วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

"ไอ้เท่ง" ติดท็อป 10 สุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่ของโลก แห่งปี 2009

เรื่อง"ไอ้เท่ง" ติดท็อป 10 สุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่ของโลก แห่งปี 2009 นี้ ผมได้อ่านเจอใน ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ซึ่งเขียนไว้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 คิดว่าเป็ความรู้ที่มีประโยชน์โดยเฉพาะ "ไอ้เท่ง" ซึ่งพบอยู่ในบริเวณป่าชายเลน ที่อ่าวปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช บ้านเรานี้เอง นอกจากนั้นนักดำน้ำอย่างพวกเราก็ยังเคยปลาบางชนิดที่ระบุไว้ เช่น ปลากบไซเซเดลิกา (Psychedelic frogfish) เป็นต้น เลยขอนุญาตคัดลอกนำมาเก็บไว้ในบล็อกนี้ เพื่อจะได้ช่วยเผยแพร่โดยตรงไปอีกทางหนึ่ง

สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น 10 สุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่แห่งปี 2009 (ภาพจาก IISE)

นานาชาติยก "ไอ้เท่ง" ทากทะเลชนิดใหม่ของโลก ที่พบในไทยให้ติด 1 ใน 10 สุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่แห่งปี 2009 พร้อมกับหม้อข้าวหม้อแกงลิงยักษ์ในฟิลิปปินส์ แมงมุมสีทองจากมาดากัสการ์ จากหลายพันสปีชีส์ที่มีรายงานการค้นพบในปีเดียวกัน

สถาบันนานาชาติเพื่อการสำรวจสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ หรือไอไอเอสอี (International Institute for Species Exploration: IISE) มหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต (Arizona State University) สหรัฐอเมริกา และคณะกรรมการนักอนุกรมวิธานนานาชาติ ไดัคัดเลือกสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่จากทั่วโลกกว่าหลายพันสปีชีส์ให้เหลือเพียง 10 สปีชีส์ เพื่อขึ้นบัญชีสุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่แห่งปี 2009 ซึ่งได้มีการประกาศผลการคัดเลือกไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพพอดี และมีสปีชีส์ใหม่ที่พบในไทยได้ติดอันดับโลกด้วย

"คณะกรรมการตัดสินแต่ละคนมีอิสระในการคัดเลือกและกำหนดเกณฑ์การตัดสินของตัวเองจากคุณลักษณะที่แปลกใหม่หรือความจริงที่น่าประหลาดใจ รวมไปถึงชื่ออันแปลกประหลาดของสปีชีส์นั้นๆ" เควนติน วีลเลอร์ (Quentin Wheeler) ผู้อำนวยการสถาบันไอไอเอสอี และนักกีฏวิทยาจากสถาบันชีววิทยาศาสตร์ (School of Life Sciences) เผยไว้ในไลฟ์ไซน์ด็อตคอม

ทั้งนี้ การจัดอันดับ 10 สุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่แห่งปี 2009 ในปีนี้นับเป็นปีที่ 3 แล้ว ซึ่งในจำนวนนั้นมี "ทากทะเล" ชนิดใหม่ของโลก ที่ค้นพบในประเทศไทยรวมอยู่ด้วย โดยสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ทั้ง 10 สปีชีส์ มีดังนี้ (ไม่เรียงอันดับ)

แมงมุมสีทองสปีชีส์ใหม่ที่พบบนเกาะมาดาร์กัสการ์ เป็นแมงมุมสีทองที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และสามารถถักทอใยแมงมุมได้ใหญ่กว่า 1 เมตร (ภาพจาก IISE)

1. แมงมุมสีทองของโคแมค (Komac's golden orb spider) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เนฟิลา โคมาชิ (Nephila komaci) เป็นสปีชีส์แรกในสกุลเนฟิลาที่ถูกกล่าวขานถึงมาตั้งแต่เมื่อปี 1879 แต่เพิ่งจำแนกได้ว่าเป็นแมงมุมสปีชีส์ใหม่ตามหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์และได้รับการตีพิมพ์รายงานการค้นพบเมื่อปี 2009 โดย เอ็ม คุนต์เนอร์ (M. Kuntner) นักวิจัยของสถาบันชีววิทยาแห่งวิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์สโลวีเนียน (Institute of Biology of the Slovenian Academy of Sciences and Arts) และ โจนาธาน คอดดิงตัน (Jonathan Coddington) นักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาสมิธโซเนียน (Smithsonian's National Museum of Natural History)

แมงมุมชนิดนี้สามารถถักทอใยแมงมุมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ใหญ่กว่า 1 เมตร โดยที่แมงมุมตัวเมียที่สร้างใยขึ้นมานั้นเมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดยาวประมาณ 3.8-4.0 เซนติเมตรเท่านั้น ขณะที่แมงมุมตัวผู้มีขนาดเพียง 0.8-09 เซนติเมตร หรือเล็กกว่าราว 5 เท่า มีถิ่นอาศัยอยู่ในมาดากัสการ์ ซึ่งคุนต์เนอร์ตั้งชื่อสปีชีส์ให้ว่า โคมาชิ เพื่อรำลึกถึงแอนเดรจ โคแมค (Andrej Komac) นักวิทยาศาสตร์ผู้ที่เป็นเพื่อนรักที่สุดของเขาที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในระหว่างที่พวกเขากำลังศึกษาวิจัยแมงมุมชนิดนี้

ปลาแดร็กคูลา ตัวเล็กจิ๋ว แต่มีเขี้ยวยาวคล้ายค้างคาวดูดเลือดในตำนาน (ภาพจาก IISE)

2. ปลาแดร็กคูลา (Dracula fish) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แดนิโอเนลลา แดร็กคูลา (Danionella dracula) เป็นปลาน้ำจืดที่พบในแม่น้ำ Sha Du Zup รัฐคะฉิ่น สหภาพพม่า ตัวผู้มีเขี้ยวยาวแหลมคมคล้ายสุนัขหรือค้างคาวดูดเลือดในตำนาน และนี่ยังเป็นการรายงานการค้นพบอวัยวะที่มีลักษณะคล้ายฟัน (oral teeth-like structures) ของสัตว์ในวงศ์ไซพรินิเด (Cyprinidae) หรือวงศ์ปลาตะเพียน ซึ่งเป็นวงศ์ของปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ฟองน้ำเพชฌฆาต ฟองน้ำสปีชีส์ใหม่ที่มีโครงสร้างแตกต่างจากฟองน้ำชนิดอื่นๆ (ภาพจาก IISE)

3. ฟองน้ำเพชฌฆาต (killer sponge) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า คอนโดรคลาเดีย (เมลิเดอร์มา) เทอร์บิฟอร์มิส [Chondrocladia (Meliiderma) turbiformis] อยู่ในวงศ์คลาโดไรซิเด (Cladorhizidae) เป็นวงศ์ฟองน้ำในทะเลลึกที่กินสัตว์เป็นอาหาร มีความหลากหลายสูง พบในทะเลเปิดทั่วไป โดยเฉพาะในมหาสมุทรแปซิฟิก พบครั้งแรกในประเทศนิวซีแลนด์ มีลักษณะพิเศษคือโครงสร้างส่วนของสปิคูลไม่เหมือนฟองน้ำชนิดอื่น (เป็นแบบ trochirhabd spicule)

"ไอ้เท่ง" ทากทะเลสปีชีส์ใหม่ของโลกพบที่ป่าชายเลนในปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช มีตัวสีดำและหน้าตาละม้ายคล้ายกับ "ไอ้เท่ง" ตัวละครในหนังตะลุงของปักษ์ใต้บ้านเรา (ภาพจาก IISE)

4. ไอ้เท่ง (Aiteng) เป็นทากทะเลสปีชีส์ใหม่และวงศ์ใหม่ของโลกด้วย โดยจัดอยู่ในวงศ์ไอเทงกิเด (Aitengidae) ถูกค้นพบเมื่อปี 2009 บริเวณร่องน้ำในป่าชายเลนที่อ่าวปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่นำโดย ดร. ซี สเวนเนน (Dr. C.Swennen) นักวิจัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์ และนายสมศักดิ์ บัวทิพย์ นักวิทยาศาสตร์ จากแผนกชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ไอ้เท่งมีขนาดประมาณ 6-17 มิลลิเมตร ลำตัวมีสีดำ กินแมลงในระยะดักแด้เป็นอาหาร ซึ่งแตกต่างจากทากทะเลวงศ์อื่นๆ ที่มักกินสาหร่ายเป็นอาหาร สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ คล้ายกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั่วๆไป ซึ่งความพิเศษนี้พบได้น้อยมากในทากทะเลที่มีการค้นพบหรือมีการศึกษาอยู่แล้วในปัจจุบัน และทีมวิจัยได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้ว่า ไอเทง เอเตอร์ (Aiteng ater) ซึ่งชื่อสกุล Aiteng ตั้งตามจากชื่อตัวหนังตะลุงของปักษ์ใต้ที่ชื่อ "ไอ้เท่ง" ที่มีลักษณะตัวสีดำและมีตาคล้ายกับสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ ส่วนชื่อสปีชีส์ ater มาจากภาษาลาติน หมายถึง สีดำ (ข้อมูลจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)

ตัวระเบิดเขียว หนอนทะเลชนิดใหม่ สร้างระเบิดเรืองแสงสีเขียวได้ไว้ป้องกันตัวเอง (ภาพจาก IISE)

5. ระเบิดเขียว (Green bombers) พบที่อ่าวมอนเตอเรย์ (Monterey Bay) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า สวิมา บอมบิวิริดิส (Swima bombiviridis) เป็นหนอนทะเลชนิดหนึ่งที่สามารถทิ้งระเบิดเรืองแสงสีเขียวที่ดัดแปลงมาจากอวัยวะส่วนเหงือกเพื่อป้องกันตัวเองจากศัตรูคู่อาฆาต

ปลากบไซเดลิกา ปลากบสปีชีส์ใหม่ หน้าแบนราบ มีสีสันลวดลายชวนเวียนหัว (ภาพจาก IISE)

6. ปลากบไซเซเดลิกา (Psychedelic frogfish) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ฮิสทิโอฟไรน์ ไซเซเดลิกา (Histiophryne psychedelica) ซึ่งเป็นปลากบที่มีรูปลักษณ์อันน่าพิศวงงงงวยที่ดูแล้วชวนประสาทหลอน และมีใบหน้าแบนราบแตกต่างจากปลากบชนิดอื่นๆ พบครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซีย

ปลาไฟฟ้าที่นักวิทยาศาสตร์ใช้เป็นต้นแบบศึกษาการสร้างกระแสไฟฟ้าในร่างกายของสิ่งมีชีวิต (ภาพจาก IISE)

7. ปลาไฟฟ้า (Electric fish หรือ Omars' banded knifefish) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า จิมโนตัส โอมาโรรัม (Gymnotus omarorum) พบในประเทศอุรุกวัยซึ่งตั้งชื่อตามของ โอมาร์ มาคาดาร์ (Omar Macadar) และโอมาร์ ทรูจิลโล-เคนอซ (Omar Trujillo-Cenoz) สองนักวิทยาศาสตร์ผู้ริเริ่มศึกษาการสร้างกระแสไฟฟ้าของปลาในสกุลจิมโนตัส ซึ่งปลาสปีชีส์นี้ถูกใช้เป็นต้นแบบในการศึกษาเกี่ยวกับสรีรวิทยาและการสื่อสารด้วยกระแสไฟฟ้ามาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยก่อนหน้านั้นนักวิทยาศาสตร์ในอุรุกวัยเคยอ้างผิดว่าเป็นปลาสปีชีส์ จิมโนตัส คาราโป (Gymnotus carapo)

หม้อข้าวหม้อแกงลิงของแอทเทนเบอเรอห์ เป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่ใหญ่ที่สุดและใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (ภาพจาก IISE)
8. หม้อข้าวหม้อแกงลิงของแอทเทนเบอเรอห์ (Attenborough's Pitcher) ซึ่งเป็นพืชกินแมลงในกลุ่มหม้อข้าวหม้อแกงลิงสปีชีส์ใหม่ และที่มีขนาดใหญ่ที่สุดประมาณ 30x16 เซนติเมตร หรือประมาณลูกอเมริกันฟุตบอล พบบนยอดเขาวิคตอเรีย (Mount Victoria) บนเกาะพาลาวัน ประเทศฟิลิปปินส์ ได้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เนเพนธีส แอทเทนเบอเรอห์อี (Nepenthes attenboroughii) ตั้งตามชื่อของเซอร์เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ (Sir David Attenborough) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษและผู้นำเสนอข่าวสารความรู้ด้านธรรมชาติวิทยาผ่านสื่อโทรทัศน์ของอังกฤษมาเป็นเวลาหลายสิบปี และเป็นพืชถิ่นเดียวที่คณะกรรมการมีความเห็นว่าพืชสปีชีส์ใหม่ชนิดนี้ควรได้รับการขึ้นบัญชีเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งด้วย

หัวมันแองโกนา พบบนเกาะมาดากัสการ์ มีลักษณะแปลกประหลาดเป็นพวงคล้ายนิ้วมือ จัดเป็นพืชอีกชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (ภาพจาก IISE)
9. หัวมันประหลาดแองโกนา (Angona) พบบนเกาะมาดากัสการ์ เป็นหัวมันที่กินได้ มีลักษณะเป็นพวงคล้ายนิ้วมือ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ไดออสโคเรีย ออเรนจีอานา (Dioscorea orangeana) และจัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง เพราะถูกประชาชนเก็บเกี่ยวไปเป็นอาหารจำนวนมากโดยที่ไม่ได้มีการอนุรักษ์ถิ่นกำเนิดเอาไว้

