วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ภาพถ่ายใต้ทะเลลึกของเจียวหลง

ภาพการสำรวจใต้ทะเลลึกที่ระดับ 7,062 เมตร ของยานดำน้ำที่มีมนุษย์บังคับ "เจียวหลง" ของจีน เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2555  ณ  ที่มาเรียน่า เทรนช์ ร่องลึกใต้สมุทรที่ลึกสุดในโลก นักวิทยาศาสตร์ได้พบสิ่งมีชีวิตหลากหลาย และได้เก็บภาพมาให้ชาวโลกชมเป็นขวัญตา (ที่มาของภาพ ซินหวา)


















































































































***************************************
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
Read more >>

วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

"เจียวหลง'' ทำสถิติ ดำน้ำลึกที่สุดในโลก เกิน 7,000 เมตร

ยานดำน้ำลึก เจียวหลง ขณะถูกยกลงสู่มหาสมุทร
เพื่อทำการทดสอบเมื่อเช้าวันที่ 24 มิ.ย.2555 (ภาพซินหวา) 

ยานดำน้ำลึกที่ควบคุมด้วยมนุษย์ของจีน ประสบความสำเร็จทำลายสถิติน้ำลึกเกิน 7,000 เมตรได้ ตอนเช้าวันอาทิตย์ที่ 24 มิ.ย.2555

สื่อจีนรายงานว่า "เจียวหลง" ยานสำรวจใต้น้ำลึกได้ทำการทดสอบที่มาเรียน่า เทรนช์ ฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นการทดสอบดำน้ำลึกครั้งที่ 4 ในเดือนนี้ โดยครั้งล่าสุดนี้ สามารถดำลงไปในระดับความลึกที่ 7,015 เมตร

หลิว เฟิง หัวหน้าชุดภารกิจฯ ได้กล่าวกับสื่อฯ ภายหลังจากกลับขึ้นมาที่เรือขนส่งยานฯ ว่า "ศักยภาพของยานเป็นไปตามที่คาด และขีดความสามารถเหมือนว่าจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ"

หลิว ไค่โจว, เย่ว์ ชง และหยาง ปั่ว 3 นักสมุทรศาสตร์
ที่เป็นชุดภารกิจดำน้ำลึกของยานเจียวหลง
ขณะออกเรือเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2555
 ไปยัง มาเรียน่า เทรนช์
ซึ่งเป็นพื้นที่มหาสมุทรที่มีความลึกที่สุดในโลก
 (ภาพซินหวา)
รายงานข่าวกล่าวว่า ยาน "เจียวหลง" ซึ่งนำชื่อมาจากเทพมังกร ในตำนาน ได้ดำดิ่งลงไปด้วยการควบคุมของนักสมุทรศาสตร์ 3 คน เพื่อทะลุไปยังจุดที่ลึกที่สุดในโลก โดยก่อนหน้าเมื่อเดือน ก.ค.2554 ปีที่แล้ว ยาน "เจียวหลง" ได้เริ่มสร้างสถิติที่ความลึก 5,188 เมตร และมาปีนี้ เพียงเดือนมิ.ย.2555 ที่ทดสอบการดำทั้ง 3 ครั้ง "เจียวหลง" ก็ทำลายสถิติก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า จีนมุ่งพัฒนายานสำรวจใต้น้ำลึกเพื่อภารกิจค้นคว้าวิจัยและพัฒนาทางสมุทรศาสตร์ อาทิ สำรวจชีวิต ทรัพยากรและสภาพภูมิศาสตร์ท้องทะเล ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าใต้ท้องทะเลนี้ อุดมไปด้วยทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อชีวิตแต่ทั้งนี้ ยังไม่มีการสำรวจวิจัยด้านชีววิทยาและธรณีวิทยาอย่างถึงที่สุด ด้วยเหตุว่ามีความยากลำบาก และเกินขีดจำกัดทางเทคโนโลยีปัจจุบัน อีกทั้งมีต้นทุนสำรวจที่สูงมากเกินไป

