วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

คอนเสิร์ต 2 ฟากฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน

วันที่ 26 ก.ย.2553 คอนเสิร์ต "คิดถึง..ทอดตาแลแผ่นดินด้ามขวาน" ณ โรงยิมเนเซี่ยม สนามกีฬาจิระนคร กลางเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา และในวันที่ 27 ก.ย.2553 คอนเสิร์ต "รักษ์เภตรา-ตะรุเตา ทะเลบ้านเราเพื่อลูกหลาน" ณ บริเวณลานสิบแปดล้าน ริมอ่าวปากบารา อ.ละงู จ.สตูล

ทั้ง 2 เวทีคอนเสิร์ต ใน 2 ฟากฝั่งทะเลภาคใต้ตอนล่างนี้ เพื่อร่วมรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรากว่า 4,700 ไร่ เพื่อใช้ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพื่อยื่นต่อรัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหากท่าเรือน้ำลึกปากบาราถูกสร้างขึ้นจริง จะกระทบถึงอุทยานแห่งชาติตะรุเตาอีกด้วย

รัฐบาลไทยเตรียมการมานานแล้วที่จะนำ 17 อุทยานฯ และ 1 เขตห้ามล่าสัตว์ป่ารวมเป็น "พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน" แล้วไปขอขึ้นเป็น "แหล่งมรดกโลก" แต่วันนี้ก็มีแผนจะสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เชื่อมโยง "แลนด์บริดสงขลา-สตูล" พร้อมกันไปด้วย ตามโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดของรัฐบาลนั่นเอง....แล้วจะเอาอย่างไรกันแน่..
 

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา
มีพื้นที่รวมเกาะและทะเลประมาณ 931,250 ไร่ หรือ 1,490 ตร.กม.  ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ 51 เกาะ ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในความใฝ่ฝันของคนไทยและทั่วโลก เนื่องจากเป็นจุดรวมของความงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ทั้งบนเกาะและในน้ำ มีป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ในน้ำก็งดงามไปด้วยกลุ่มปะการังหลากสีสวยสด

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา
ครอบคลุมพื้นที่ 494.38 ตร.กม. หรือกว่า 3 แสนไร่ เป็นพื้นน้ำประมาณ 94.7% ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่มากกว่า 22 เกาะ เรียงรายกระจัดกระจายตั้งแต่เขต อ.ละงู อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล เรื่อยไปจรด อ.ปะเหลียน จ.ตรัง  การที่ส่วนมากเป็นเกาะเขาหินปูนและมีความลาดชันสูง บ้างก็เป็นโขดหิน หน้าผา ถ้ำ แถมรูปร่างก็แปลกตา จึงทำให้มีทิวทัศน์ทางทะเลที่สวยงาม มีเกาะขนาดใหญ่อยู่ 2 เกาะคือ เกาะเภตราและเกาะเขาใหญ่ บนเกาะมีสภาพป่าสมบูรณ์มาก ส่วนที่เป็นหาดทรายก็ขาวสะอาด อีกทั้งในน้ำยังมีปะการังและแหล่งหญ้าทะเล จึงเป็นที่วางไข่และอยู่อาศัยของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะเต่าทะเลหลายชนิด

การเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ในทะเลจำนวน 292 ไร่ระหว่างเกาะเขาใหญ่กับเกาะลินต๊ะ เพื่อก่อสร้างแท่งคอนกรีตขนาดใหญ่กว่า 1 กิโลเมตร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของท่าเรือน้ำลึกปากบารา และส่วนพื้นน้ำที่เหลืออีก 4,408 ไร่ ถูกกำหนดให้เป็นเส้นทางเดินเรือสินค้า

ที่มาของภาพ http://www.marinerthai.com/articles/pic/pbr001.jpg
ผลกระทบ
เรือสินค้าที่จะเข้า-ออกที่ท่าเรือแห่งใหม่นี้ จะผ่านร่องน้ำที่ใกล้กับเกาะไข่ เกาะอาดัง และเกาะตะรุเตา ซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นและตะกอนจากใบพัดเรือ เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและการไหลของน้ำ เกิดมลพิษทางเสียง ซึ่งทั้งหมดจะกระทบต่อแนวปะการัง แหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะพะยูน ที่จะไปกินหญ้าทะเลในบริเวณนั้น และในส่วนอุทยานหมู่เกาะเภตรา อาจจะเกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จุดที่ตั้งท่าเรือและเส้นทางเดินเรือยังมีแนวปะการังที่ยังสมบูรณ์สวยงาม มีแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่หลายร้อยไร่ที่เป็นแหล่งอาหารของพะยูน เช่นเดียวกัน

