวปะการัง ดังนั้นคาดหวังว่าธรรมชาติจะเข้ามาช่วยรักษาแนวปะการังในฝั่งทะเลอันดามันไว้ได้ และสิ่งสำคัญในการช่วยฟื้นฟูแนวปะการังได้อีกทางหนึ่ง คือ คนจะต้องลดการสร้างมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปล่อยน้ำเสีย การนำนักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมแนวปะการังต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้แนวปะการังอ่อนแอลง ”
สำหรับปะการังที่ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จะเป็นกลุ่มปะการังเขากวาง ซึ่งพบมากในอ่าวภูเก็ต และขณะนี้ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวได้ครอบคลุมบริเวณทะเลอันดามันเกือบทั้งหมด จากการสำรวจพบตั้งแต่หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน และบริเวณตามชายฝั่งของหมู่เกาะตราชัย จ.พังงา บริเวณเกาะใกล้ชายฝั่ง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา มีเกาะผ้า แหลมกลางใหญ่ แหลมกลางน้อย ทั้งนี้สาเหตุหลักมาจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น
2-โดย ทีมข่าวการศึกษา 8 พฤษภาคม 2553, 05:00 น.
เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุด ครอบคลุมทะเลอันดามันเกือบทั้งหมด สาเหตุมาจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น...
ดร.นิพนธ์ พงษ์สุวรรณ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุด ครอบคลุมทะเลอันดามันเกือบทั้งหมด ตั้งแต่หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน และบริเวณตามชายฝั่งของหมู่เกาะตราชัย จ.พังงา และบริเวณเกาะใกล้ชายฝั่ง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา มีเกาะผ้า แหลมกลางใหญ่ แหลมกลางน้อยและคาดว่าใน จ.ภูเก็ต ก็เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวเช่นกัน สาเหตุมาจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น อย่างไร ก็ตาม หากช่วงนี้เกิดมรสุม มีฝนตกก็จะช่วยชีวิตปะการังได้ เพราะจะทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลลดลง สำหรับบริเวณทะเลอันดามัน จะมีพื้นที่ปะการัง ประมาณ 80 ตารางกิโลเมตร
ที่มา :
1.เนชั่นทันข่าว. (2553).อันดามันเจอปัญหาปะการังฟอกขาว อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น . [Online]. Available :http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=447201&utm_source=twitterfeed&utm_medium=twitter. [2553.พฤษภาคม 14 ].
2.ไทยรัฐออนไลน์. (2553).เกิดปะการังฟอกขาว.[Online]. Available :http://www.thairath.co.th/content/edu/81628. [2553.พฤษภาคม 14 ].
ภาพ :
http://www.ertc.deqp.go.th/ern/images/stories/coral_bleaching_th.jpg

ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม
-http://www.sarakadee.com/feature/1999/02/coral1.htm
Read more >>

วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

โครงการ รักพ่อหลวง รวมใจภักดิ์ รักธรรมชาติ ชายหาดระยอง สิ่งแวดล้อมเสม็ด


สถานที่ : จังหวัดระยอง บริเวณชายหาดสวนสน บ้านเพ และท่าเรือหน้าด่านเกาะเสม็ด
วันที่/เวลา : วันเสาร์ที 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เวลา 08.00 – 16.00 น.
แผนงาน : รักษาสภาพแวดล้อม ปลูกจิตสำนึก ฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรทางทะเลของประเทศ
หน่วยงานดำเนินงาน

  1. กองทัพเรือโดย กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ
  2. เทศบาลตำบล บ้านเพ
  3. บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (สำนักกรรมการผู้จัดการและคณะกรรมการร่วมปรึกษา)
  4. บริษัท วงษ์พาณิชย์กล๊าสรีไซคลิ่ง จำกัด
  5. บริษัท แบลคมอร์ส
  6. บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด
  7. ศูนย์กีฬากรมการทหารช่าง ค่ายบุรฉัตร

หน่วยงานร่วมดำเนินงาน

  1. ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (จ.ระยอง)
  2. สถานีวิทยุประมงชายฝั่งทะเล จ.ระยอง
  3. อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าเกาะเสม็ด
  4. อาสาสมัครนักดำน้ำจาก ศูนย์กีฬากรมการทหารช่าง ค่ายบุรฉัตร,กองทัพเรือ, องค์กรต่างๆ
  5. คณะครูอาจารย์ และนักเรียนโรงเรียน 9 แห่งที่อยู่ในเขตพื้นที่ฯ
  6. ประชาชนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวชาวไทย และต่างชาติ
  7. ผู้ประกอบการที่พัก พ่อค้า แม่ค้า บริเวณชายหาดสวนสน-บ้านเพ และชมรมด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ
  8. พนักงานบริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด
  9. ผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ

สื่อต่างๆที่ร่วมดำเนินงาน

  1. นิตยสาร EXPLORE
  2. นิตยสาร TOPGUN
  3. นิตยสาร อสท
  4. สถานีวิทยุกองทัพเรือ
  5. สถานีโทรทัศน์เคเบิ้ลท้องถิ่นนครปฐม-ราชบุรี
  6. สื่อสารมวลชนท้องถิ่น ระยอง
  7. ช่อง 11( NBT)
  8. สื่อทาง INTERNET เช่น ENGINEER DIVER, ดำน้ำศึกษา, กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ

หลักการและเหตุผล
แหล่งทรัพยากรทางทะเลและสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลเป็นมรดกอันล้ำค่าทางธรรมชาติ ที่ได้ก่อกำเนิดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของทรัพยากรสิ่งมีชีวิตมากมายบนโลกใบนี้ อีกทั้งความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเล นำมาดำรงชีพและความป็นอยู่ของคนในสังคม วันนี้แหล่งทรัพยากรทางทะเลของไทยและนานาประเทศกำลังประสบกับปัญหามลภาวะทางทะเล การก่อเกิดขยะในทะเลที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว แนวปะการังถูกทำลาย ส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์แปรเปลี่ยน หลายหน่วยงานเร่งรณรงค์แก้ปํญหา การจัดการขยะ และการสร้างจิตสำนึก ต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่ออนุรักษ์และรักษาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล เช่นชายหาดสวนสน บ้านเพ และความงดงามเกาะเสม็ด ให้คงเป็นมรดกทางธรรมชาติของประเทศไทย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภุมิพลอดุลยเดช และเป็นการสนองต่อความตั้งใจที่พระองค์ทรงทุ่มเทการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด
ดังนั้นบริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด ถือได้ว่าเป็นองค์กรหนึ่งที่ต้องมีส่วนร่วมในการรณรงค์ต่อผู้บริโภค ให้เข้าใจและมีจิตสำนึกต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม รณรงค์ต่อกลุ่มเยาวชน นักศึกษา ประชาชน นักท่องเที่ยวชาวไทย ชาวต่างชาติ องค์กรภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชน สร้างจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศให้คงความงดงาม อุดมสมบูรณ์

ผลการสำรวจจากการที่ได้ร่วมกิจกรรมสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่ผ่านมาพบว่ามีปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์เป็นจำนวนมากอยู่ในทะเล เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของบรรจุภัณฑ์แก้วต่อสังคม ในการรณรงค์นำขวดแก้วกลับมารีไซเคิล และลดปริมาณขวดแก้วที่ถูกทิ้งอยู่ในทะเล กลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิล และประชาสัมพันธ์การรณรงค์หมุนเวียนการใช้ขวดแก้วต่อผู้บริโภค สร้างความเข้าใจในการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์แก้วที่สามารถหมุนเวียนการใช้ได้ไม่สิ้นสุด เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของประเทศในการเป็นผู้นำการดำเนินธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว ใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง

วัตถุประสงค์
1.เพื่อฟื้นฟูจิตสำนึก กระตุ้นเตือนสร้างความตระหนักให้กับนักเรียน เยาวชน ประชาชน นักท่องเที่ยว และองค์กรต่างๆ เล็งเห็นความสำคัญของการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2.เพื่อสนับสนุนและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ในจังหวัดระยอง
3.เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบริษัทฯ กับเทศบาล โรงเรียน ผู้ประกอบกิจการ ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ องค์กรภาครัฐ และเอกชน
4.เพื่อพัฒนาชายหาดสวนสน และเกาะเสม็ดให้มีความสะอาด ตลอดจนกระตุ้นเตือนให้นัก ท่องเที่ยว หรือผู้พบเห็น และผู้ร่วมประกอบกิจการ เกิดความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคม ลดพฤติกรรมการทิ้งขยะบริเวณชายหาด และในทะเล
5.รณรงค์ขวดแก้วไม่ใช่ขยะ ประชาสัมพันธ์ต่อ เยาวชน ประชาชนทราบถึง การนำขวดแก้วกลับมา
ใช้ใหม่ได้ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง คุณภาพคงเดิม 100% เป็นบรรจุภัณฑ์ที่รักษาสิ่งแวดล้อมและช่วย ลดปัญหาสภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน

กิจกรรมและเป้าหมายของโครงการ
1.เพื่อปรับปรุงสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยจัดกิจกรรมเดินรณรงค์ และเก็บขยะชายหาด พร้อมทั้งเก็บ ขยะในทะเลเพื่อปลูกจิตสำนึกสร้างความตระหนักต่อเยาวชน ประชาชน นักท่องเที่ยว
2.เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ บริษัทฯ ที่ใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมเผยแพร่โครงการ Glass Recycle รณรงค์หมุนเวียนการใช้ขวดแก้วเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3.เป็นแบบอย่างต่อองค์กรต่างๆ ในการแสดงถึงความห่วงใยต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมสร้างประโยชน์เพื่อส่วนรวมในสังคมทั้งปัจจุบันและอนาคต
4.เพื่อสร้างเครือข่ายการประสานงานด้านความร่วมมือแบบบูรณาการในการรักษาและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1.สร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทย จังหวัดระยอง องค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบกิจการ และประชาชนในพื้นที่ ที่ได้ร่วมมือกันจัดโครงการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแบบอย่างในการพัฒนาโครงการด้านอื่นๆ ต่อไป
2.ส่งเสริมให้เยาวชน ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ช่วยกันรักษาและปรับปรุงสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
3.ประชาสัมพันธ์ให้องค์กรภาคต่างๆ โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา ประชาชนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวรู้จักการทิ้งขยะให้ถูกที่ และรณรงค์การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะขวดแก้วไม่ใช่ขยะ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
4.สร้างความสัมพันธ์ และสามัคคีอันดีระหว่างผู้ร่วมทำกิจกรรม และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในด้านความตระหนัก ต่อนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศ
5.นักเรียน นักศึกษา พ่อค้า ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่มีจิตสำนึก และความตระหนักมากยิ่งขึ้น
6.สร้างศักยภาพให้ทีมงานในการดำเนินกิจกรรมในครั้งต่อๆ ไป

สมัครดำน้ำอาสาสมัครได้ที่นี่

Read more >>