การสำรวจใต้ทะเลลึกของยานฯเจียวหลง ที่ระดับ กว่า 7,000 เมตรนี้ นับเป็นความสำเร็จทุบสถิติโลก โดยก่อนหน้า มีเพียงสี่ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส รัสเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ที่ส่งยานดำน้ำปฏิบัติการสำรวจใต้ทะเลลึก ยานดำน้ำฯของประเทศเหล่านี้ ออกแบบมาให้สามารถมาปฏิบัติการสำรวจใต้ทะเลที่ระดับลึกสุด 6,500 เมตร โดยยานฯของฝรั่งเศสปฏิบัติการใต้ทะเลลึก 6,000 เมตร รัสเซีย 6,000 เมตร ญี่ปุ่น 6,500 เมตร และสหรัฐอเมริกา 6,100 เมตร 

ความสำเร็จของยานดำน้ำเจียวหลงในการทดสอบครั้งที่ 4 นี้ ทำให้ยานดำน้ำของจีนเป็นยานที่สามารถดำได้ลึกที่สุดในโลก ลึกกว่ายาน "ชินไค 6500" (Shinkai 6500) ของญี่ปุ่น ซึ่งทำสถิติดำน้ำลึกที่ 6,526 เมตร เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2532 

สำหรับยานเจียวหลง ออกแบบมาให้สามารถปฏิบัติการสำรวจใต้ทะเลลึกที่สุด 7,000 เมตร ทั้งการสำรวจเหมืองแร่ การสำรวจพื้นโลกใต้ทะเล การติดตามและค้นสิ่งมีชีวิตที่น่าสงสัย การสำรวจสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล และอื่นๆ

ภาพกราฟิก แสดงการทำงานภายในของยานเจียวหลงของจีน (ภาพเอเยนซี)

**********************************
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
Read more >>

วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

"ปลิงทะเล" ดูดกินทรายแต่ไม่ดูดเลือด


"ซุปปลิงทะเล ปลิงทะเลน้ำแดง ปลิงทะเลผัดรวมมิตร ปลิงทะเล..." อาหารเหลาที่ชาวจีนเห็นแล้วน้ำลายไหล แต่คนไทยส่วนใหญ่คิดหนักและไม่กล้ารับประทาน เพราะพาลไปนึกถึง "ปลิงดูดเลือด" (ปลิงน้ำจืด) ทั้งที่จริงๆ แล้วสัตว์ทั้งสองชนิดนี้มีวิวัฒนาการห่างไกลกันมากถึงขนาดอยู่กันคนละไฟลัม และที่สำคัญปลิงทะเลไม่ดูดเลือดเหมือนกับปลิงน้ำจืดเลยสักนิด


"ปลิง!! สัตว์มหัศจรรย์ใต้ท้องทะเล" คือหัวข้อเสวนา คุยกัน...ฉันท์วิทย์ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดขึ้นเป็นพิเศษในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2553 โดยมี น.ส.อารมณ์ มุจรินทร์ นักวิชาการด้านชีววิทยา พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับปลิงทะเลให้แก่เด็กๆ

นักชีววิทยาจาก อพวช. ให้ข้อมูลต่อไปว่า ปลิงทะเล หรือ แตงกวาทะเล (sea cucumber) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง อยู่ในกลุ่มสัตว์ที่มีผิวลำตัวเป็นหนาม (Echinodermata) เช่นเดียวกับ ดาวทะเล ดาวขนนก ดาวเปราะ และเม่นทะเล แต่ปลิงน้ำจืด (Leech) เป็นสัตว์ในกลุ่มหนอนปล้อง (Annelida) จำพวกเดียวกับไส้เดือนดิน ทากดูดเลือด เป็นต้น

"ปลิงทะเลไม่ใช่ปลิงน้ำจืด ปลิงทะเลไม่ดูดเลือดเหมือนปลิงน้ำจืด แต่กินเศษซากสารอินทรีย์บนพื้นทรายใต้ท้องทะเลเป็นอาหาร โดยกินไปพร้อมกับทราย แต่ะจะดูดซึมเอาเฉพาะสารอาหารที่ต้องการแล้วถ่ายมูลที่เป็นทรายออกมา ดังนั้นบริเวณไหนที่มีปลิงทะเลอยู่เยอะ พื้นทรายบริเวณนั้นจะขาวสะอาดมากกว่าบริเวณอื่นๆ ปลิงทะเลจึงเปรียบเสมือนเทศบาลประจำหาดทรายและใต้ท้องทะเล" น.ส.อารมณ์ เผย

