กลุ่มสื่อจีนรายงานเมื่อวันที่ 16 เม.ย.2555 ที่ผ่านมา เกิดเหตุน่าเศร้าสลดในบริเวณทะเลสาบต้งถิง ซึ่งอยู่บนที่ราบน้ำท่วมถึงแห่งลุ่มน้ำฉังเจียง (หรือที่คนไทยเรียกแยงซีเกียง)ในอำเภอเย่ว์หยัง มณฑลหูหนัน นั่นคือ โลมาไร้ครีบหรือที่คนไทยเรียกโลมาหัวบาตรหลังเรียบ ตายไป 12 ตัว ในช่วงวันที่ 3 มี.ค.ถึงวันที่ 15 เม.ย. 2555 ที่ผ่านมา โดยในชั่วหนึ่งสัปดาห์ของช่วงเวลาดังกล่าว พบซากโลมาฯถึง 9 ตัว!
การพบซากโลมาหัวบาตรหลังเรียบถึง 12 ตัวในชั่วเวลา 42 วันนี้ นับเป็นโศกนาฏกรรมด้านหนึ่งของมนุษย์ชาติ โลมาหัวบาตรฯไม่เพียงเป็นสัตว์ที่แสนน่ารัก ยังทรงความสำคัญด้านการศึกษาวิวัฒนาการสัตว์โลกที่เก่าแก่ที่สุดย้อนยุคถึง 20 ล้านปี เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดล่าสุดที่กำลังสูญพันธุ์อย่างน่าห่วงที่สุด
สื่อจีนรายงานว่า สัตวแพทย์ในเย่วหยังได้ผ่าซากโลมาหัวบาตรฯสองตัว ระบุว่าโลมาฯสองตัวนี้ถูกใบพัดเครื่องยนต์ตีตาย และที่น่าตกตะลึงมากคือ ขณะที่ผ่าซากโลมาฯตัวที่สอง เจ้าหน้าที่พบลูกโลมาในท้องด้วย
สัตวแพทย์ประจำคณะกรรมการอนุรักษโลมาฯในเย่ว์หยัง ตกตะลึงและอุทาน “ลูกโลมาในท้องซากแม่โลมา ลำตัวยาว 55 เซนติเมตร โต 9 เดือนแล้ว น่าเสียดายจริงๆ!”
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังได้นำซากโลมาหัวบาตรฯสองตัวจากเย่ว์หยังมายังสถาบันชลชีววิทยาในนครอู่ฮั่นเมื่อวันที่ 18 เม.ย.2555 เพื่อผ่าซากตรวจหาสาเหตุการตาย ปรากฎว่าตัวหนึ่งตายเพราะโดนไฟฟ้าแรงสูงที่ใช้ในการจับปลา ส่วนอีกตัวโดนใบพัดเครื่องยนต์ตีตาย
ลุ่มน้ำฉังเจียง หรือแยงซีเกียง แม่น้ำใหญ่อันดับหนึ่ง ของประเทศจีน และอันดับสามของโลก ยาว กว่า 6,300 กม. |
ซากโลมาหัวบาตรฯอีกสองตัวที่ถูกชันสูตรไปก่อนหน้า(17 เม.ย.2555) ปรากฏมีน้ำปนเปื้อนมลพิษสีดำเหนียวๆกลิ่นเหม็นมากไหลออกมาไม่หยุด ผู้เชี่ยวชาญคะเนว่าโลมาฯ สองตัวนี้ตายนานกว่าหนึ่งสัปดาห์แล้ว และเป็นโลมาฯเพศผู้ที่แข็งแรงมาก ความยาวลำตัว 1.56 เมตร และ1.50 เมตร
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญที่สถาบันชลชีววิทยาที่อู่ฮั่น นาย เจิ้ง จิ้น กล่าวว่าการชันสูตรและระบุสาเหตุการตายของโลมาฯเหล่านี้ เป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากซากเน่าแฟะมาก โลมาฯหลายตัวตายจากที่อื่นมาหลายวันและได้ลอยมายังบริเวณทะเลสาบต้งถิง
หลังจากพบซากโลมาหัวบาตรฯนับสิบที่ทะเลสาบต้งถิง ผู้สื่อข่าวจีนก็ได้เดินทางไปที่พิพิธภัณฑ์โลมาของสถาบันชลชีววิทยาแห่งอู่ฮั่น ซึ่งเลี้ยงโลมาหัวบาตรหลังเรียบ 7 ตัว เพื่อเก็บข้อมูลและภาพสัตว์โลกแสนน่ารัก ที่ใบหน้าดูราวมี ‘รอยยิ้ม’ โดยธรรมชาติ
คนท้องถิ่นมักเรียกโลมาหัวบาตรหลังเรียบ ว่า “หมูแม่น้ำ” และเนื่องจากมีจำนวนเหลืออยู่น้อยเต็มที ชาวจีนจึงได้ขนานนามมัน เป็น “แพนด้ายักษ์น้ำ” รัฐบาลจีนได้ขึ้นทะเบียนโลมาหัวบาตรหลังเรียบ เป็นสัตว์คุ้มครองประเภทที่สอง นอกจากนี้ กองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wide Fund for Nature-WWF) ยังรับรองโลมาหัวบาตรหลังเรียบเข้าอยู่ในกลุ่มสัตว์โลก 13 สายพันธุ์ ที่องค์กรให้การคุ้มครองดูแลอย่างเร่งด่วนที่สุด
โลมาหัวบาตรหลังเรียบ ที่พิพิธภัณฑ์โลมาไป๋จี้ |
********************************