เห็ดฟัลลิก ลักษณะละม้ายคล้ายกับอวัยวะเพศชาย (ภาพจาก IISE)
10. เห็ดฟัลลิก (Phallic mushroom) เป็นเห็ดสปีชีส์ใหม่ที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายอวัยวะเพศชาย มีขนาดยาวประมาณ 5 เซนติเมตร พบบนเกาะเซาตูเม (São Tome) ในแอฟริกา ได้รับการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ฟัลลัส ดรูเวสซี (Phallus drewesii) เพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.โรเบิร์ต ดรูเวส (Dr. Robert Drewes) นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย (California Academy of Sciences) ผู้อุทิศตนให้กับการศึกษาความความหลากหลายทางชีวภาพในแอฟริกาเป็นเวลามากกว่า 30 ปี

ที่มาข้อมูล : ASTV ผู้จัดการออนไลน์.(2553). Science & Technology. [Online]. Available :http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000071651. [2553.พฤษภาคม 27].
Read more >>

วันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ต่อไปอาจจะไม่มีเต่าให้เราดู

ภาพการหาไข่เต่า ที่นำมาลงนี้ มีเพื่อนส่งอีเมล์มาให้ ไม่ทราบว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไหน ใครเป็นเจ้าของภาพ และที่นำมาลงนี้ไม่มีเจตนาจะว่าหรือประจานบุคคลในภาพแต่อย่างใด เพราะเป็นการทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริตของเขา เหตุผลที่นำมาลงก็เพื่อต้องการสื่อถึง การกินของมนุษย์ที่มากเกินไป จนบางครั้งไม่สมดุลย์กับธรรมชาติ "ตราบใดที่มนุษย์ไม่หยุดกิน(ในสิ่งที่ควรกิน) เราก็จะเห็นภาพเช่นนี้อยู่ร่ำไป"
ต่อไปอาจจะไม่มีเต่า ให้นักดำน้ำอย่างพวกเราดูก็ได้










Read more >>

วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประชุมคณะทำงานบูรณะอนุสาวรีย์สึนามิใต้น้ำ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษาภาคม 2553 เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จ.นครปฐม พันเอกสุชาต จันทรวงศ์ ประธานชมรมกีฬาทางน้ำ ศูนย์กีฬากรมการทหารช่าง อดีตหัวหน้าคณะทำงานก่อสร้างอนุสาวรีย์สึนามิใต้น้ำ เกาะพีพี ได้เรียนเชิญ รศ.ดร.ดวงเดือน ไกรลาศ ดร.กัมปนาท ธาราภูมิ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยา อ.วราภรณ์ ภาราดามิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี ผศ.ศรีศักดิ์ พัฒนวศิน ผู้เชียวชาญด้านสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วย นายพิสิฐ กองลำเจียก และ จ.ส.อ.ธีรวัฒน์ ไล้เลิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำ ร่วมประชุมหารือเบื้องต้นเกี่ยวกับ "การปรับปรุง ซ่อมแซม และบูรณะอนุสาวรีย์สึนามิใต้น้ำ" ที่บริเวณ หน้าหาดสามหาด อ่าวต้นไทร เกาะพีพี จ.กระบี่ ซึ่งขณะนี้ชำรุดเสียหาย อยู่ โดยได้รับมอบหมายจาก นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ อดีตหัวหน้าโครงการฯ ให้เสนองบประมาณและแผนงานในการบูรณะปรับปรุง ให้แล้วเสร็จก่อนจะถึงวันครบรอบ 6 ปีเหตุการณ์สึนามิ ใน 26 ธ.ค.2553 นี้ ซึ่งจะได้เปิดตัวไปพร้อมกับการก่อสร้างอนุสรณ์สึนามิ (บนบก) แห่งใหม่ที่จะสร้างขึ้น




คลิบวีดีโอความเป็นมาของอนุสาวรีย์สึนามิใต้น้ำ




คลิบวีดีโอการชำรุดเสียหายของอนุสาวรีย์สึนามิใต้น้ำ

ในที่ประชุมได้เสนอความเห็นกันโดยคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ เช่น ชีวิตสัตว์และพืชใต้น้ำ การทำปฏิกิริยาของน้ำทะเลกับวัสดุต่างๆ ความยากง่ายในการปฏิบัติการใต้น้ำ และการดูแลบำรุงรักษาในอนาคต ฯลฯ สำหรับในการบูรณะซ่อมแซมและปรับปรุงในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ ต้องพยายามออกแบบหาวิธีการนำคำไว้อาลัยของสถานฑูตต่างๆ ทั้ง 11 ชาติ ลงกลับไปไว้ที่อนุสาวรีย์สึนามิใต้น้ำตามเดิม ทดแทนที่เคยจารึกไว้ในแผ่นอะคลีลิคใส ซึ่งได้ชำรุดเสียหายไป

และที่ประชุมได้ขอความกรุณาให้ ผศ.ศรีศักดิ์ พัฒนวศิน ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ช่วยกรุณาออกแบบร่าง เพื่อนำมาพิจารณาในที่ประชุมครั้งต่อไป เพื่อจะได้รีบนำเสนอไปยัง นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ หัวหน้าโครงการฯ กระทรวงคมนาคม ซึ่ง ผศ.ศรีศักดิ์ฯ แจ้งว่าจะพยายามรีบออกแบบร่างให้แล้วเสร็จก่อน 12 มิถุนายน 2553 ที่จะถึงนี้

Read more >>

วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เกิดปะการังฟอกขาวในอันดามัน


1- 10 พค. 2553 13:40 น.
นายนิพนธ์ พงษ์สุวรรณ นักวิชาการประมงชำนาญการ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากการสำรวจแนวปะการังในฝั่งทะเลอันดามัน เมื่อประมาณช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบปรากฎการณ์ฟอกขาวเกิดขึ้นเกือบทุกพื้นที่ ยกเว้น จ.สตูล และ จ.ตรัง ซึ่งในระหว่างการสำรวจ ทั้งนี้ ในส่วนของฝั่งทะเลอันดามันได้เกิดปรากฎการณ์ฟอกขาวในแต่ละจุดประมาณ 90 % และในกรณีที่เกิดการฟอกขาวดังกล่าวจะมีปะการังเสียชีวิตประมาณ 5 % ส่วนที่เหลือหากสภาวะอากาศและอุณหภูมิลดลง หรือมรสุมเข้ามาเร็วก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ แต่หากอุณหภูมิน้ำยังคงเพิ่มสูงต่อเนื่องโอกาสที่ปะการังฟอกขาวตายก็จะมีสูงมากตามไปด้วย
“ ขณะนี้ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต เริ่มที่จะมีกลุ่มเมฆเข้ามาบดบังแสงแดดบ้างแล้ว และสถานการณ์ดังกล่าวทำให้อุณหภูมิน้ำในทะเลลดลงได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อแนวปะการัง ดังนั้นคาดหวังว่าธรรมชาติจะเข้ามาช่วยรักษาแนวปะการังในฝั่งทะเลอันดามันไว้ได้ และสิ่งสำคัญในการช่วยฟื้นฟูแนวปะการังได้อีกทางหนึ่ง คือ คนจะต้องลดการสร้างมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปล่อยน้ำเสีย การนำนักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมแนวปะการังต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้แนวปะการังอ่อนแอลง ”
สำหรับปะการังที่ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จะเป็นกลุ่มปะการังเขากวาง ซึ่งพบมากในอ่าวภูเก็ต และขณะนี้ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวได้ครอบคลุมบริเวณทะเลอันดามันเกือบทั้งหมด จากการสำรวจพบตั้งแต่หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน และบริเวณตามชายฝั่งของหมู่เกาะตราชัย จ.พังงา บริเวณเกาะใกล้ชายฝั่ง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา มีเกาะผ้า แหลมกลางใหญ่ แหลมกลางน้อย ทั้งนี้สาเหตุหลักมาจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น
2-โดย ทีมข่าวการศึกษา 8 พฤษภาคม 2553, 05:00 น.
เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุด ครอบคลุมทะเลอันดามันเกือบทั้งหมด สาเหตุมาจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น...
ดร.นิพนธ์ พงษ์สุวรรณ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุด ครอบคลุมทะเลอันดามันเกือบทั้งหมด ตั้งแต่หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน และบริเวณตามชายฝั่งของหมู่เกาะตราชัย จ.พังงา และบริเวณเกาะใกล้ชายฝั่ง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา มีเกาะผ้า แหลมกลางใหญ่ แหลมกลางน้อยและคาดว่าใน จ.ภูเก็ต ก็เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวเช่นกัน สาเหตุมาจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น อย่างไร ก็ตาม หากช่วงนี้เกิดมรสุม มีฝนตกก็จะช่วยชีวิตปะการังได้ เพราะจะทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลลดลง สำหรับบริเวณทะเลอันดามัน จะมีพื้นที่ปะการัง ประมาณ 80 ตารางกิโลเมตร
ที่มา :
1.เนชั่นทันข่าว. (2553).อันดามันเจอปัญหาปะการังฟอกขาว อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น . [Online]. Available :http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=447201&utm_source=twitterfeed&utm_medium=twitter. [2553.พฤษภาคม 14 ].
2.ไทยรัฐออนไลน์. (2553).เกิดปะการังฟอกขาว.[Online]. Available :http://www.thairath.co.th/content/edu/81628. [2553.พฤษภาคม 14 ].
ภาพ :
http://www.ertc.deqp.go.th/ern/images/stories/coral_bleaching_th.jpg

ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม
-http://www.sarakadee.com/feature/1999/02/coral1.htm
Read more >>

วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

โครงการ รักพ่อหลวง รวมใจภักดิ์ รักธรรมชาติ ชายหาดระยอง สิ่งแวดล้อมเสม็ด


สถานที่ : จังหวัดระยอง บริเวณชายหาดสวนสน บ้านเพ และท่าเรือหน้าด่านเกาะเสม็ด
วันที่/เวลา : วันเสาร์ที 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เวลา 08.00 – 16.00 น.
แผนงาน : รักษาสภาพแวดล้อม ปลูกจิตสำนึก ฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรทางทะเลของประเทศ
หน่วยงานดำเนินงาน

  1. กองทัพเรือโดย กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ
  2. เทศบาลตำบล บ้านเพ
  3. บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (สำนักกรรมการผู้จัดการและคณะกรรมการร่วมปรึกษา)
  4. บริษัท วงษ์พาณิชย์กล๊าสรีไซคลิ่ง จำกัด
  5. บริษัท แบลคมอร์ส
  6. บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด
  7. ศูนย์กีฬากรมการทหารช่าง ค่ายบุรฉัตร

หน่วยงานร่วมดำเนินงาน

  1. ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (จ.ระยอง)
  2. สถานีวิทยุประมงชายฝั่งทะเล จ.ระยอง
  3. อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าเกาะเสม็ด
  4. อาสาสมัครนักดำน้ำจาก ศูนย์กีฬากรมการทหารช่าง ค่ายบุรฉัตร,กองทัพเรือ, องค์กรต่างๆ
  5. คณะครูอาจารย์ และนักเรียนโรงเรียน 9 แห่งที่อยู่ในเขตพื้นที่ฯ
  6. ประชาชนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวชาวไทย และต่างชาติ
  7. ผู้ประกอบการที่พัก พ่อค้า แม่ค้า บริเวณชายหาดสวนสน-บ้านเพ และชมรมด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ
  8. พนักงานบริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด
  9. ผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ

สื่อต่างๆที่ร่วมดำเนินงาน

  1. นิตยสาร EXPLORE
  2. นิตยสาร TOPGUN
  3. นิตยสาร อสท
  4. สถานีวิทยุกองทัพเรือ
  5. สถานีโทรทัศน์เคเบิ้ลท้องถิ่นนครปฐม-ราชบุรี
  6. สื่อสารมวลชนท้องถิ่น ระยอง
  7. ช่อง 11( NBT)
  8. สื่อทาง INTERNET เช่น ENGINEER DIVER, ดำน้ำศึกษา, กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ

หลักการและเหตุผล
แหล่งทรัพยากรทางทะเลและสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลเป็นมรดกอันล้ำค่าทางธรรมชาติ ที่ได้ก่อกำเนิดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของทรัพยากรสิ่งมีชีวิตมากมายบนโลกใบนี้ อีกทั้งความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเล นำมาดำรงชีพและความป็นอยู่ของคนในสังคม วันนี้แหล่งทรัพยากรทางทะเลของไทยและนานาประเทศกำลังประสบกับปัญหามลภาวะทางทะเล การก่อเกิดขยะในทะเลที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว แนวปะการังถูกทำลาย ส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์แปรเปลี่ยน หลายหน่วยงานเร่งรณรงค์แก้ปํญหา การจัดการขยะ และการสร้างจิตสำนึก ต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่ออนุรักษ์และรักษาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล เช่นชายหาดสวนสน บ้านเพ และความงดงามเกาะเสม็ด ให้คงเป็นมรดกทางธรรมชาติของประเทศไทย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภุมิพลอดุลยเดช และเป็นการสนองต่อความตั้งใจที่พระองค์ทรงทุ่มเทการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด
ดังนั้นบริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด ถือได้ว่าเป็นองค์กรหนึ่งที่ต้องมีส่วนร่วมในการรณรงค์ต่อผู้บริโภค ให้เข้าใจและมีจิตสำนึกต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม รณรงค์ต่อกลุ่มเยาวชน นักศึกษา ประชาชน นักท่องเที่ยวชาวไทย ชาวต่างชาติ องค์กรภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชน สร้างจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศให้คงความงดงาม อุดมสมบูรณ์

ผลการสำรวจจากการที่ได้ร่วมกิจกรรมสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่ผ่านมาพบว่ามีปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์เป็นจำนวนมากอยู่ในทะเล เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของบรรจุภัณฑ์แก้วต่อสังคม ในการรณรงค์นำขวดแก้วกลับมารีไซเคิล และลดปริมาณขวดแก้วที่ถูกทิ้งอยู่ในทะเล กลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิล และประชาสัมพันธ์การรณรงค์หมุนเวียนการใช้ขวดแก้วต่อผู้บริโภค สร้างความเข้าใจในการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์แก้วที่สามารถหมุนเวียนการใช้ได้ไม่สิ้นสุด เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของประเทศในการเป็นผู้นำการดำเนินธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว ใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง

