วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล จังหวัดปัตตานี

เมื่อวานนี้ (28 มิ.ย.2553) ผมได้ไปประชุมที่กองทัพบก มาเกี่ยวกับภารกิจการสอนดำน้ำ ให้ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ เพื่อเตรียมลงไปทำข่าวใต้น้ำเกี่ยวกับการจัดทำปะการังเทียม ที่ จ.ปัตตานี ตามพระราชดำริ ซึ่งปีนี้มีหลายหน่วยงานที่หันมาช่วยกัน  โดยเฉพาะกองทัพบกจะนำรถถัง T69-2 จากโคราช ที่ปลดระวางแล้วไปทิ้งเพื่อทำแนวปะการังเทียมถึง 25 คัน ผมเลยต้องมาค้นหาเรื่องราวเกี่ยวกับปะการังเทียมที่ปัตตานี นี้ก่อน เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นต่อไป 



พระราชดำริ
เมื่อปี พ.ศ.2544 ราษฎรบ้านละเวง อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานความช่วยเหลือจากสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ให้ทรงพิจารณาช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ เนื่องจากปัจจุบันได้มีปริมาณลดลงเป็นจำนวนมาก

ต่อมาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน 2544 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริกับนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ สรุปได้ว่า ให้จัดหาพื้นที่ในการจัดตั้งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งและการอนุบาลสัตว์น้ำเพื่อปล่อยลงสู่ทะเลในบริเวณจังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะในเขตบริเวณที่ทำการประมงชายฝั่งของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่มีปัญหา พร้อมทั้งจัดทำปะการังเทียมให้เกิดเป็นแหล่งชุมนุมและที่อยู่อาศัยของปลา รวมทั้งการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ชายฝั่งโดยการปลูกป่าชายเลน ป่าชุ่มน้ำและหญ้าทะเล


ที่ตั้งโครงการ : บ้านละเวง ตำบลดอนทราย อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี

ระยะเวลาที่ดำเนินการ : ตั้งแต่ปี 2545 - 2549

หน่วยงานที่รับผิดชอบ : สำนักงาน กปร. ร่วมกับกรมประมง การรถไฟแห่งประเทศไทย กองทัพเรือ และหน่วยงานอื่น ๆ

วัตถุประสงค์
  1. เพื่อจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล
  2. เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำที่เหมาะสมปล่อยลงสู่ทะเลและแหล่งน้ำภายในเพื่อให้แพร่ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ
  3. เพื่อเผยแพร่ความรู้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการทำประมงในเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมถึงการแปรรูปสัตว์น้ำให้แก่ชาวประมงและผู้สนใจในพื้นที่


ผลการดำเนินการ
  • การดำเนินงานในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงาน กปร. ร่วมกับกรมประมง การรถไฟแห่งประเทศไทย กองทัพเรือ และหน่วยงานอื่น ๆ ได้ร่วมกันดำเนินงานไปแล้ว ได้แก่ จัดวางตู้รถไฟเพื่อจัดสร้างแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล จำนวน 610 ตู้ ในทะเลในเขตจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การปลูกป่าชายเลน ในเขตจังหวัดปัตตานี 400 ไร่ จังหวัดนราธิวาส 100 ไร่ การผลิตพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อปล่อยลงสู่ทะเล โดยศูนย์พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งนราธิวาส 55 ล้านตัว และศูนย์พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งปัตตานี 42 ล้าน และการฝึกอาชีพให้แก่ราษฎร ในด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ การจัดทำปะการังเทียมขนาดเล็กในพื้นที่เป็นต้น
  • นอกจากนี้ จะดำเนินการจัดสร้างอาคารเอนกประสงค์บริเวณบ้านละเวง เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ให้แก่ราษฎรบริเวณใกล้เคียงและผู้ที่สนใจในการทำประมง รวมทั้งการแปรรูปสัตว์น้ำ โดยสำนักงาน กปร. ได้สนับสนุนโครงการฯ ในการจัดซื้อที่ดินจากราษฎร จำนวน 28 – 0 – 27 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ดินกรมธนารักษ์ โดยกรมประมง เป็นผู้ใช้ประโยชน์ แต่เนื่องจากแบบแปลนอาคารยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ประกอบกับปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้ สำนักงาน กปร. จึงได้สนับสนุนงบประมาณในปี 2548 จำนวน 467,700 บาท ให้แก่ กรมประมง เพื่อดำเนินการก่อสร้างรั้วล้อมบริเวณที่จะก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ โดยจะก่อสร้างรั้วคอนกรีตบริเวณด้านหน้าของพื้นที่ความยาว 487 เมตร และก่อสร้างรั้วลวดหนามความยาว 801 เมตร กั้นบริเวณด้านข้างและด้านหลังของพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวเขตบริเวณอาคารเอนกประสงค์ ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์แล้วเสร็จ จะเป็นประโยชน์ต่อราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งผู้สนใจได้เข้าไปศึกษาหาความรู้จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่กรมประมงได้จัดไว้ เช่น การอบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ วิธีการจับปลาอย่างถูกวิธี เป็นต้น 
  • ในเรื่องของวิชาการ สำนักงาน กปร. ได้ขอให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ดำเนินการประเมินผลโครงการดังกล่าวในด้านต่าง ๆ เช่น สมุทรศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา รวมทั้ง เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการศึกษาไปแล้วส่วนหนึ่ง และจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการในช่วงต้นปี 2549 ผลการศึกษาในเบื้องต้นพบว่า มีสัตว์ทะเลรวมถึงแพลงก์ตอนและอาหารสัตว์ประเภทต่าง ๆ มาอาศัยอยู่ในบริเวณกองปะการังเทียมทั้งตู้รถไฟ บล๊อคคอนกรีตและท่อคอนกรีต แต่บริเวณกองตู้รถไฟมีสัตว์ทะเลมาอาศัยอยู่หนาแน่นกว่า เนื่องจาก มีที่สำหรับหลบภัยมากกว่า และปัจจุบันชาวบ้านได้ไปตกปลาในบริเวณกองปะการัง ทำให้มีรายได้จากการประมงเพิ่มขึ้น
  • ปี 2549 กรุงเทพมหานครได้น้อมเกล้าฯ ถวายรถยนต์เก่าเพื่อนำไปจัดทำเป็นแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล จำนวน 189 คัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ
ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น
ราษฎรในเขตการทำประมงทะเลชายฝั่งพื้นบ้านในเขตจังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส รวมทั้งสิ้น 8 อำเภอ 72 หมู่บ้าน ราษฎร 19,424 ครัวเรือน 109,416 คน จะมีรายได้จากการจับสัตว์น้ำทะเลเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีสัตว์น้ำทะเลจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้มีความสุขสบายยิ่งขึ้น รวมทั้งราษฎรจะมีสถานที่สำหรับฝึกอบรมเกี่ยวกับอาชีพประมง


อ่านเพิ่มเติม พระราชดำรัสเกี่ยวกับ "ปะการังเทียม"

ที่มา :
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553).โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล จังหวัดปัตตานี. [Online]. Available :http://www.rdpb.go.th/RDPB/Front/Projects/ImportantDetail.aspx?projectid=47. [2553.มิถุนายน 29].
Read more >>