ปลิงทะเลพบได้ตั้งแต่แนวชายฝั่งทะเลไปจนถึงใต้ทะเลลึก ดำรงชีวิตเป็นสัตว์หน้าดิน หากินอยู่บนพื้นท้องทะเล สามารถปรับตัวให้ดำรงชีวิตอยู่ในแหล่งที่อยู่ได้หลายแบบ ทั้งในแนวปะการัง แนวสาหร่าย หาดทราย หาดหิน และแหล่งหญ้าทะเล โดยทั่วไปมีรูปร่างทรงกระบอกยาว ผิวลำตัวมีทั้งหนา บาง แล้วแต่ชนิด ปลายลำตัวด้านหนึ่งเป็นปาก และอีกด้านหนึ่งเป็นทวาร รอบๆ ปากมีหนวด 10-30 เส้น ไว้จับอาหารเข้าสู่ปาก ปลิงทะเลเป็นสัตว์แยกเพศ มีการจับคู่ผสมพันธุ์ โดยตัวผู้และตัวเมียจะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์มาผสมกันในน้ำทะเล

"เสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต" คือหลักในการเอาตัวรอดของปลิงทะเลอันน่าทึ่ง โดยปลิงทะเลจะคายอวัยวะภายในออกมาให้ศัตรูมันกินเพื่อให้ตัวมันมีชีวิตรอดต่อไป ซึ่งมันสามารถสร้างอวัยวะภายในขึ้นมาใหม่แทนของเดิมได้ และอีกวิธีหนึ่งคือการแตกแยกผนังลำตัว คล้ายกับการถอดเสื้อให้ศัตรูของมัน จากนั้นก็ทอเสื้อขึ้นมาใหม่นั่นเอง นอกจากนั้นยังมีวิธีป้องกันตัวโดยการพ่นเส้นใยเหนียวจากทางทวารใส่ศัตรู ซึ่งไม่มีพิษภัยอะไร แต่จะทำให้ศัตรูเกิดความรำคาญและเลิกล้มความตั้งใจที่จะกินมัน

น.ส.อารมณ์ มุจรินทร์
"ปลิงทะเลเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีโปรตีนใกล้เคียงกับหมึกกล้วย ปูม้า หอยลาย และหอยแมลงภู่ แต่มีไขมันต่ำกว่ามาก ต่ำกว่าปลาทะเลบางชนิดด้วย ที่สำคัญยังช่วยป้องกันและบรรเทาโรคข้อเสื่อมด้วย เพราะมีมิวโคโปรตีน (mucoprotein) ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของกระดูกอ่อนและเอ็น และยังมีสรรพคุณทางยาอีกหลายด้าน เช่น แก้ปัญหาท้องผูก ปัสสาวะบ่อย บรรเทาอาการอ่อนเพลียในผู้สูงอายุ" นักชีววิทยา อพวช. เผย

ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์หลายประเทศสนใจศึกษาหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในปลิงทะเลเพื่อพัฒนาเป็นยารักษาโรคต่างๆ เช่น สารโฮโลท็อกซิน (Holotoxin) ที่สามารถยับยั้งเชื้อราบางชนิด ยังยั้งการกระจายตัวของเซลล์มะเร็ง และในเส้นใยสีขาวของปลิงบางชนิดยังมีสารโฮโลทูลิน (Holothurin) ที่มีคุณสมบัติช่วยขัดขวางการส่งความรู้สึกของกระแสประสาท สามารถนำใช้ลดความเจ็บปวดของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดได้