วัตถุประสงค์
1.เพื่อฟื้นฟูจิตสำนึก กระตุ้นเตือนสร้างความตระหนักให้กับนักเรียน เยาวชน ประชาชน นักท่องเที่ยว และองค์กรต่างๆ เล็งเห็นความสำคัญของการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2.เพื่อสนับสนุนและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ในจังหวัดระยอง
3.เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบริษัทฯ กับเทศบาล โรงเรียน ผู้ประกอบกิจการ ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ องค์กรภาครัฐ และเอกชน
4.เพื่อพัฒนาชายหาดสวนสน และเกาะเสม็ดให้มีความสะอาด ตลอดจนกระตุ้นเตือนให้นัก ท่องเที่ยว หรือผู้พบเห็น และผู้ร่วมประกอบกิจการ เกิดความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคม ลดพฤติกรรมการทิ้งขยะบริเวณชายหาด และในทะเล
5.รณรงค์ขวดแก้วไม่ใช่ขยะ ประชาสัมพันธ์ต่อ เยาวชน ประชาชนทราบถึง การนำขวดแก้วกลับมา
ใช้ใหม่ได้ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง คุณภาพคงเดิม 100% เป็นบรรจุภัณฑ์ที่รักษาสิ่งแวดล้อมและช่วย ลดปัญหาสภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน

กิจกรรมและเป้าหมายของโครงการ
1.เพื่อปรับปรุงสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยจัดกิจกรรมเดินรณรงค์ และเก็บขยะชายหาด พร้อมทั้งเก็บ ขยะในทะเลเพื่อปลูกจิตสำนึกสร้างความตระหนักต่อเยาวชน ประชาชน นักท่องเที่ยว
2.เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ บริษัทฯ ที่ใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมเผยแพร่โครงการ Glass Recycle รณรงค์หมุนเวียนการใช้ขวดแก้วเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3.เป็นแบบอย่างต่อองค์กรต่างๆ ในการแสดงถึงความห่วงใยต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมสร้างประโยชน์เพื่อส่วนรวมในสังคมทั้งปัจจุบันและอนาคต
4.เพื่อสร้างเครือข่ายการประสานงานด้านความร่วมมือแบบบูรณาการในการรักษาและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1.สร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทย จังหวัดระยอง องค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบกิจการ และประชาชนในพื้นที่ ที่ได้ร่วมมือกันจัดโครงการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแบบอย่างในการพัฒนาโครงการด้านอื่นๆ ต่อไป
2.ส่งเสริมให้เยาวชน ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ช่วยกันรักษาและปรับปรุงสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
3.ประชาสัมพันธ์ให้องค์กรภาคต่างๆ โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา ประชาชนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวรู้จักการทิ้งขยะให้ถูกที่ และรณรงค์การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะขวดแก้วไม่ใช่ขยะ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
4.สร้างความสัมพันธ์ และสามัคคีอันดีระหว่างผู้ร่วมทำกิจกรรม และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในด้านความตระหนัก ต่อนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศ
5.นักเรียน นักศึกษา พ่อค้า ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่มีจิตสำนึก และความตระหนักมากยิ่งขึ้น
6.สร้างศักยภาพให้ทีมงานในการดำเนินกิจกรรมในครั้งต่อๆ ไป

สมัครดำน้ำอาสาสมัครได้ที่นี่

Read more >>

ภารกิจช่วยฉลามวาฬเกยตื้นที่บางสะพาน

กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง และกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวังฉลามวาฬ
ช่วยฉลามวาฬที่ติดอวนของชาวประมง
และนำปล่อยลงทะเล เมื่อ 10 พ.ค. 2553

หาดดอนสำราญ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งหากินของฉลามวาฬ โดย “วิฑูรย์ บัวโรย” ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง และกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวังฉลามวาฬ จะเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา ให้พิจารณาบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ชุมน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ
จุดชมฉลามวาฬที่หาดดอนสำราญ ถือเป็นแหล่งหากินของฉลามวาฬมาเนิ่นนานแล้ว แต่เมื่อปีที่แล้วฉลามวาฬได้เข้ามาหากินใกล้ชายฝั่งมากจนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม โดยสามารถมองเห็นปลาวาฬที่อยู่ห่างฝั่งไม่เกิน 20 เมตร โดยเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร นายอำเภอบางสะพาน กับกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงได้ เปิดตัวจุดชมฉลามวาฬดังกล่าวอย่างเป็นทางการ
และเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2553 ที่จุดชมฉลามวาฬ หาดดอนสำราญ ชาวประมงแจ้งว่ามีฉลามวาฬขนาดความยาวประมาณ 4-5 เมตร ว่ายมาติดอวน จึงมีการแจ้งขอความช่วยเหลือไปที่นายวิฑูรย์ บัวโรย ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง และกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวังฉลามวาฬ ซึ่งทางกลุ่มอาสาสมัครดูแลฉลามวาฬได้ส่งคนมาช่วยเหลือฉลามวาฬดังกล่าว โดยการตัดอวนที่พันร่างของฉลามวาฬ และปล่อยฉลามวาฬลงสู่ทะเลได้อย่างปลอดภัย
นายวิฑูรย์ บัวโรย กล่าวว่า “เหตุการณ์ที่ฉลามวาฬติดอวนเช่นนี้ หากกลุ่มอาสาสมัครไม่รีบช่วยฉลามวาฬออกจากอวน อาจทำให้ฉลามวาฬตัวนี้ตายได้เพราะตอนที่เราช่วยเขาก็มีท่าทีอ่อนเพลียแล้ว และขอให้พี่น้องชาวประมงคอยระมัดระวังด้วย เนื่องจากบริเวณนี้เป็นแหล่งหากินของฉลามวาฬ ที่จะเข้ามาหากินแพลงตอนที่นี่เป็นประจำทุกปี”
"อยากฝากทุกท่านที่ต้องการมาชมฉลามวาฬด้วยว่าควรชมอย่างระมัดระวังไม่ควรเข้าใกล้เกินไป ทุกคนควรรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาความสะอาด รวมถึงรักษาป่าพรุแม่รำพึง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตแพลงตอนพืช ที่เป็นอาหารที่สำคัญของฉลามวาฬ ปลาทู และสัตว์น้ำวัยอ่อนอื่นๆ และที่ป่าพรุแม่ลำพึงยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ และทางชุมชนกำลังจะเสนอกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขอให้พิจารณาเป็นพื้นที่ชุมน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ แรมซ่าร์ไซด์ (Ramsar site) ต่อไป” นายวิฑูรย์กล่าว
ที่มา :
กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง. (2553). รายงาน: ภารกิจช่วยฉลามวาฬเกยตื้นที่บางสะพาน. ประชาไท.[Online]. Available :
http://www.prachatai.info/journal/2010/05/29400?utm_source=feedburner&utm_medium=feed&utm_campaign=Feed%3A+prachatai+%28%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97+Prachatai.com%29&utm_content=Twitter. [2553.พฤษภาคม 12].
Read more >>

วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

10 ที่ดำน้ำสุดสวย สวรรค์ใต้ทะเลไทย

วันนี้ อ่านในเว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ เห็นคุณ "ตะลอนเที่ยว" ได้เขียนเรื่อง "10 ที่ดำน้ำสุดสวย สวรรค์ใต้ทะเลไทย" เอาไว้เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2553 โดยบอกว่าได้ข้อมูลมาจากทีมประชาสัมพันธ์งาน Thailand Golf & Dive Expo 2010 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 23 พ.ค.2553 นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ลองอ่านดูนะครับ แต่ผมไม่แน่ใจว่า 10 ที่ดำน้ำสุดสวยนี้ ใครเป็นผู้ประเมิน น่าเชื่อถือได้ขนาดไหน ผู้อ่านจะเอาไปอ้างอิงอะไรได้หรือปล่าว หรือทีมประชาสัมพันธ์งานฯ คิดขึ้นมาเอง ท่านผู้อ่านก็ไม่ต้องคิดมากหรอกครับ ลองดูกันว่าตรงใจหรือปล่าว (ผมขออนุญาตคัดลอกจากคุณตะลอนเที่ยวมาเลยนะครับ)


อันดับแรก คือ หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา หมู่เกาะแห่งนี้มี 9 เกาะเดิม และ 2 เกาะใหม่ มีสัญลักษณ์ คือหินเรือใบที่เกาะแปด(สิมิลัน) อันเลื่องชื่อ หมู่เกาะสิมิลันคือหนึ่งในสุดยอดแหล่งดำน้ำลึกของเมืองไทย มีความงดงามติด1 ใน 10 แหล่งดำน้ำลึกยอดนิยมของโลก ในขณะที่จุดดำน้ำตื้นที่สิมิลันก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะแถวบริเวณเกาะสี่ (เมียง)และเกาะแปด ถ้าโชคดีเพียงแค่ดำสน็อคเกิ้ลก็อาจจะได้พบกับเต่าทะเล มาแหวกว่ายเป็นเพื่อนเคียงคู่ไปกับนักท่องเที่ยว

สิมิลันมีจุดดำน้ำเด่นๆ อาทิ แฟนตาซีรีฟ ที่มีกองหินใต้น้ำ 3 ลูก เป็นจุดรวมของปะการัง กัลปังหา และสัตว์น้ำหลากชนิด เกาะปาหยูหรือเกาะเจ็ด ด้านตะวันออกมีทั้งจุดดำน้ำตื้นและน้ำลึก มีทั้งปะการังแข็ง ปะการังอ่อน กัลปังหา และฝูงปลาหลากชนิด หินปูซาหรือหินหัวกะโหลก เป็นเกาะขนาดเล็กซึ่งมีก้อนหินรูปร่างคล้ายหัวกะโหลกอยู่เหนือน้ำ ส่วนใต้น้ำก็แปลกตาด้วยก้อนหินที่มีรูโพรงและมีช่องให้นักดำน้ำตื่นตาตื่นใจ เรือนกล้วยไม้บริเวณเกาะหก มีปะการังอ่อนสวยงามมีถ้ำใต้น้ำหลายแห่ง และมักพบปลาสิงโตและกระเบนธงขนาดใหญ่ เกาะบางูหรือเกาะเก้า และบริเวณหินสันฉลาม ซึ่งเป็นกองหินปริ่มน้ำใกล้เกาะปาหยันหรือเกาะสาม นักดำน้ำมักได้พบกับฉลามครีบเงิน ฉลามเสือดาว และฉลามหูขาว

นอกจากนี้บริเวณ 2 เกาะใหม่ที่ผนวกเป็นหมู่เกาะสิมิลันได้ไม่นานก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โดย เกาะตาชัย เต็มไปด้วยปะการังหลากสีสันและฝูงปลานานาชนิด รวมถึงยังสามารถพบสัตว์ใหญ่อย่าง ฉลามวาฬ ฉลามเสือดาว กระเบนราหู ได้บ่อยครั้ง ส่วน เกาะบอน เต็มไปด้วยปะการังอ่อนขนาดเล็ก และมีโอกาสพบกระเบนราหูได้บ่อยครั้ง ส่วนใครโชคดีจะได้พบกับฉลามครีบดำที่นานจะโผล่มาโชว์ตัวสักที

อันดับ 2 หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา ซึ่งเป็นแหล่งชมปลาการ์ตูนและเต่าทะเลที่หาดูได้ยาก เป็นจุด ดำน้ำที่พบฉลามวาฬบ่อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยจุดดำน้ำลึกอันโดดเด่นอยู่บริเวณ กองหินริเซลิว ซึ่งเป็นกองหินใต้น้ำหลากหลายขนาด ลักษณะคล้ายกับเป็นคอนโดมิเนียม มีสัตว์น้ำเล็กๆ อาศัยอยู่ตามซอกมุมของหิน เช่น ปลากบ กุ้งตัวตลก ม้าน้ำ ทากทะเล ปะการังอ่อนหลากสี บางครั้งคุณอาจได้พบกับฝูงปลาสากยักษ์ และปลากะพงขนาดใหญ่จำนวนมาก

ส่วนจุดดำน้ำตื้น ในบริเวณอ่าวรอบๆ หมู่เกาะสุรินทร์เกือบทุกอ่าวจะเต็มไปด้วยแนวปะการังแข็งที่สมบูรณ์ที่สุดของท้องทะเลไทย เป็นที่อาศัย หากิน หลบภัย และขยายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก ซึ่งนักดำน้ำหลายคนยกให้เกาะสุรินทร์เป็นแหล่งดำน้ำตื้นที่สวยงามที่สุดในเมืองไทย

อันดับ 3 หินม่วง หินแดง หมู่เกาะลันตา จ.กระบี่ เป็นแหล่งดำน้ำที่อุดมไปด้วยธรรมชาติอันสวยงาม เป็นแหล่งปะการังอ่อนหลากสีสัน และมีสัตว์น้ำขนาดใหญ่ อย่าง วาฬ, ฉลามวาฬ และแมนต้าเรย์ รวมถึงกระเบนราหู กระเบนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งยังมีโอกาสพบฉลามเสือดาวนอนหมอบอยู่ตามพื้นทรายหรือพบกับฝูงปลาสากยักษ์ ถ้าโชคดี

อันดับ 4 หมู่เกาะลันตา กับบริเวณเกาะห้า ซึ่งเป็นเกาะหินปูนขนาดเล็ก ก็เป็นอีกหนึ่งจุดดำน้ำขึ้นชื่อ เพราะใต้ผิวน้ำมีถ้ำขนาดใหญ่สลับซับซ้อนกัน เวลาอยู่ในถ้ำแล้วมองออกมาจะเห็นแสงอาทิตย์สาดกระทบผิวน้ำสะท้อนภาพสู่ใต้น้ำงดงามราวสรวงสวรรค์ ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของเกาะห้า มีกองหินขนาดใหญ่และปะการังอ่อนขึ้นอยู่ทั่วพื้นที่ และอาจจะเจอปลาไหลสวนที่มุดอยู่ชูคอออกมาดักอาหารให้นักดำน้ำได้ตื่นเต้นกันพอสมควร