แล้วจะทำอย่างไรกันต่อไป
"แลนด์บริด สงขลา-สตูล" ก็เพื่อที่จะลดต้นทุนทางการขนส่งสินค้าลง ลดทรัพยากรที่นำมาใช้เป็นพลังงาน ลดทั้งเวลาในการเดินทาง ซึ่งการลดต้นทุนดังกล่าว ก็ยอมรับว่าจะเป็นผลดี

แต่การลดต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่สร้างสรรค์อยู่คู่โลกของเรามาเป็นเวลานาน  มีระบบนิเวศน์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตมนุษย์ ก็น่าคิดเช่นเดียวกัน 

ขอให้รัฐบาล นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายช่วยกันไตร่ตรองและคิดให้รอบคอบด้วย  อย่าคิดแค่ช่วงชีวิตของเรา ต้องคิดถึงช่วงชีวิตของลูกหลานในอนาคตของพวกเราด้วย

อย่าให้เรามีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย แต่มโนธรรมในใจกลับลดลง

ที่มาข้อมูล :
___________. (2553). ปรากฏการณ์อุตสาหกรรมเข้าไปไล่ที่มรดกโลก : นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา. ปีที่ 2 ฉบับที่ 23 เดือนตุลาคม 2553.(หน้า 138-141).
Read more >>

วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

จะเอาน้ำมันหรือการท่องเที่ยวทะเลไทย

การเคลื่อนไหวของ "เครือข่ายรักษ์อ่าวไทย" ต่อต้านกลุ่มทุนขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล ด้วยหวาดหวั่นผลกระทบแหล่งท่องเที่ยวชื่อก้องโลกอย่างเกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง

ตามที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานและหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้อนุมัติให้มีการขุดจาะสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่รอบแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญของประเทศ ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง

โดยมีที่ได้ขออนุญาตขุดเจาะสำรวจก่อนปี 2553 คือ แปลงสัมปทาน G4/50 ของบริษัทเชฟรอน ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด มีระยะห่างจากเกาะพงันและเกาะสมุยเพียง 65 กับ 78 กิโลเมตร และ G6/48 ของบริษัท เพิร์ลออยส์ (อมตะ) จำกัด มีระยะห่าง 113 กับ 110 กิโลเมตร

นอกจากนี้ยังมีแปลงสัมปทานที่ขออนุญาตขุดเจาะสำรวจใหม่ปี 2553 ที่อยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และมีหลุมขุดเจาะใกล่เกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่าอีก 2 บริษัท คือ แปลงสัมปทาน B8/38 ของบริษัทซามานเดอร์ เอนเนอร์ยี่ (บัวหลวง) จำกัด ห่างจากทางเกาะเต่าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 65 กิโลเมตร กับแปลงสัมปทาน G5/50 ของบริษัทนิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด มีระยะห่างจากเกาะสมุยไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เพียง 42 กิโลเมตร และห่างจากชายฝั่ง อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ไปทางทิศตะวันออกเพียง 41 กิโลเมตร



เครือข่ายรักษ์อ่าวไทย ได้ศึกษาผลกระทบจากโครงการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าว ถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สัตว์ใกล้สูญพันธ์ ความไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยว และการดำรงอยู่ของชุมชนที่พึ่งการท่องเที่ยว โครงการดังกล่าวจะสร้างมลภาวะ อาทิ ตะกอน คราบน้ำมัน กลิ่นเหม็นและของเสียจากการผลิต ทั้งในกรณีปกติและกรณีเกิดการรั่วไหลของน้ำมันจากอุบัติเหตุ หรืออุบัติภัยธรรมชาติ ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในอ่าวไทย

จึงเป็นที่หวั่นเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงการประกอบสัมมาอาชีพของผู้คนมากมายนับแสนคน และยังทำให้สูญเสียภาพลักษณ์ด้านความสวยงามทางธรรมชาติของท้องทะเลและเกาะแก่งต่างๆ อันมีผลกระทบโดยตรงต่อตำแหน่งทางการตลาดท่องเที่ยวทางทะเลที่ทั้ง 3 เกาะ และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองที่อยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ซึ่งปัจจุบันเป็นแม่เหล็กดึงดูดที่ให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกมาเยือนไทย

ปัจจุบันมีการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวบนเกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า รวมกันแล้วหลายแสนล้านบาท มีโรงแรมราว 800 แห่ง รวมห้องพักกว่า 2 หมื่นห้อง สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศชาติแต่ละปีเกินกว่า 2 หมื่นล้านบาทมาโดยตลอด และก็กระจายอยู่ในคนทุกอาชีพ ในทุกภาคส่วน อีกทั้งยังได้สร้างมูลค่าเพิ่มไปยังพื้นที่อื่นๆ ในประเทศอีกมากมาย

ธุรกิจท่องเที่ยวหากมีการพัฒนาที่ดีก็จะนำไปสู่ความยั่งยืน และสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์กันไปได้ชั่วลูกชั่วหลาน ขณะที่อุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันที่สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละไม่กี่หมื่นล้านบาท แต่กลับไม่มีความยั่งยืนอะไรเลย อาจจะ 5-10 ปี ก็ดูดน้ำมันขึ้นมาหมดแล้ว ที่เหลือไว้ก็คือความบอบช้ำของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เท่านั้นเอง


เครือข่ายรักษ์อ่าวไทย กำลังจะยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ระงับโครงการหรือกิจกรรมในพื้นที่อ่าวไทยที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กว่า 26 โครงการ โดยจะเลือกฟ้องหน่วยงานราชการทั้งหมด เช่น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี เป็นต้น ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถฟ้องกลับได้ เพราะเป็นคดีสาธารณะและเป็นคดีปกครอง อีกทั้งบริษัทฯ ที่ได้รับสัมปทานสำรวจและขุดเจาะน้ำมันคู่กรณีก็ไม่มีสิทธิ์ฟ้องกลับเช่นกัน เนื่องจากไม่ใช่คู่กรณีตามคำฟ้อง

ถึงเวลาแล้วที่พวกเราคนไทยทุกคนจะต้องช่วยกันตัดสินใจ ว่า "จะเอาน้ำมันหรือการท่องเที่ยวทางทะเลไทย" ผมว่า น้ำมันน่าจะหาได้จากแหล่งอื่นๆ อีกมากมาย แต่ธรรมชาติที่สวยงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนี่ซิ มันหายาก  อย่าเอาเพียงแค่ผลประโยชน์ระยะสั้นของกลุ่มทุน และนักการเมืองเลย...เอาผลประโยชน์ระยะยาวให้แก่ประเทศไทยและลูกหลานของเราดีกว่า...หยุดเอาเปรียบกับประเทศไทยได้แล้ว..

ขอเอาใจช่วยและให้กำลังใจ กลุ่มเครือข่ายรักษ์อ่าวไทย
  • นายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีเมืองเกาะสมุย /ประธานเครือข่ายรักษ์อ่าวไทย
  • นายเรืองนาม  ใจกว้าง ประธานมูลนิธิเกาะสีเขียว และนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ฝั่งตะวันออก
  • นายสุธรรม  สามทอง รองนายกเทศมนตรีเมืองเกาะสมุย
  • นพ.บรรณศาสตร์  เรืองจันทร์  นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย
  • นายธีรกิจ  หวังมุทิตากุล ประธานหอการค้า จ.สุราษฎร์ธานี
  • นายไชยยันต์ ธุระสกุล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเต่า
  • นางวรรณี  ไทยพานิช  นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะพงัน
  • นางวัลวลี  ตันติกาญจน์ นายกสมาคมสปาสมุย
  • นางมาลีพันธ์  ซาฮิล หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์ทางทะเลเกาะเต่า
  • นายมานพ  แซ่เตียว ประธานชมรมรักษ์พะงัน
  • นางรัฎดา สามหมุน เลขาธิการชมรมรักษ์เกาะเต่า
  • นายอานนท์ วาทยานนท์ กรรมการธรรมาภิบาล จ.สุราษฎร์ธานี
  • นายอยับ ซาดัดคาน รองนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี
  • นายทนงศักดิ์  สมวงศ์ ประธานกลุ่มรักษ์เฉวง
  • นายวชิรพงษ์  สกุลรัตน์ ประธานชมรมพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขนอม
  • และผู้แทนชุมชนผู้เดือดร้อนและเสียหายในพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่าและ ใกล้เคียง
  • ฯลฯ
ที่มาข้อมูล :
___________. (2553). อะไรสำคัญกว่ากัน? พลังงานหรือการท่องเที่ยว : นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา. ปีที่ 2 ฉบับที่ 23 เดือนตุลาคม 2553.(หน้า 130-136). 
Read more >>