อย่างไรก็ดี น.ส.อารมณ์ ให้ข้อมูลว่า ปลิงทะเลจัดเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของจีน ไต้หวัน และฮ่องกง เพราะนิยมบริโภคกันมากด้วยความเชื่อว่ามีสรรพคุณทางยามาตั้งแต่สมัยโบราณ ขณะที่ชาวไทยไม่นิยมบริโภค แต่มีนายทุนต่างชาติเข้ามาดำเนินการเก็บปลิงทะเลจากธรรมชาติของไทยส่งออกไปยังต่างประเทศโดยไม่มีการควบคุม ส่งผลให้ปลิงทะเลในไทยลดจำนวนลงไปมาก โดยเฉพาะปลิงดำที่พบได้ทั่วไปตามชายหาดทางภาคตะวันออกและภาคใต้ ปัจจุบันแทบไม่มีเหลืออยู่แล้ว

นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันยังส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรของปลิงทะเลด้วย เนื่องจากสัตว์ชนิดนี้มีความอ่อนไหวสูงต่อการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ หากไม่มีการอนุรักษ์อย่างจริงจัง ปลิงทะเลในไทยอาจสูญพันธุ์ได้ในไม่ช้า โดยเฉพาะปลิงขาวที่เป็นที่นิยมบริโภค และปลิงดำที่เก็บจากธรรมชาติได้ง่ายดาย

**************************
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
Read more >>

วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ฉลามใช้ “แผนที่จิตใจ” นำทาง

นักวิจัยเผยฉลามบางชนิดใช้ “แผนที่จิตใจ” นำทางกลับบ้าน ซึ่งช่วยให้ปลายักษ์ใหญ่ “ปักหมุด” เดินทางสู่จุดหมายได้ไกลถึง 50 กิโลเมตร โดยเป็นผลงานนักวิจัยสหรัฐฯ ซึ่งติดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุจากฉลาม และพบว่าเจ้าแห่งท้องทะเล เดินทางเป็นเส้นตรงจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง

ฉลามเสือเดินทางไปยังปลายทางอย่างมีเป้าหมาย
ราวกับมีแผนที่่ในกำหนดไว้ (บีบีซีนิวส์)
สำหรับฉลามบางชนิดอย่างฉลามครีบดำ (blacktip reef shark) ไม่ได้แสดงออกว่ามีพฤติกรรมดังกล่าว โดยงานวิจัยซึ่งเผยแพร่ในวารสารเจอร์นัลออฟแอนิมอลอีโคโลจี (the Journal of Animal Ecology) นี้ได้ชี้ว่าพฤติกรรมของฉลามได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเก็บข้อมูลแผนที่ของจุดที่สำคัญไว้ มากกว่านั้นยังเป็นหลักฐานว่าปลาเจ้าสมุทรนี้อาจใช้สนามแม่เหล็กโลกเพื่อนำทาง

งานวิจัยก่อนหน้านี้ซึ่งศึกษาในฮาวาย ได้แสดงให้เห็นว่าฉลามเสือ (tiger shark) สามารถว่ายข้ามช่องแคบลึกไปหาอ่าวน้ำตื้นที่อุดมไปด้วยอาหารซึ่งอยู่ห่างถึง 50 กิโลเมตรได้

ส่วนโครงการนี้ บีบีซีนิวส์รายงานว่าทีมวิจัยได้เทคนิคทางสถิติเพื่อแสดงให้เห็นว่าเส้นทางของฉลามนั้นไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ และฉลามเสือสามารถที่เคลื่อนที่ไปตามบางเส้นทางได้ แต่กรณีไม่รวมฉลามครีบดำ ส่วนฉลามหางยาว (thresher shark) ได้แสดงให้เห็น “การเดินทางแบบตรงดิ่ง” เหมือนฉลามเสือ แต่อยู่ในระดับที่น้อยกว่า

“งานวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า บางครั้งฉลามเสือและฉลามหางยาว ไม่ได้ว่ายน้ำไปแบบเดาสุ่ม แต่ว่ายน้ำไปยังเป้าหมายที่กำหนดจำเพาะ พวกมันรู้ว่ากำลังจะไปไหน” ดร.ยานนิส ปาปาสแทมอาทีโอ (Dr.Yannis Papastamatiou) จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาฟลอริดา (Florida Museum of Natural History) ในเกนส์วิลล์ ฟลอริดา สหรัฐฯ กล่าว