อันดับ 5 หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ที่นี่มีจุดดำน้ำที่น่าสนใจ คือ บริเวณกองหินมูสัง มีลักษณะเป็นแนวกองหินใต้น้ำขนาดใหญ่หลายกองเชื่อมต่อกัน และถูกปกคลุมไปด้วยเหล่าปะการังสีชมพูสดใส มีฝูงปลานานาชนิด มีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กให้ดูกันเป็นจำนวนมาก เกาะคู่ หรือกองหินปิดะ เป็นจุดดำน้ำที่มีโฮกาสได้พบกับฉลามเสือดาว กระเบนราหู รวมทั้งสัตว์เล็กๆ อย่าง ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ หรือปลากบหลากหลายสีสัน ,Shark Point หรือกองหินสันฉลาม เป็นกองหินใต้น้ำที่มีโอกาสพบฉลามได้บ่อยครั้ง

อันดับ 6 เกาะจาบัง หมู่เกาะตะรุเตา จ.สตูล เป็นแหล่งปะการังใต้น้ำเจ็ดสีที่สวยที่สุดจุดหนึ่ง กองหินใต้น้ำต่างๆบริเวณนี้ถูกปกคลุมไปด้วย ปะการังอ่อนสีชมพู สีม่วง สีฟ้า สีแดง ดอกไม้ทะเล ดาวขนนก ฟองน้ำครกขนาดใหญ่ และที่เพิ่มสีสันให้สวยงามขึ้น ก็ได้แก่ ฝูงปลาน้อยใหญ่ แวกว่ายกันอยู่ ไม่ว่าเป็น ปลาการ์ตูน ปลานกแก้ว ปลานกขุนทอง ที่นี่เป็นร่องน้ำลึกที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยว นักท่องเที่ยวที่ดำน้ำควรมีชูชีพ และเกาะเชือกที่ผูกไว้กับเรือไว้ขณะดำน้ำ

อันดับ 7 หมู่เกาะราชา จ.ภูเก็ต ซึ่งประกอบด้วยเกาะราชาใหญ่ และเกาะราชาน้อย จุดดำน้ำของเกาะราชาใหญ่อยู่ที่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเกาะ มีแนวปะการังแข็งปกคลุม แต้มด้วยปลาดาวขนนกสีสด ส่วนเกาะราชาน้อย จุดดำน้ำอยู่ที่หัวเกาะด้านเหนือ เป็นดงปะการังอ่อนและที่อยู่ของฝูงปลานานาชนิด รวมถึงยังเป็นจุดที่สามารถพบปลากบได้อีกด้วย

อันดับ 8 หินหมูสังนอกและหินหมูสังใน จ.ภูเก็ต เป็นที่รู้จักในหมู่นักดำน้ำชาวต่างชาติในชื่อ Anemone Reef และ Shark Point หินหมูสังนอก เป็นดงของดอกไม้ทะเลและปะการังอ่อนที่เกาะหินใต้น้ำเป็นผืน ส่วนหินหมูสังใน เป็นจุดดำน้ำที่มีความหลากหลายของสัตว์ทะเลสูงทั้งปะการัง กัลปังหา ฟองน้ำ ปลาเก๋า ปลาผีเสื้อ ปลาสิงโต รวมถึงฉลามกบ

อันดับ 9 เกาะเต่า-เกาะนางยวน จ.สุราษฎร์ธานี ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในจุดดำน้ำที่สวยงามที่สุดของอ่าวไทย และมีจุดดำน้ำขึ้นชื่อหลายจุด อาทิ หินนางยวน เป็นจุดดำน้ำกลางคืน ที่มักได้พบกับปูและปลาขนาดเล็กจำนวนมาก และเมื่อลงไปถึงก้นทะเลอาจพบปลากระเบนขนาดใหญ่ซุกอยู่ตามซอกตามมุม กองหินขาว บริเวณนี้มีปะการังดำ ดงดอกไม้ทะเล กัลปังหาพัด และปะการังอ่อนหลากสี กองชุมพร เป็นแหล่งชมปลาหมอทะเล ปลาเก๋าตัวใหญ่ ปะการังดำ ฟองน้ำ ถ้วยทะเล อีกทั้งยังอาจได้พบกับฉลามวาฬที่มักวนเวียนอยู่เป็นประจำ กองทรายแดง เป็นจุดชึ้นชื่อในเรื่องของปะการังอ่อนสีสด กัลปังหา และฟองน้ำครก ด้วยระดับน้ำที่ไม่ลึกมากจึงเหมาะสำหรับนักดำน้ำมือใหม่

อันดับ 10 หมู่เกาะช้าง จ.ตราด ซึ่งมีจุดดำน้ำน่าสนใจ คือ เกาะรังและเกาะยักษ์ นอกจากนี้ยังมีตามจุดเรือจมอย่าง เรือจมสุทธาทิพย์ (Hardeep) เรือกลไฟเหล็กของบริษัท Siam Steam Navigation ซึ่งจมอยู่ระหว่างเกาะโรงโขนกับเกาะจวง สภาพของเรือสุทธาทิพย์ในปัจจุบันยังคงทรงรูปเรือสวยงาม สำหรับการดำน้ำที่เรือสุทธาทิพย์ นักดำน้ำสามารถสัมผัสกับความงามของตัวเรือ และสัตว์ทะเลอันหลากหลายได้ เช่น ทากพู่, เต่า, กระเบน และปลาสาก ที่มีอยู่อย่างชุกชุม

ที่มา
ข้อมูล : ASTV ผู้จัดการออนไลน์.(2553). Travel. [Online]. Available :
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9530000061448. [2553.พฤษภาคม 8].
ภาพ :
http://www.asiadivesite.com/thailand-dive-sites/
Read more >>

ชาวประมงกระบี่แห่จับแมงกะพรุนขายสร้างรายได้

กระบี่ - ชาวประมงแห่จับแมงกะพรุนจานขาย สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เฉลี่ยวันละ 1,000-2,000 บาทต่อคน ชาวประมงเผยปีนี้ พบจำนวนมากว่าทุกปี เนื่องจากทรัพยากรมีความอุดมสมบูรณ์
วันนี้ (7 พ.ค.2553 ) ขณะที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลฝั่งอันดามัน จ.กระบี่ นำเรือยางออกตรวจการณ์บริเวณปากอ่าวกระบี่ และบริเวณอ่าวปากบารา ต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง พบชาวประมงนำเรือหางยาวออกไปจับแมงกะพรุนกันเป็นจำนวนมาก โดยจะนำไปขายให้พ่อค้าที่มารับซื้อก่อนนำไปแปรรูปส่งขายประเทศจีน และญี่ปุ่น
แมงกะพรุนที่ชาวประมงตักไปขาย จะเป็นแมงกะพรุนจาน หรือแมงกะพรุนหนัง ซึ่งสามารถรับประทานได้ พบมากในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมทุกปี ในทะเลแถบจังหวัดกระบี่ โดยชาวประมงแต่ละรายจับได้ประมาณ 300-500 ตัวต่อวัน รายได้ดีเฉลี่ยคนละ 1,000-2,000 บาท
นายเกษม วงตาวัน อายุ 40 ปี ชาวประมงบ้านปากบารา ต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ กล่าวว่า ในช่วงนี้ จะมีแมงกะพรุนขึ้นอยู่หนาแน่นบริเวณท้องทะเลกระบี่ เป็นจำนวนมาก ชาวประมงจะออกจับแมงกะพรุนไปขายพ่อค้าที่มารับซื้อ เพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ ซึ่งถือเป็นรายได้ที่สูงมาก แม้ว่าช่วงนี้ราคาจะตกลงมาอยู่ที่ตัวละ 2.5-3 บาท เพราะใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมงก็หาได้เต็มลำเรือแล้วประมาณ 300-500ตัว แต่ละคนมีรายได้เฉลี่ย 1,000-2,000 บาท ต่อวัน และพบว่าปีนี้มีจำนวนมากกว่าทุกปี เนื่องทรัพยากรอุดมสมบูรณ์
ด้าน นายประสิทธิ์ ฤทธิพันธุ์ ชาวประมงจังหวัดระนอง ซึ่งออกล่าแมงกะพรุนเป็นอาชีพหลัก กล่าวว่า ตนตามจับแมงกะพรุนมานาน โดยเริ่มออกจับในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา แมงกะพรุนจะขึ้นมากที่จังหวัดระนอง ต่อมาก็จะเป็นที่จังหวัดพังงา และภูเก็ต ล่าสุดฝูงแมงกะพรุนก็อพยพมาที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งตนติดตามมาตลอดทุกปี ปีหนึ่งๆก็จะหาได้อยู่ประมาณ 6 เดือน ในช่วงที่แมงกะพรุนราคาตัวละ 8-10 บาท ตนมีรายได้สูงสุด เดือนละกว่า 2 แสนบาท โดยใช้เพียงเรือหางยาวลำเดียว และคนงานช่วยตักแมงกะพรุนเพียง 1 คนเท่านั้น
นายเจริญ โอมณี หัวหน้าศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลฝั่งอันดามัน จ.กระบี่ กล่าวว่า สำหรับแมงกะพรุนที่ชาวประมงจับไปขายไม่มีอันตราย ต่างกับแมงกะพรุนไฟ จะพบมากในช่วงเดือนพฤษภาคม ของทุกปี บริเวณท้องทะเลกระบี่ ซึ่งชาวประมงกระบี่จะออกจับขายพ่อค้าเพื่อนำไปแปรรูปส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ในแต่ละปีสร้างรายได้ให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก


ที่มา :
ASTV ผู้จัดการออนไลน์.(2553). ภูมิภาค. [Online]. Available :
http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9530000063149. [2553.พฤษภาคม 8].
Read more >>

วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ดำน้ำจังหวัดชลบุรี


จังหวัดชลบุรีอยู่ใกล้กรุงเทพฯ เพียง 81 กิโลเมตร จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเที่ยวทะเลของครอบครัวคนกรุง และปฐมบทของนักดำน้ำลึกหลายๆคนที่ต้องมาสอบภาคสนามที่นี่ ชลบุรีมีเกาะหาดทรายมากมายให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นที่แสมสาร บางแสน หรือพัทยา และต่างเป็นจุดดำน้ำที่หลายคนอาจไม่เคยคิดมาก่อนว่ามีอะไรให้ค้นหาในใต้ทะเลสีครามแห่งนี้

แสมสาร เป็นแหล่งที่นักตกปลาชื่นชอบขณะเดียวกันนักดำน้ำที่แสวงหาความตื่นเต้นก็ชอบที่จะไต่ระดับความลึกลงไปหาซากเรือจมที่เป็นผลจากสงครามในยุคก่อน

หินหลักเบ็ด หรือหินสันฉลาม จุดดำน้ำนี้ขึ้นชื่อเรื่องความหนาแน่นของปะการังแข็ง กัลปังหา และดอกไม้ทะเลเป็นดงกว้างที่ความลึก 20-45 ฟุต

เกาะนก แนวปะการังของเกาะนกอยู่ที่ด้านใต้ บริเวณนี้มีกัลปังหาพัด กัลปังหาพุ่ม แส้ทะเล ปะการังเขากวาง ปะการังขนนก ฝูงปลานานาชนิดและกระเบนขนาดใหญ่

เกาะจาน เป็นจุดดำน้ำที่มีทั้งปะการังแข็งและปะการังอ่อนหลากสี กัลปังหาพัด กัลปังหาพุ่ม แส้ทะเล นอกจากนี้สามารถพบหอยหลายชนิด รวมทั้งปลาดาวหลากสีสัน

หินเรือดำน้ำ อยู่ทางตะวันออกของเกาะคราม ที่อยู่ในความดูแลของกองทัพเรือราว 800 เมตร หินเรือดำน้ำวางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก คล้ายกับหอสะพานเดินเรือของเรือดำน้ำ แนวตะวันออก ปะการังอยู่ที่ความลึก 15-60 ฟุต ทางตะวันตกเป็นแหล่งกัลปังหาพัด ฟองน้ำ และปะการังแข็ง บางจุดมีกัลปังหารวมตัวกันหนาแน่น หากโชคดีนักดำน้ำอาจพบเต่าทะเลด้วย

เรือจมเพชรบุรีบรามัน (BREMEN) อยู่ห่างจากหินเรือดำน้ำไปทางใต้ราว 3.2 กิโลเมตร เรือจมลงตั้งแต่ปี พ.ศ.2473 เป็นเรือบรรทุกสินค้า มีความยาว 110 เมตร ตัวเรือจมอยู่ในความลึกระหว่าง 40-80 ฟุต บริเวณตะวันออกของปลายเกาะครามด้านใต้ ตัวเรือตั้งอยู่บนพื้นทราย มีร่องรอยความเสียหายค่อนข้างมากจากเหตุระเบิดจนจมลง ดาดฟ้าเรือจะมีปะการังหลายชนิด โดยเฉพาะแส้ทะเล และปะการังพุ่มบางชนิด นอกจากนั้นยังมีปลาอีกหลายชนิด อาทิ ปลาผีเสื้อชนิดต่าง ๆ ปลาหูช้าง ปลาไหลมอร์เรย์ ฝูงปลาสาก ปลากระเบนตัวใหญ่ ซากเรือจมปัจจุบันเป็นที่อาศัยของปะการัง กัลปังหา ฝูงปลานานาชนิด ช่วงเวลาที่จะดำน้ำทะเลบริเวณนี้ คือ เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนพฤษภาคม

เรือสุธาทิพย์ จุดดำน้ำนี้อยู่ทางใต้ของเกาะแสมสาร นับเป็นจุดดำน้ำเรือจมที่ดีที่สุดของอ่าวไทย เรือสุธาทิพย์หรือที่รู้จักกันในหมู่นักดำน้ำต่างประเทศว่า Hardeep เป็นเรือกลไฟเหล็กที่บริษัทเดินเรือไทย จำกัด สั่งต่อขึ้นมาเพื่อใช้บรรทุกสินค้า ซากเรือจมอยู่ที่ความลึก 80-90 ฟุต ผู้ที่จะดำลงไปจึงควรมีประสบการณ์พอสมควร ภายในซากเรือนักดำน้ำจะพบเห็นปลาผีเสื้อ ปลาค้างคาว ปลาเก๋า ปลากระเบน ปลาสาก ปลากระพง แหวกว่ายอยู่เป็นจำนวนมาก

พัทยา เป็นแหล่งดำน้ำลึกที่นักดำน้ำมือใหม่หลายคนต้องพิสูจน์ความกล้าในการสอบดำน้ำในทะเลจริง ข้อควรระวังคือจุดดำน้ำบริเวณพัทยาค่อนข้างตื้น มีความลึกราว 30-50 ฟุต แต่พื้นทะเลเวิ้งว้างจนอาจทำให้นักดำน้ำสับสนหลงทิศได้ นักดำน้ำควรใช้เข็มทิศและไม่ควรไปคนเดียว ไส้กรอก เป็นอุปกรณ์เสริมที่จำเป็นเพราะทะเลบริเวณนี้มีเรือพลุกพล่าน

เกาะล้าน เกาะสาก เกาะครก เกาะริ้น เป็นจุดที่นอกจากจะมีแนวปะการังแล้วยังมีสัตว์น้ำและปลานานาชนิดที่น่าตื่นตาตื่นใจ คือบริเวณถัดออกไปจากแนวปะการัง ราวห้าสิบเมตรจากฝั่ง จะมีสัตว์น้ำหลายชนิดที่หาได้ยากในบริเวณอื่นของทะเลไทย อาทิ ดอกไม้ทะเลหนวดยาว กุ้งดอกไม้ทะเล รวมถึง ปลาผีเสื้อกลางคืน ที่เกาะริ้น มีปลาใหญ่ ฟองน้ำครก และแส้ทะเลจำนวนมาก ส่วนที่เกาะล้านมีหอยเบี้ยให้ดู และอาจพบเต่าทะเลได้ด้วย

นอกจากนี้ที่เกาะสากบริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กองทัพเรือได้จม "เรือหลวงกูด" ซึ่งเคยเป็นเรือที่ใช้ในการลำเลียงกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ ที่ความลึก 33 เมตร เพื่อให้เป็นอุทยานใต้ทะเล สำหรับเป็นจุดสนใจของนักดำน้ำอีกด้วย

หมู่เกาะไผ่ ประกอบด้วย เกาะไผ่ เกาะมารวิชัย เกาะเหลือม เกาะกลึงบาดาล หมู่เกาะนี้อยู่ในอยู่ในความดูแลของกองทัพเรือ อยู่ห่างจากฝั่งพัทยา 23 กิโลเมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำตกปลาที่ดีแห่งหนึ่ง กองทัพเรือได้จัดทำโครงการอุทยานใต้ทะเลเฉลิมพระเกียรติฯ โดยนำเรือหลวงครามไปตั้งเป็นอุทยานใต้ทะเลบริเวณเกาะไผ่ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำอีกแห่งหนึ่งด้วย พัทยามีร้านดำน้ำมากมายให้เลือก สำหรับผู้ที่จะดำน้ำบริเวณแสมสาร สามารถติดต่อร้านดำน้ำจากพัทยา หรือในระยองได้ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเช่าเรือไปเที่ยวตามเกาะต่าง ๆ สามารถเช่าเรือได้ที่บริเวณท่าเทียบเรือพัทยาใต้

การเดินทาง
รถยนต์
จากกรุงเทพฯ นักท่องเที่ยวสามารถใช้ทางหลวงหมายเลข 34 (บางนา-ตราด) ทางหลวงหมายเลข 304 (กรุงเทพฯ-มีนบุรี) ทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) หรือทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์)
รถโดยสารประจำทาง ออกจากสถานีขนส่งเอกมัยไปพัทยา มีบริการตั้งแต่เวลา 05.00 – 21.00 น. รถโดยสารจากสถานีขนส่งหมอชิต มีบริการเวลา 06.30 – 18.30 น

ที่มา
ข้อมูล : กิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ.(2553).การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.[Online]. Available :
http://thai.tourismthailand.org/activities/content-13-1.html. [2553.พฤษภาคม 5 ].ภาพ : http://www.songchaiblog.com/images/pattaya_bay.jpg
Read more >>

ดำน้ำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์


ประจวบคีรีขันธ์เป็นจังหวัดที่นักดำน้ำสามารถจะมาค้นพบความสวยงามของใต้ท้องทะเลได้ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก ถือได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีแหล่งดำน้ำที่มีความหลากหลายใต้ทะเลที่น่าสนใจมากที่สุดแห่งหนึ่งของอ่าวไทยทีเดียว
เกาะจาน นับเป็นแนวปะการังใหญ่และสมบูรณ์มากที่สุดของจังหวัด อยู่ตรงข้ามกับชายฝั่งหว้ากอ อยู่เลยจากอ่าวมะนาว ในอำเภอเมืองไปเล็กน้อย
หินกรูด เป็นดงปะการังบริเวณหาดบ้านกรูด ในอำเภอบางสะพาน ที่อยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 1 กิโลเมตร มีฐานวงรียาวราว 650 เมตร และกว้างราว 200 เมตร เป็นแนวปะการังที่ใหญ่เป็นอันดับสองของจังหวัด และเป็นแนวปะการังกลางน้ำ (Patch Reef) ที่สมบูรณ์ที่สุดและอยู่ใกล้กรุงเทพฯมากที่สุด รอบ ๆ แนวหินด้านนอกเป็นปะการังตาย หิน และพื้นทราย ยิ่งเข้าไปในวงจะพบปะการังมีชีวิตมากขึ้น พร้อมกับปลาชนิดต่าง ๆ เช่น ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง ฉลามหูดำ กระเบนจุดฟ้า และกุ้งพยาบาลลายเส้น อีกทั้งปะการังหลากหลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปะการังก้อน การเดินทาง หาดบ้านกรูดอยู่ห่างจากอำเภอเมือง 87 กิโลเมตร บริเวณกิโลเมตรที่ 383 ของถนนเพชรเกษม เลี้ยวซ้ายตามป้ายบอกทางเข้าไปราว 9 กิโลเมตร ริมหาดบ้านกรูด มีรีสอร์ทมากมาย ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถสอบถามเพื่อเช่าเรือได้
การเดินทาง
รถยนต์ ใช้เส้นทางสายธนบุรี-ปากท่อ ไปยังราชบุรี แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเพชรเกษม ผ่านจังหวัดเพชรบุรี สู่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมระยะทาง 281 กิโลเมตร
รถโดยสารประจำทาง มีรถออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ไปหัวหิน ปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และบางสะพานทุกวัน ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง
ที่มา
ข้อมูล : กิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ.(2553).การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.[Online]. Available :
http://thai.tourismthailand.org/activities/content-14-1.html. [2553.พฤษภาคม 5 ].ภาพ : http://www.thailandoffroad.com/hall/picture%5C242255222265.jpg
Read more >>

ดำน้ำจังหวัดระยอง


ระยอง เป็นจุดดำน้ำตื้นเลียบชายฝั่งตะวันออก ทะเลระยองนับว่าเป็นสถานที่หย่อนใจที่สะดวกมากแห่งหนึ่ง โลกใต้ทะเลระยองแม้จะไม่เลื่องชื่อในด้านความสวยงามของปะการังเท่าที่อื่น แต่ก็นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีของผู้ที่อยากลงไปสัมผัสความสวยงามของดงปะการังน้ำตื้นและฝูงปลาในช่วงปลอดมรสุม ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนเมษายนของทุกปี

เกาะมันนอก เป็นเกาะเล็กชายฝั่งระยองที่ให้สัมปทานแก่เอกชนทำบ้านพักบริการนักท่องเที่ยวเพียงแห่งเดียว เป็นเกาะที่มีหาดทรายขาวละเอียด เกาะมันนอกยังเหมาะสำหรับผู้ที่ริเริ่มจะลงไปสัมผัสโลกใต้น้ำ เพราะที่หน้าเกาะเป็นแนวปะการังเขากวางจำนวนมาก เป็นการเปิดโลกทะเลในน้ำตื้นที่น่าตื่นตาตื่นใจพอสมควรสำหรับมือใหม่ที่เพิ่งจะฝึกดำน้ำ เมื่อติดใจแล้วก็สามารถไปดำน้ำสำรวจ

เกาะมันกลาง ซึ่งมีปะการังรอบเกาะที่สภาพยังคงสมบูรณ์ สำหรับ เกาะมันใน เป็นที่ตั้งของสถานีอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล นักท่องเที่ยวสามารถแวะชมความน่ารักของเต่าทะเล และดำน้ำตื้นที่หน้าเกาะได้ เกาะมันในอยู่ห่างจากแหลมแม่พิมพ์ 5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 30 นาที สามารถเช่าเรือจากแหลมแม่พิมพ์ หรืออ่าวมะขามป้อม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย ฝั่งทะเลตะวันออก โทร. 0-3861-6096, 0-3865-7466

หมู่เกาะมัน อยู่ห่างจากแหลมแม่พิมพ์ 5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 30 นาที สามารถเช่าเรือจากแหลมแม่พิมพ์ หรืออ่าวมะขามป้อมก็ได้

การเดินทาง
รถยนต์ ระยองอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ระยะทาง 220 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ระยะทาง 185 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 36 โดยแยกซ้ายจากถนนสุขุมวิท บริเวณกิโลเมตร 136.5 เส้นทางนี้จะช่วยย่นระยะทางได้ประมาณ 35 กิโลเมตร หรือใช้ทางหลวงหมายเลข 34 และ 3138 โดยผ่านอำเภอบ้านบึง ระยะทาง 179 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีเส้นทางสายบางนา-ชลบุรี-แกลง (ทางหลวงหมายเลข 344) บรรจบกับทางหลวงหมายเลข 3 ห่างจากตัวเมืองระยองประมาณ 40 กิโลเมตร

รถโดยสารประจำทาง มีรถออกจากสถานีขนส่งเอกมัย กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ –บ้านเพ ทุกวัน และกรุงเทพฯ – ระยอง ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ (หมอชิต) รถโดยสารปรับอากาศ บริษัท ระยองทัวร์ โทร. 0 2391 4990 และบริษัท เชิดชัยทัวร์ โทร. 0 2391 2237

ที่มา
ข้อมูล : กิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ.(2553).การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.[Online]. Available :
http://thai.tourismthailand.org/activities/content-15-1.html. [2553.พฤษภาคม 5 ].
ภาพ :
http://www.siamfreestyle.com/images/content_images/attraction_images/ryg/ryg_att490002001.jpg
Read more >>

ดำน้ำจังหวัดชุมพร


ทะเลชุมพรนั้นสวยงามและเหมาะสำหรับการดำน้ำทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก เป็นจุดดำน้ำอีกจุดหนึ่งที่นักดำน้ำไม่ควรจะมองผ่านเลยไป เพราะเป็นจุดดำน้ำที่คงความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล และฝูงปลานานาชนิด ปะการังดำ ดงดอกไม้ทะเลสุดลูกหูลูกตา และฉลามวาฬ ยักษ์ใหญ่ใจดีที่แวะเวียนมาทุกหน้าร้อน โดยเฉพาะเดือนเมษายน จะมีโอกาสพบได้บ่อย

ร้านเป็ดร้านไก่ เป็นจุดดำน้ำที่มีชื่อของทะเลชุมพร เป็นเกาะเล็ก ๆ สองเกาะของอำเภอปะทิว ทั้งสองเกาะนี้ไม่มีคนอาศัยอยู่ มีแต่เพียงนกนางแอ่นเท่านั้น จุดดำน้ำนี้อุดมไปด้วยปะการังดำ สีเหลืองอ่อน สีขาวและสีทอง อีกทั้งยังมีปลาหลากชนิดฝูงใหญ่ ๆ เช่น ปลากล้วยแถบเหลือง ปลาข้างเหลือง เป็นต้น

หมู่เกาะง่าม เป็นจุดดำน้ำที่ขึ้นชื่อของทะเลชุมพร ประกอบด้วยหินหลักง่าม หรือหินแพ เกาะง่ามใหญ่ เกาะง่ามน้อย และเกาะหลักง่าม อยู่ห่างจากฝั่งโดยใช้เวลาเรือวิ่งราว 1 ชั่วโมง ทะเลแถบนี้แม้น้ำจะไม่ใสเหมือนแถบอันดามัน และไม่มีดงปะการังอ่อนสีสดมากเท่า แต่ก็รายล้อมด้วยดงปะการังดำ ที่หาชมได้ยากในจุดดำน้ำอื่นๆ ทะเลชุมพรนับเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลและฝูงปลาจำนวนมาก นักดำน้ำมักพบปลากะพงแดง ปลากะมง ปลาข้างเหลืองฝูงใหญ่ ๆ โฉบเฉี่ยวเวียนว่ายไปมาอยู่เนือง ๆ

เกาะง่ามใหญ่ เป็นหน้าผาสูงชัน ไม่มีหาดให้ขึ้น ด้านตะวันตกของเกาะน้ำจะตื้น นักดำน้ำสามารถพบดงดอกไม้ทะเลหนาแน่น บางแห่งกินอาณาบริเวณกว้าง หากสังเกตให้ดีจะพบว่าในดอกไม้ทะเลส่วนใหญ่เป็นบ้านของปลาการ์ตูนอินเดียนแดง

เกาะง่ามน้อย ที่ถัดมาทางใต้เล็กน้อย ก็มีความหลากหลายของสัตว์ทะเล ที่นี่มีปลาไหลมอร์เรย์ตัวใหญ่ ปลาเก๋า ปลาหูช้าง ปลาผีเสื้อหลากชนิด เวียนว่ายในดงปะการังและดอกไม้ทะเล

หินหลักง่าม มีแนวปะการังวางตัวในแนวเหนือใต้ที่ความลึกราว 40 – 50 ฟุต เป็นดงปะการังซึ่งเป็นที่อาศัยของฝูงปลานานาชนิด รวมทั้งปลากระเบนตัวใหญ่ ๆ และยังพบฉลามวาฬได้บ่อยครั้งอีกด้วย

เกาะหลักง่าม อยู่ทางใต้สุดของหมู่เกาะชุมพร เป็นกองหินโผล่พ้นน้ำที่เป็นจุดดำน้ำลึกที่สวยที่สุดของหมู่เกาะ ห่างจากเกาะง่ามน้อย 3-4 กิโลเมตร จุดดำน้ำอยู่ที่ความลึก 30-70 ฟุต นักดำน้ำสามารถดำวนรอบเกาะได้ รอบเกาะหลักง่ามเป็นดงปะการังดำที่หนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของทะเลไทย มีทั้งสีขาว น้ำตาล และเหลือง

เกาะทะลุ อยู่ตอนใต้ของหมู่เกาะง่าม ตอนเหนือของเกาะมาตรา เป็นเกาะขนาดเล็กที่มีสะพานหินธรรมชาติ ด้านตะวันตกของเกาะมีแนวปะการังขนาดเล็ก ซึ่งเป็นปะการังก้อนขนาดใหญ่กระจัดกระจาย แม้แนวปะการังที่นี่จะเล็ก แต่จุดเด่นของการดำน้ำที่เกาะทะลุ คือจุดดำน้ำที่อยู่ลึกเป็นแหล่งชุมนุมของปลาใหญ่ เช่น ฝูงสลิดทะเล ปลากล้วย บางครั้งอาจพบฉลามหูดำด้วย

เกาะมาตรา อยู่กลางหมู่เกาะชุมพร ใกล้กับหาดทรายรี นับเป็นแหล่งดำน้ำตื้นที่ดีที่สุดในหมู่เกาะชุมพร ปะการังของเกาะมาตรา เป็นแนวยาวตลอดชายฝั่งด้านตะวันตก ส่วนใหญ่เป็นปะการังก้อนและปะการังสมอง ซึ่งนักดำน้ำสามารถพบทากเปลือยขาวจุดดำ ปลาการ์ตูน ปลาสลิดหินขนาดเล็ก

นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือติดต่อดำน้ำได้ที่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร โทร. 0-7755-8144 หรือ ชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท โทร. 0-7756-0245-7

ที่มา
ข้อมูล :กิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ.(2553).การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.[Online]. Available :
http://thai.tourismthailand.org/activities/content-27-1.html. [2553.พฤษภาคม 5 ].ภาพ : http://www.savekohsurin.com/webboard/pixes/2007/Sep/sks97508c356f7861dab61977.jpg
Read more >>

ดำน้ำจังหวัดสุราษฎร์ธานี


ทะเลของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เหมาะสำหรับการดำน้ำลึก มีหลายจุดที่เป็นจุดดำน้ำที่นักดำน้ำจะต้องเดินทางมาสัมผัส เกาะน้อยใหญ่ของเมืองร้อยเกาะวันนี้ กลายเป็นสวรรค์สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่ชื่นชอบการดำน้ำโดยเฉพาะการดำน้ำลึก โดยมากจุดดำน้ำจะอยู่บริเวณเกาะพะงัน เกาะเต่าและเกาะนางยวน ทะเลของสุราษฎร์ธานีแม้จะอยู่ฝั่งอ่าวไทย แต่ก็สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดปี ยกเว้นเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมที่มักมีมรสุมคลื่นลมแรงนักดำน้ำควรหลีกเลี่ยงช่วงดังกล่าว หลังจากนั้นตั้งแต่มกราคมจนถึงเมษายน เป็นช่วงเวลาที่คลื่นลมสงบและอากาศดี เหมาะแก่การดำน้ำในแถบนี้ที่สุดหินใบ อยู่ตอนเหนือของเกาะพะงัน หินใบเป็นจุดดำน้ำที่พบฝูงปลากลางน้ำได้หนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของอ่าวไทย และอาจมีโอกาสพบกระเบนราหูที่เข้ามาโฉบแพลงตอนกินในช่วงหน้าฝนอยู่บ่อย ๆ

เกาะเต่า ถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตนักดำน้ำที่ขึ้นชื่อของอ่าวไทยด้วยมีร้านดำน้ำและโรงเรียนสอนจำนวนมาก รายรอบเกาะเต่ามีจุดดำน้ำหลายจุด จุดที่ขึ้นชื่อสำหรับนักดำน้ำชาวไทย ได้แก่

เกาะหางเต่าหรือเกาะนางยวน เป็นจุดฝึกดำน้ำที่ดีจุดหนึ่งเพราะน้ำนิ่งไม่มีกระแสลมรุนแรง ที่ระดับความลึกเพียง 20-30 ฟุต นักดำน้ำก็สามารถพบปะการังแข็งและฟองน้ำได้

หินนางยวน เป็นจุดดำน้ำกลางคืนที่ดี นักดำน้ำมักจะได้พบปูและปลาขนาดเล็กจำนวนมาก และเมื่อลงไปถึงก้นทะเลอาจพบปลากระเบนขนาดใหญ่ซุกอยู่ตามซอกตามมุม

กองหินขาว อยู่ทางตอนใต้ของเกาะหางเต่า ห่างประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นกองหินพ้นน้ำที่มีปะการังอาศัยอยู่โดยรอบ สามารถชมได้ทั้งการดำน้ำตื้นและน้ำลึก บริเวณนี้มีปะการังดำ ดงดอกไม้ทะเล กัลปังหาพัด ปะการังอ่อนหลากสีกองชุมพร อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะเต่า เป็นแหล่งชมปลาหมอทะเลและปลาเก๋าตัวใหญ่ บริเวณนี้มีปะการังดำ ฟองน้ำและถ้วยทะเล และอาจได้พบฉลามวาฬที่มักวนเวียนอยู่เป็นประจำ

กองตุ้งกู อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเต่า จุดดำน้ำกลางดงดอกไม้ทะเลนี้มีปลาใหญ่มากมายคอยสร้างความเร้าใจแก่นักดำน้ำ ผู้โชคดีอาจได้พบปลาวาฬและฉลามวาฬด้วยกองทรายแดง อยู่ปลายเกาะเต่าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดที่มีชื่อในเรื่องของปะการังอ่อนสีสด กัลปังหาและฟองน้ำครกอยู่เป็นจำนวนมาก ระดับน้ำไม่ลึกมากจึงเหมาะสำหรับนักดำน้ำมือใหม่

ที่มา
ข้อมูล : กิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ.(2553).การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.[Online]. Available :
http://thai.tourismthailand.org/activities/content-28-1.html. [2553.พฤษภาคม 5 ].
ภาพ :
http://www.trippergang.com/images/column_1243006081/is-nangyuan02.jpg
Read more >>

ดำน้ำจังหวัดปัตตานี


ปัตตานี จังหวัดที่อยู่เกือบสุดด้ามขวานของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพฯ ถึง 1,055 กิโลเมตร แต่ทะเลปัตตานีมีจุดดำน้ำลึกที่น่าสนใจและคุ้มค่ากับการเดินทางที่แสนนาน

โลซิน เป็นจุดดำน้ำที่อยู่ตอนใต้สุดของอ่าวไทย และไกลที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ทำให้ต้องเดินทางโดยเรือนอนเท่านั้น แต่ความห่างไกลของโลซิน ทำให้นักดำน้ำได้พบกับความหนาแน่นของปะการังที่สมบูรณ์สูงสุดแห่งหนึ่งของทะเลไทย ทั้งปะการังอ่อน และกัลปังหา เพียงแต่สีสันไม่สดใสเท่าฝั่งอันดามัน หากนักดำน้ำโชคดีอาจจะได้พบกับฉลามวาฬที่แวะเวียนมาบริเวณนี้บ้าง นอกจากนี้ยังมีกระเบนราหู โรนัน และกระเบนนก นักดำน้ำที่ตั้งใจจะเดินทางไปดำน้ำแถบโลซิน ควรเตรียมพร้อมร่างกายให้แข็งแรง เพราะเรือมีโอกาสโดนคลื่นลมแรงได้ ด้วยโลซินเป็นเพียงกองหินพ้นน้ำกลางทะเลลึก ไม่มีอ่าวหลบลม และจุดดำน้ำที่โลซินลึกมาก ความลึกประมาณ 80-100 ฟุต ไดฟ์คอมพิวเตอร์จึงจำเป็นมาก

นักดำน้ำที่สนใจดำน้ำลึกที่เกาะโลซิน สามารถติดต่อบริษัทดำน้ำจากกรุงเทพฯ ได้ หรือ มนุษย์กบไทย โทร.0 2678 7414 0 2286 6827
ที่มา :
ภาพ : http://www.siamfishing.com/board/upload2008/200807/121508048445492.jpg
ข้อมูล : กิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ.(2553).การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.[Online]. Available :http://thai.tourismthailand.org/activities/content-29-1.html. [2553.พฤษภาคม 5 ].
Read more >>

ดำน้ำที่อันดามันเหนือ (หมู่เกาะสุรินทร์)


หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นหมู่เกาะ 5 เกาะ ที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดสำหรับการดำน้ำตื้นชมปะการัง แม้ความรุนแรงของคลื่นยักษ์ ได้ทำลายปะการังที่อ่าวช่องขาด และร่องตอรินลาเสียหายเกือบทั้งหมด แต่ก็ยังมีจุดดำน้ำตื้นหลายแห่งที่ยังคงสภาพที่ดีอยู่ ได้แก่

หินราบหรือหินกอง อยู่ด้านเหนือของเกาะสุรินทร์เหนือ เป็นกองหินที่โผล่พ้นน้ำขนาดเล็ก มีสันหินทอดยาวไปทางทิศตะวันตก ด้านตะวันออกเป็นผาชันลงสู่ความลึกมากกว่า 100 ฟุต หินราบเป็นจุดที่มีนักดำน้ำน้อย บางจุดพบกัลปังหาขนาดใหญ่หลายต้น โดยเฉพาะตอนปลายของหินด้านทิศตะวันออก ตามหินมักมีทากทะเลอาศัยอยู่ หลายชนิดเป็นทากหายากและสีสันสวยแปลกตา จัดเป็นจุดชมทากทะเลที่ดีจุดหนึ่งในหมู่เกาะสุรินทร์ สัตว์พวกกุ้งปูพบอยู่บ้างตามกองหิน เช่น ปูดอกไม้ทะเล เรายังพบหมึกกระดองเป็นประจำ บางครั้งมีฝูงปลากล้วยขนาดใหญ่ผ่านเข้ามา อาจจะได้เจอฉลามบ้างเป็นครั้งคราว มีทั้งฉลามเสือดาว ฉลามครีบเงิน และฉลามครีบขาว มักอยู่ปลายสันหินด้านตะวันออก

เกาะไฟแว๊บหรือเกาะสตอร์ค อยู่ทางทิศตะวันออกของหินราบห่างประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นเกาะเล็ก ๆ ที่มีกระโจมไฟของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือตั้งอยู่บนเกาะ ชาวบ้านเรียกเกาะนี้ว่า เกาะไฟแว๊บ ที่มีแนวปะการังแข็งสมบูรณ์แห่งหนึ่ง โดยเฉพาะด้านทิศตะวันตกของเกาะ ทางด้านเหนือเป็นหลืบหินขนาดใหญ่ เป็นที่อาศัยของสัตว์ทะเลนานาชนิด ความลึกโดยเฉลี่ยบริเวณนี้อยู่ที่ 30-70 ฟุต นักดำน้ำมักพบเต่าทะเลเสมอ นอกจากนั้นยังมีปลาสิงโต รวมทั้งปลากหมึกกระดอง และทากเปลือย

อ่าวจาก อยู่ด้านตะวันออกของเกาะสุรินทร์เหนือ เป็นแนวปะการังในอ่าวใหญ่ ขอบแนวปะการังห่างจากฝั่ง 200-400 เมตร ด้านในเป็นปะการังเขากวาง ปะการังพุ่ม ด้านนอกมีปะการังก้อนเป็นจุด สลับกับดงปะการังเขากวางกว้างใหญ่ และมีปลาสีสวยสลับสีเต็มท้องน้ำ อ่าวจากนั้นอยู่ไกลจากที่พัก ใช้เวลานั่งเรือประมาณ 45 นาที นับเป็นจุดดำน้ำไกลที่สุดแห่งหนึ่งในหมู่เกาะสุรินทร์ จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวน้อย แหล่งดำน้ำจุดนี้จึงยังคงความสมบูรณ์และบริสุทธิ์อยู่มาก

อ่าวสุเทพ เป็นอ่าวใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะสุรินทร์ใต้ มีแนวปะการังยาวถึง 1,200 เมตร ห่างจากฝั่ง 200-500 เมตร หรือมากกว่านั้น ด้านในเป็นปะการังขนาดเล็กปนเศษปะการัง ด้านนอกเป็นปะการังก้อนขนาดใหญ่ขึ้นสลับกับปะการังแผ่นนอนใหญ่มาก ขอบแนวปะการังลาดลงสู่พื้นทราย ความลึกราว 80 ฟุต มีปะการังอ่อนและกัลปังหาน้อยมาก จัดเป็นแนวปะการังขนาดใหญ่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในอ่าวไทย มีปะการังอ่อน หอยมือเสือ ให้คุณได้ชื่นชม พร้อมปลานานาชนิด ส่วนใหญ่เป็นปลาสวยงามขนาดเล็ก