คำถามสำคัญคือ ฉลามเหล่านั้นรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองกำลังจะไปไหน ทั้งนี้ ฉลามเป็นหนึ่งในสัตว์ที่รับสัมผัสสนามแม่เหล็กได้ หากแต่สัตว์อื่นที่รับสัมผัสสนามแม่เหล็กได้ เช่น ทูน่าครีบเหลือง (yellowfin tuna) นั้นอาศัยแร่แม่เหล็กก้อนเล็กๆ ในหัวเพื่อรับสัมผัสดังกล่าว แต่กลับไม่ปรากฏตัวรับสัญญาณสนามแม่เหล็กในฉลาม


อีกความเป็นไปได้คือ ฉลามอาจใช้สัญญาณจากกระแสน้ำในมหาสมุทร อุณหภูมิน้ำหรือกลิ่นเพื่อนำทาง


“พวกมันมีระบบนำทางที่ดีเยี่ยม เพราะว่าเส้นทางเดินนั้นไกลมาก ไม่ว่าฉลามจะใช้อะไรเป็นสัญญาณนำทางก็เปิดโอกาสให้มีการโต้เถียงทั้งนั้น แต่ความจริงว่าการเดินทางบ่อยครั้งนั้นเกิดขึ้นตอนกลางคืน คุณและฉันย่อมคิดว่าไม่มีอะไรให้เป็นจุดอ้างอิง ดังนั้น การอ้างอิงกับสนามแม่เหล็กน่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้” ดร.ปาปาสแทมอาทีโอ กล่าว


ในส่วนของฉลามหางยาวนั้น ตัวเต็มวัยจะเดินทางได้ไกลกว่าฉลามรุ่นเยาว์ ซึ่งนักวิจัยอธิบายว่า เป็นสิ่งที่ชี้ถึงการสร้างแผนที่จิตใจเมื่อปลาเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว และความแตกต่างของฉลามแต่ละสปีชีส์น่าจะอธิบายได้ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตของฉลามที่หลากหลายนั่นเอง




ฉลามหางยาวมีความสามารถคล้ายฉลามเสือ
แต่เดินทางในระยะใกล้กว่า (บีบีซีนิวส์) 

แม้ว่าฉลามครีบดำ (คาร์ชารินัส เมลาโนเทรัส - Carcharhinus melanopterus) จะกระจายอยู่ทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ก็พบว่ากระจายตัวแคบๆ อยู่ภายในแนวปะการังที่อยู่อาศัยเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งฉลามเสือ (กาเลโอเซอร์โด คูเวียร์ - Galeocerdo cuvier ) สามารถท่องไปในระยะทางที่กว้างไกลกว่า และทีมวิจัยยังจับสัญญาณจากเครื่องส่งที่ติดให้กับฉลามไปได้ไกลถึง 3,000 กิโลเมตรจากจุดที่เครื่องสัญญาณถูกติด



*************************************

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000028599
Read more >>

นักวิทยาศาสตร์วิตกสัตว์ทะเลวิกฤตสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาเร็วกว่าที่คิด

สถานการณ์ในมหาสมุทรวิกฤตหนักสัตว์ทะเลลดฮวบกว่าที่คิด น่าห่วงสิ่งมีชีวิตหลายสปีชีส์อยู่ในสภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์อย่างไม่เคยเกิดมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษย์ ผลพวงจากการประมงเกินขนาด มลภาวะ และภาวะโลกร้อน ซึ่งท้ายที่สุดจะย้อนมากระทบมนุษย์เอง

ภาพจากบีบีซีนิวส์
ทั้งนี้ เป็นรายงานสถานการณ์ทางทะเลล่าสุดจากการรวมตัวกันของนักวิชาการหลากหลายสาขา ทั้งนักนิเวศวิทยาแนวปะการัง (coral reef ecologist) นักพิษวิทยา และนักวิชาการประมง ในการประชุมที่จัดขึ้นโดย "โครงการสากลว่าด้วยสถานการณ์มหาสมุทร (International Programme on the State of the Ocean) หรือ ไอพีเอสโอ (IPSO)" ซึ่งสรุปว่า การประมงเกินขนาด มลภาวะและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) นั้นได้ส่งผลกระทบในแบบที่เราไม่เคยตระหนักมาก่อน และผลกระทบกำลังย้อนกลับมายังมนุษย์