อ่าวเต่า อยู่ที่เกาะสุรินทร์ใต้ เป็นแนวปะการังริมเกาะ กว้าง 50-200 เมตร แนวปะการังหักชันดิ่งลงที่ความลึก 70-80 ฟุต ปะการังขนาดเล็กอยู่ด้านใน ตรงกลางมีปะการังหลากหลาย ขอบแนวปะการังพบปะการังก้อนขนาดใหญ่บ้าง มีปะการังอ่อนและกัลปังหา อยู่เป็นหย่อมในที่ลึก อ่าวเต่าขึ้นชื่อเรื่องเต่า เพราะที่นี่มีเต่ากระว่ายน้ำวนเวียนไปทั่ว นอกจากนี้ยังมีโอกาสพบกระเบนราหูและฉลามวาฬบ่อยครั้ง

อ่าวผักกาด เป็นอ่าวเล็ก ๆ อยู่ถัดจากอ่าวเต่าไป แนวปะการังของอ่าวผักกาด ทอดตัวริมฝั่งกว้างประมาณราว 150 เมตร ก่อนจะดิ่งลงสู่ความลึก 60 ฟุต อ่าวผักกาดเป็นจุดที่มีปะการังหลากหลายสูง ที่แคบ ๆ พบทั้งปะการังก้อน แผ่นตั้ง แผ่นนอน เขากวาง ในดงปะการังนี้อุดมไปด้วยดอกไม้ทะเลและหอยมือเสือ ปลานานาชนิด และเต่าทะเลที่แวะมาเยือนเป็นครั้งคราว

กองหินริเชลิว เป็นภูเขาหินใต้น้ำ อยู่ห่างจากเกาะสุรินทร์มาทางทิศตะวันออกประมาณ 10 กิโลเมตร ที่มีความหลากหลายของสัตว์น้ำและปะการังนานาชนิด จากผิวน้ำสามารถจะเห็นปลาสาก ปลาหูช้าง ที่ระดับยอดหินริเชลิว จะมีฝูงปลาในแนวปะการังทุกชนิด และที่นักดำน้ำชื่นชอบมาก คือ ปลาหมึกกระดอง ที่มักจะอยู่กันเป็นคู่ ที่ระดับน้ำกลางน้ำ มีฝูงปลาล่าเหยื่อหลากหลายที่วนเวียนเข้ามาหาอาหารในบริเวณกองหิน เช่น ปลากะมง ปลาตะคอง ปลาเรนโบว์ ปลารันเนอร์ ปลาอินทรี นักดำน้ำที่มาที่กองหินริเชลิวบ่อยครั้ง มักเฝ้ารออยู่ที่ระดับความลึกประมาณ 30-40 ฟุต เพื่อรอฉลามวาฬ ที่จะเข้ามาหาอาหารอยู่เสมอ บ่อยครั้งมากันคราวละหลายตัว สร้างความตื่นตาตื่นใจให้นักดำน้ำเป็นพิเศษ บริเวณรอบกองหินเต็มไปด้วยสีสันของปะการังอ่อน กัลปังหาสีเหลือง ส้มและแดง และฝูงปลาเล็ก ๆ โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตหลากหลายที่อยู่ในซอก เช่น ปลาสิงโต ปลาแมงป่อง กั้ง ตั๊กแตน ปลาไหลมอร์เรย์หลายชนิด และปลาหมึกยักษ์ เป็นต้น และที่บริเวณความลึกตั้งแต่ 80 ฟุต ลงไปจนถึงระดับ 150 ฟุต เป็นแหล่งกบดานของปลาใหญ่ เช่น ฉลามพันธุ์ต่าง ๆ ปลากระเบน ตลอดจนโรนัน ที่นักดำน้ำพบเห็นได้เสมอ

นักดำน้ำสามารถเช่าเรือหางยาวไปดำน้ำตามเกาะต่าง ๆ ได้บริเวณหน้าอุทยานฯ

การเดินทาง
รถยนต์ จากอำเภอเมืองพังงา ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ไปอำเภอคุระบุรี ก่อนถึงอำเภอคุระบุรี 6 กิโลเมตร กิโลเมตรที่ 721 เลี้ยวซ้ายไปราว 2 กิโลเมตร จะถึงท่าเรือ

รถโดยสารประจำทาง มีรถออกจากสถานีขนส่งสายใต้ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง และบริษัท ลิกไนท์ จำกัด โทร. 0 2435 5016 0 2435 7428

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อยู่ห่างจากฝั่ง 60 กิโลเมตร เรือโดยสารใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง ส่วนเรือเร็วใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ โทร. 0 7649 1378 หรือคุระบุรี กรีน วิว รีสอร์ท โทร. 0 7649 1477 – 8 นักท่องเที่ยวควรติดต่อจองที่พักจากอุทยานฯ ล่วงหน้า และหน้าที่ทำการอุทยานฯ จะมีเรือให้เช่าไปเที่ยวตามเกาะต่าง ๆ

ที่มา :
ข้อมูล : กิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ.(2553).การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.[Online]. Available :
http://thai.tourismthailand.org/activities/content-30-1.html. [2553.พฤษภาคม 5 ].
ภาพ : http://www.maenangkhaow.com/MAENANGKHAOW/images/KR054a.jpg
Read more >>

ดำน้ำจังหวัดกระบี่


ทะเลจังหวัดกระบี่เหมาะสำหรับการดำน้ำทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก น้ำทะเลสีเขียวเข้มของกระบี่ ตัดกับเขาหินปูนตระหง่านทำให้คนหลงรักทะเลมานักต่อนัก กระบี่นอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องหาดทรายและเวิ้งอ่าวที่อยู่ในอ้อมกอดของขุนเขาแล้ว น้ำทะเลใสที่เปิดโอกาสให้แสงแดดส่องลงลึกถึงดงปะการังริมผาใต้น้ำก็เป็นที่เลื่องลือของนักดำน้ำเช่นกัน หากมีโอกาสนักดำน้ำไม่ควรลังเลที่จะได้ไปชมความสวยงามของหินแดงหินม่วงที่นับเป็นจุดดำน้ำสุดยอดแห่งหนึ่งของทะเลไทย

เกาะพีพีดอน ทางด้านใต้เกาะพีพีดอน เป็นจุดดำน้ำแห่งหนึ่งที่แตกต่างจากจุดอื่น ๆ คือหน้าผาหินปูนจะตัดดิ่งลงก้นทะเลจนถึงความลึกที่ 60 ฟุต แล้วค่อย ๆ ลาดลงไปถึง 70 ฟุต นอกจากปะการังหลากสีสันที่ประดับประดาผนังหินปูน ยังมีปลาดาวขนนก กัลปังหา แส้ทะเลและฟองน้ำมากมาย

เกาะบิด๊ะนอก เป็นเกาะเล็กอยู่ห่างจากเกาะพีพีเล ไปทางใต้ประมาณ 1.6 กิโลเมตร ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปะการังที่สวยที่สุดในหมู่เกาะพีพี กองหินขนาดใหญ่กระจัดกระจายอยู่ใต้น้ำ เป็นแหล่งอาศัยของเหล่าปะการังแข็ง ฟองน้ำ กัลปังหา แส้ทะเล ดอกไม้ทะเล ดาวขนนก ดาวมงกุฎหนาม บางครั้งนักดำน้ำอาจได้พบกับฉลามนางฟ้าด้วย น้ำทะเลบริเวณนี้ใสมากจนแสงแดดสามารถส่องลงไปได้ถึงความลึก 80 ฟุต

หินกลาง จุดดำน้ำตื้นระหว่างเกาะพีพีดอน และเกาะไผ่ มีปะการังแข็งเป็นบริเวณกว้างในระดับความลึกน้อยกว่าสี่เมตร แสงแดดส่องถึงจึงเป็นจุดดำน้ำตื้นที่ดีมากจุดหนึ่ง ความรุนแรงของคลื่นยักษ์ แม้จะสร้างความเสียหายแก่แนวปะการังน้ำตื้นที่นี่ได้ระดับหนึ่ง แต่ส่วนมากยังคงสภาพและความสวยงามดังเดิม

หมู่เกาะลันตา ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ 15 เกาะ แบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ หมู่เกาะชายฝั่ง เช่น เกาะไม้งาม เกาะลาปูเล ส่วนที่สอง คือเกาะลันตาใหญ่ ที่มีป่าดิบ น้ำตก และหมู่เกาะห่างไกลฝั่ง ที่ขึ้นชื่อเรื่องน้ำใสและแนวปะการังที่สวยงาม เช่น เกาะรอก เกาะห้าใหญ่ และหินแดงหินม่วงที่เลื่องชื่อ

เกาะรอก อยู่ห่างจากท่าเรือศาลาด่านของเกาะลันตาใหญ่ 30 กิโลเมตร หมู่เกาะรอกมีเกาะรอกนอกและเกาะรอกใน ที่ขึ้นชื่อในเรื่องหาดทรายขาวละเอียดและน้ำทะเลใส แนวปะการังรอบเกาะ ตามร่องน้ำส่วนใหญ่เป็นปะการังก้อน จึงเหมาะสำหรับการดำน้ำตื้นมาก ลึกลงไปนักดำน้ำสามารถพบเห็นปะการังลูกโป่งได้ทั่วไป และยังมีดอกไม้ทะเลและปลาการ์ตูนว่ายวนให้ชมอีกด้วย หาดทรายขาวราวกับแป้งของเกาะรอก ทำให้หลายคนชอบเดินเล่นอยู่ตามชายหาด หากสังเกตจะพบว่าหาดทรายบนเกาะรอกมีรอยเท้าของปูเสฉวนอยู่เต็มหาดโดยเฉพาะในตอนเช้า

เกาะห้าใหญ่ เป็นหมู่เกาะเล็ก ๆ ทางตะวันตกของเกาะลันตาใหญ่ เกาะนี้เป็นโขดหินและทุ่งหญ้าที่ไม่มีน้ำจืด แต่มีอ่าวเล็ก ๆ ให้เรือจอดหลบลมและหาดทรายสั้น ๆ พอเดินเล่นได้ ส่วนใหญ่คนที่ไปเกาะห้ามักไปดำน้ำลึก เพราะใต้ทะเลแถบนี้มีปะการังอ่อนสีสดอยู่หลายจุด หน้าผาด้านตะวันตกที่ดำดิ่งลงไปถึงความลึก 90 ฟุต จะพบปะการังอ่อนและกัลปังหา และบริเวณนี้จะพบฉลามวาฬและเต่ากระเป็นประจำ สิ่งที่น่าสนใจมากของการดำน้ำที่เกาะห้าใหญ่คือ ถ้ำใต้ทะเล ที่ข้างในใหญ่โตกว้างขวาง และถ้ำบริเวณเกาะห้าเหนือ ที่มีทางเข้าเล็กนิดเดียว แต่เป็นปล่องขึ้นไป ในถ้ำมีกุ้งหลายชนิดโดยเฉพาะกุ้งพยาบาลเกาะไหง เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา รอบเกาะมีแนวปะการังน้ำตื้นที่สวยงาม บนเกาะมีรีสอร์ทหลายแห่งให้บริการ

หินม่วงหินแดง เป็นสุดยอดของการดำน้ำในไทย ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของแนวประกรัง ความหลากหลายของสีสันสดใสของสัตว์น้ำใต้ทะเล กองหินทั้งคู่อยู่ทางตะวันตกของเกาะรอก ห่างออกไปราว 28 กิโลเมตร จุดเด่นของการดำน้ำที่หินม่วงหินแดง คือ ปะการังอ่อนหลากสีหลายชนิด ที่หินแดงน้ำตื้นกว่า จึงเห็นสีแดงของปะการังอ่อนและดอกไม้ทะเลเป็นผืนกว้าง ปลาที่ชุกชมบริเวณหินแดงหินม่วง คือปลาสากยักษ์ ปลามง บางครั้งอาจเจอฉลามวาฬ และฉลามเสือดาวด้วย และบางทีอาจพบปลาจิ้มฟันจรเข้ปีศาจที่คอยแฝงตัวตามปะการังอ่อนและปะการังดำ หากดำน้ำกลางคืนอาจได้พบปูแมงมุม ปูลูกกวาดที่ซุกตัวตามปะการังอ่อน

การเดินทาง
รถยนต์ สามารถเดินทางได้หลายทาง

  • จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา กระบี่ รวมระยะทาง 946 กิโลเมตร
  • จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ถึงจังหวัดชุมพร จากชุมพร ใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านอำเภอหลังสวน อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าอำเภอเวียงสระ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4035 ถึงอำเภออ่าวลึก จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 4 อีกครั้ง ถึงจังหวัดกระบี่ ระยะทาง 814 กิโลเมตร

รถโดยสารปรับอากาศ มีรถปรับอากาศชั้นหนึ่ง รถ VIP สายกรุงเทพฯ – กระบี่ ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ทุกวัน ๆ ละ 2 เที่ยว

เรือโดยสาร ไปเกาะลันตาและเกาะพีพี ออกจากท่าเรือเจ้าฟ้า ในตัวเมืองกระบี่ วันละ 2 เที่ยว ใช้เวลา 2 ชั่วโมง นอกจากนั้นยังมีเรือหางยาวให้เช่าไปเที่ยวตามเกาะต่าง ๆ จอดอยู่บริเวณอ่าวนาง ส่วนร้านดำน้ำจะอยู่ริมถนนบริเวณอ่าวนาง


ที่มา :
ข้อมูล : กิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ.(2553).การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.[Online]. Available :
http://thai.tourismthailand.org/activities/content-32-1.html. [2553.พฤษภาคม 5 ].
ภาพ : http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/822/5822/images/island/island0003.jpg