“สิ่งที่ได้พบนั้นน่าตกใจ เท่าที่เราเข้าใจถึงผลกระทบจากสิ่งที่มนุษยชาติกระทำต่อมหาสมุทรนั้น เลวร้ายกว่าที่เราแต่ละคนจะนึกได้ เรานั่งถกกันถึงสิ่งที่เราประจักษ์ แต่ได้เราข้อสรุปพร้อมกับภาพที่เผยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราเคยนึก หรือในแบบที่เราไม่เคยคาดคิดว่าจะได้เห็นเมื่อหลายร้อยปี” บีบีซีนิวส์รายงานความเห็นของ อเล็กซ์ โรเจอร์ส (Alex Rogers) ศาสตราจารย์ชีววิทยาด้านการอนุรักษ์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ของโครงการไอพีเอสโอ


ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีทั้งสิ่งมีชีวิตทางทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว และหลายสปีชีส์ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ นอกจากนี้บีบีซีนิวส์เพิ่มเติมอีกว่า ยังมีอัตราเร่งในการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ อย่างการละลายของแผ่นน้ำแข็งที่กรีนแลนด์และแอนตาร์กติก ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น และมีการปลดปล่อยก๊าซมีเทนที่ถูกกักเก็บไว้ที่ก้นทะเลมากขึ้น

“อัตราการเปลี่ยนแปลงเกินระดับที่เราคาดไว้เมื่อ 200 ปีก่อนไปอย่างมหาศาล ซึ่งถ้าคุณตรวจสอบดู ไม่ว่าจะเป็นการประมงในเขตอบอุ่น แนวปะการังหรือน้ำแข็งในทะเลอาร์กติก ทั้งหมดนี้ล้วนตกอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลง แต่เกิดขึ้นรวดเร็วกว่าที่เราคาดมาก” โอเว โฮ-กัลด์เบิร์ก (Ove Hoegh-Guldberg) ผู้เชี่ยวชาญปะการังจากมหาวิทยาลัยควีนแลนด์ (University of Queensland) ในออสเตรเลียกล่าว

หากแต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กังวลมากกว่านั้น คือ รูปแบบที่ปัญหาต่างๆ ส่งผลเสริมกันจนคุกคามสิ่งมีชีวิตทางทะเลมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การพบอนุภาคพลาสติกเล็กๆ ที่มีสารพิษติดแน่นอยู่ที่ก้นทะเล ซึ่งการพบอนุภาคพลาสติกดังกล่าวนั้นได้เพิ่มปริมาณสารพิษในก้นทะเลมากขึ้น และปลาที่อยู่ในน้ำลึกก็รับสารพิษเหล่านั้นไป

อนุภาคพลาสติกยังช่วยลำเลียงสาหร่ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ทำให้เกิดปรากฏการณ์การแพร่กระจายของสาหร่ายที่เป็นพิษอย่างรวดเร็วหรือปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง (algal bloom) เพิ่มขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์นี้ยังเป็นผลจากปุ๋ยในพื้นที่เกษตร ซึ่งไหลทะลักลงไปปนเปื้อนน้ำทะเลอีกด้วย นอกจากนี้การเป็นกรดของน้ำทะเล อุณหภูมิที่สูงขึ้น มลพิษจากท้องถิ่น และการประมงเกินขนาด ได้ส่งผลเสริมกันในการคุกคามแนวปะการังมากขึ้น โดย 3 ใน 4 ของแนวปะการังทั่วโลกกำลังเสี่ยงที่ลดลงอย่างรุนแรง

บีบีซีนิวส์ระบุว่าโลกผ่าน “การสูญพันธุ์” ครั้งใหญ่มาแล้ว 5 ครั้ง โดยมีสาเหตุจากเหตุการณืทางธรรมชาติอย่างอุกกาบาตพุ่งชนโลก แต่ตอนนี้มีการพูดถึงบ่อยครั้งว่า การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ต่อไปจะเป็นผลจากการกระทำหลายๆ อย่างของมนุษย์ แม้รายงานของไอพีเอสโอสรุปว่ายังเร็วเกินไปที่จะกล่าวเช่นนั้น แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นได้และเกิดขึ้นเร็วกว่าคาบการสูญพันธุ์ใหญ่ทั้งหมดที่ผ่านมา

“สิ่งที่เราเผชิญอยู่นี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยพบในข้อมูลที่ได้จากฟอสซิล สิ่งแวดล้อมปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก และเรายังได้โลกที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด แต่อัตราการสูญพันธุ์ในตอนนี้ก็สูงกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมาก และสิ่งที่เราเผชิญอยู่นี้คือเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ระดับโลกอย่างแน่นอน” ศ.โรเจอร์สบอกบีบีซีนิวส์

ในรายงานของไอพีเอสโอระบุอีกว่า เหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ก่อนหน้านี้สัมพันธ์กับแนวโน้มที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งการวัฏจักรคาร์บอน (carbon cycle) ที่ถูกรบกวน การเป็นกรดของน้ำทะเล และการลดลงของออกซิเจนในน้ำทะเลหรือที่เรียกว่า “ไฮโปเซีย” (hypoxia) และระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มหาสมุทรดูดซับยังสูงกว่าระดับที่พบในยุคการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสัตว์น้ำเมื่อ 55 ล้านปีก่อน หรือระหว่างสมัยพาลีโอซีน-อีโอซีน (Paleocene-Eocene) ในมหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic)

****************************
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000076313
Read more >>

“ฉลาม” กิน “ฉลาม” ที่ออสเตรเลีย

ภาพขณะฉลามวอบบีกองกำลังกลืนกินฉลามกบ (Daniela Ceccarelli)

นักวิจัยจับภาพฉลามกำลังกินฉลามได้ขณะลงสำรวจแนวปะการังยักษ์ที่ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จับภาพพฤติกรรมดังกล่าวได้


ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศเออาร์ซีเพื่อการศึกษาแนวปะการัง (ARC Centre of Excellence for Coral Reef Studies) ได้พบเหตุการณ์ฉลามกินฉลามระหว่างลงสำรวจแนวปะการังยักษ์หรือเกรทแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ที่ออสเตรเลีย โดยพวกเขาได้พบฉลามแทสเซลล์วอบบีกอง (tasselled wobbegong shark) กำลังเขมือบฉลามพันธุ์อื่น

โดยปกติฉลามวอบบีกองจะนอนนิ่งอยู่ที่ก้นทะเลรอให้มีปลาหรือเหยื่อว่ายผ่านมาแล้วเข้าจู่โจม คราวนี้ PhysOrg.com ระบุว่า เหยื่อผู้โชคร้ายคือฉลามกบ (brown-banded bamboo shark) ซึ่งกำลังถูกจากส่วนหัวลงไป และการที่ฉลามวอบบีลองกลืนเหยื่อขนาดใหญ่นี้ได้ก็เพราะกรามที่เลื่อนจากตำแหน่งได้ และยังอ้าปากได้กว้าง รวมถึงตำแหน่งฟันที่ค่อนไปทางข้างหลัง และเป็นครั้งแรกที่บันทึกภาพพฤติกรรมของฉลามชนิดนี้ขณะกินเหยื่อได้

ข้อมูลจาก PhysOrg.com ยังระบุอีกว่า 13% ของฉลามที่กัดคนนั้นเป็นฉลามวอบบีกองขนาดเล็ก แต่ไม่ใช่การกัดเพื่อกินเหยื่อ แต่เป็นพฤติกรรมปกติเมื่อถูกคุกคาม และฉลามชนิดนี้ยังมีชื่อเล่นว่า “ฉลามพรม” (carpet shark) ด้วย

*********************************
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์  http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000018347
Read more >>