Read more >>

วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ดำน้ำจังหวัดตรัง

จังหวัดตรัง เป็นอีกจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ขึ้นชื่อหลายแห่ง โดยเฉพาะถ้ำมรกต นอกจากนั้นโลกใต้ทะเลก็มีความสวยงามและน่าสนใจไม่แพ้จังหวัดอื่น ที่สามารถดำน้ำทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก
เกาะกระดาน ถือเป็นแหล่งดำน้ำตื้นที่มีชื่อเสียงที่สุดของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม แนวปะการังมีอยู่เกือบรอบเกาะ และมักเห็นปะการังโต๊ะโผล่พ้นน้ำยามน้ำลง
เกาะเชือก อยู่ระหว่างเกาะมุกและเกาะไหง ท้องทะเลแถวเกาะเชือกเป็นแหล่งปะการังอ่อนสีสดใสที่สามารถอยู่ในน้ำตื้น เพราะกระแสน้ำไหลแรงพัดพาอาหารมาให้ นักดำน้ำจะพบปะการังอ่อนสีต่าง ๆ อาทิ สีขาว แดง ชมพูและม่วงที่แต้มสีสันให้ท้องน้ำ ขณะที่ฝูงปลาผีเสื้อคอขาวและผีเสื้อเทวรูปมากมายคอยสลับฉาก หากดำน้ำตื้น นักดำน้ำควรระวังอันตรายจากกระแสน้ำไหลแรง และควรใส่ชูชีพหรือเกาะเชือกไว้ทุกครั้ง
เกาะแหวน เกาะเล็ก ๆ นี้เป็นเขตสัมปทานรังนก บนเกาะไม่มีพื้นราบแต่ใต้ทะเลรอบเกาะมีปะการังสวยและหลากหลายในทุกด้าน ความที่มีนักท่องเที่ยวยังไม่มากนักในแถบนี้ ทำให้ปลาที่อาศัยบริเวณเกาะแหวนนี้ไม่ค่อยกลัวคน
เกาะตะเกียง บางส่วนของดงปะการังน้ำตื้นที่ท้ายเกาะตะเกียงมีความเสียหายจากคลื่นยักษ์ เช่น ปะการังเขากวางเสียหาย แต่ปะการังส่วนใหญ่ยังคงสภาพดีอยู่ นักท่องเที่ยวที่จะไปดำน้ำตามเกาะต่าง ๆสามารถเช่าเรือหางยาวได้จากท่าเรือปากเมง

สำหรับผู้ที่ต้องการดำน้ำแบบ SCUBA สามารถติดต่อได้ที่ ร้าน Sea Moth ที่อยู่ 212/5 ถ.วิเศษกุล ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง โทร. 0 7522 5968-9 โทรสาร 0 7522 5969 , email : seamoth2004@yahoo.com , seamoth2004@hotmail.com , website : www.seamoth.com
การเดินทาง
รถยนต์ ตรังอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 864 กิโลเมตร หากใช้เส้นทางรถยนต์ สามารถไปได้ 2 ทาง คือ
  1. กรุงเทพฯ – สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 653 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 41 สู่อำเภอทุ่งสง ระยะทาง 133 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 403 สู่อำเภอห้วยยอด ระยะทาง 50 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4 อีก 28 กิโลเมตร ถึงจังหวัดตรัง
  2. จากกรุงเทพฯ มาตามทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) ระยะทาง 90 กิโลเมตร และแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) จนถึงชุมพร แยกเข้าระนอง พังงา กระบี่ ตรัง รวมระยะทาง 1,020 กิโลเมตร

รถโดยสารประจำทาง มีรถปรับอากาศและรถธรรมดาให้บริการ จากสถานีรถขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ไปสุราษฎร์ธานีทุกวัน

รถไฟ จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ มีรถด่วนและรถเร็วไปจังหวัดตรังทุกวัน ๆ ละ 2 เที่ยว โดยออกจากกรุงเทพฯ เวลา 17.00 น. และ 18.30 น. ถึงตรัง เวลา 08.00 น. และ 10.15 น. ตามลำดับ

ที่มา :
กิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ.(2553).การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. [Online]. Available :
http://thai.tourismthailand.org/activities/content-33-1.html. [2553.พฤษภาคม 3 ].

Read more >>

ดำน้ำจังหวัดสตูล


สตูล เป็นจังหวัดใต้สุดของฝั่งอันดามัน มีเกาะแก่งใหญ่น้อยและจุดดำน้ำลึกที่น่าตื่นใจทำให้ผู้มาเยือนไม่เคยลืมช่วงเวลาที่เหมาะเดินทางท่องเที่ยว คือระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน

หมู่เกาะตะรุเตา หมู่เกาะโดยรอบตะรุเตาประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ 51 เกาะ มีเกาะขนาดใหญ่ 7 เกาะ โดยสามารถแบ่งเป็นสองหมู่เกาะหลัก คือ หมู่เกาะตะรุเตาและหมู่เกาะอาดัง-ราวี ทะเลสีครามที่โอบรอบเกาะเหล่านี้นับเป็นมรดกทางธรรมชาติอันน่าอัศจรรย์ อุดมด้วยปะการังแข็งและอ่อนหลากสีสัน สัตว์น้ำนานาชนิด และเต่าทะเล ที่ใกล้สูญพันธุ์ด้วย นักท่องเที่ยวที่ต้องการดำน้ำที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา สามารถดำน้ำตื้นได้ที่ เกาะอาดัง เกาะราวี และเกาะจาบัง ที่เกาะจาบังเป็นกองหินพ้นน้ำ รอบหินเป็นแหล่งดำน้ำตื้นที่มีปะการังอ่อนหลายสีและดอกไม้ทะเลที่ความลึกราว 15-30 ฟุต น้ำใสจนสามารถเห็นสีสันหลากหลายของปะการังได้จากผิวน้ำทีเดียว จึงสามารถดำน้ำได้ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึกในที่เดียวกัน นักดำน้ำอาจพบฝูงปลาที่โฉบเข้ามาหากิน เช่น ปลามง ปลาใบหรือกระโทงร่ม จุดดำน้ำลึกแถบเกาะอาดังราวี มีหลายจุด คือ

เกาะสาวัง เกาะปะลัย และเกาะหินซ้อน ทั้งสามจุดนี้คล้ายคลึงกันที่มีปะการังอ่อนต้นใหญ่ สีเหลือง สีขาว และสีชมพู และปลาดาวขนนกสีแดงมากมาย ตามพื้นทรายและหลืบหินจะมีปลาต่าง ๆ เช่น ม้าน้ำ ปลาการ์ตูน ปลากะรัง ปลากบ ปลาจิ้มฟันจรเข้ปีศาจ ปูกุ้งหลากชนิดอาศัยอยู่

หมู่เกาะดง อยู่นอกสุดของหมู่เกาะอาดัง-ราวี เป็นแหล่งปะการังน้ำตื้นและน้ำลึกที่แสนสงบ แต่ละจุดมีสีสันสดใสด้วยปะการังอ่อน ทากทะเลหน้าตาแปลก ๆ Scubanet Terrace เป็นแนวหินใต้น้ำที่ลึกประมาณ 60 ฟุต อยู่กลางทะเลชายขอบของแนวเกาะใหญ่ จุดดำน้ำนี้มีปะการังอ่อนสีขาว ชมพู เหลือง และปลาเล็ก ๆ มากมาย

กองหินแปดไมล์ เป็นกองหินใต้นำที่ความลึก 60 ฟุต มีทั้งหมดสามยอดด้วยกัน ตามยอดมีปะการังถ้วยส้ม ปะการังอ่อนสีเหลือง ดอกไม้ทะเล และสัตว์ต่าง ๆรอบกองหินมักถูกรายล้อมด้วยฝูงปลากลางน้ำมากมาย อาทิ ปลาสาก ปลากะมง ในแนวน้ำลึกใกล้พื้นทะเล มักจะเป็นที่อยู่ของปลากระเบนขนาดใหญ่และฉลามเสือดาว บางครั้งอาจได้พบแขกพิเศษ คือ ฉลามวาฬ กระเบนราหู เต่า และปลาวาฬชนิดต่าง ๆ
นักดำน้ำที่สนใจจะดำน้ำทะเลแถบนี้ ผู้ให้บริการดำน้ำลึกที่หมู่เกาะตะรุเตามีไม่มาก แต่สามารถติดต่อได้จากบริษัทบนชายฝั่งสตูลและบนเกาะหลีเป๊ะ
การเดินทาง
จากท่าเรือปากบารามีเรือโดยสารไปอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ท่าเรืออยู่ห่างจากอำเภอละงู 8 กิโลเมตร เรือออกจากท่าเรือปากบารา เวลา 10.30 น. และ 15.00 น. สำหรับเรือเที่ยวเช้าจะเดินทางต่อไปยังเกาะอาดังและเกาะหลีเป๊ะอีกด้วย

รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง จากพัทลุงไปอำเภอรัตนภูมิ จังหวัดสงขลา ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 แล้วแยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 406 จนถึงแยกบ้านฉลุง จากนั้นแยกขวาเข้าทางหลวง 416 ไปอำเภอละงู และแยกซ้ายไปเข้าทางหลวง 4052 ไปท่าเรือปากบารา

รถไฟ สถานีรถไฟหัวลำโพง มีขบวนรถสายกรุงเทพฯ –ยะลา หรือ กรุงเทพฯ – หาดใหญ่ ให้ลงรถที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ จากนั้นนั่งรถตู้โดยสาร จอดที่ข้างคลินิกหมอสมโภชน์ ใกล้สถานีรถไฟ ไปท่าเรือได้โดยตรง รถจะออกทุกชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น. ส่วนรถโดยสารธรรมดา ออกที่สถานีขนส่งหาดใหญ่ ออกทุก 2 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 06.20 -16.20 น.

รถโดยสารประจำทาง จากสถานีขนส่งสายใต้ มีทั้งรถปรับอากาศและรถธรรมดา กรุงเทพฯ –สตูล วิ่งบริการทุกวัน เครื่องบิน ไม่มีเที่ยวบินบินตรงไปจังหวัดสตูล แต่สามารถใช้บริการเที่ยวบินกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ แล้วต่อรถโดยสารประจำทางจากสถานีขนส่งหาดใหญ่ไปท่าเรือปากบาราได้

หมายเหตุ: นักท่องเที่ยวที่สนใจจะดำน้ำทั้งน้ำตื้นและน้ำลึกสามารถติดต่อร้านดำน้ำที่ให้บริการในจังหวัด ซึ่งมีอยู่มากมายคอยบริการผู้ที่สนใจ

ที่มา :
ข้อมูล : กิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ.(2553).การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. [Online]. Available :
http://thai.tourismthailand.org/activities/content-34-1.html. [2553.พฤษภาคม 3 ].
ภาพ : http://pirun.ku.ac.th/~b5101104/14225362.jpg
Read more >>

ดำน้ำที่อันดามันใต้ (หมู่เกาะสิมิลัน)


จากแผ่นดินใหญ่ทำให้ผืนน้ำที่ล้อมหมู่เกาะสิมิลันเป็นสีฟ้าใสที่น้ำตื้น และทะเลสีครามเข้มที่น้ำลึก เปิดทางให้แสงแดดส่องลึกไปขับสีปะการังอ่อนให้เข้ม เผยโฉมกัลปังหาและฝูงปลาสีสดใสให้สวยยิ่งขึ้น

เกาะตาชัย เป็นจุดดำน้ำตอนเหนือสุดของหมู่เกาะสิมิลัน จุดที่น่าสนใจของเกาะตาชัยอยู่ที่กองหินใต้น้ำทางทิศตะวันตก ตามกองหินเป็นที่อาศัยของปะการังอ่อน กัลปังหา ฝูงปลาหลายชนิด เช่น ปลาสาก ปลาหูช้าง นักดำน้ำชอบแวะเวียนมาที่เกาะตาชัย เพราะมีโอกาสสูงที่จะได้พบกระเบนราหูหรือฉลามวาฬ

เกาะบอน จุดดำน้ำถัดจากเกาะตาชัย แนวปลายแหลมด้านทิศตะวันตก เอียงลงไปถึงความลึกที่ 140 ฟุต ที่เกาะบอนนี้อุดมด้วยสัตว์ทะเลนานาชนิด กัลปังหา ปะการังอ่อน ฟองน้ำขนาดใหญ่ที่ความลึกประมาณ 100 ฟุต บางครั้งอาจพบฉลามครีบขาวและฉลามกบ ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องกระเบนราหู ที่แวะเวียนมาบ่อยครั้ง บางครั้งอาจได้พบปลายักษ์นี้สองสามตัวพร้อมกัน

เกาะหูยง อยู่บริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะหนึ่ง มีแนวปะการังเกาะตัวบนแนวหินและใกล้เคียง ทอดตัวยาวจากระดับผิวน้ำไปจนความลึก 120 ฟุต ด้านที่ตื้นเป็นปะการังแข็ง ส่วนปะการังอ่อน และกัลปังหาอยู่ลึกลงไป ตั้งแต่ความลึก 70 ฟุต เป็นต้นไป อาจพบปลาหลายชนิด เช่น ฉลามกบ ปลากระเบน ปลาสิงโต และกุ้งมังกร แถบนี้มีร่องน้ำและถ้ำใต้น้ำหลายแห่ง

แนวปะการังเลียบชายหาดด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะหนึ่ง แนวปะการังนี้ก่อตัวเป็นแนวยาวขนานตลอดชายฝั่ง ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะหูยง เป็นดงปะการังใหญ่หลากชนิดที่ต้องใช้เวลาชมถึง 2 -3 ชั่วโมง บริเวณนี้น้ำลึก 20-60 ฟุต สามารถดำน้ำได้ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก

หินสันฉลามหรือหินแพ แนวปะการังอยู่ห่างจากเกาะหูยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 3.2 กิโลเมตรเป็นแนวหินที่ยอดเรี่ยน้ำ บริเวณนี้มีต้นกัลปังหาขนาดใหญ่มาก ขึ้นตามก้อนหินและพื้นทรายเป็นระยะ ปนกับปะการังอ่อน ที่ความลึก 70-90 ฟุต อาจพบฉลามเสือดาว มีรายงานว่ามีการพบฉลามวาฬและปลานโปเลียนบ้าง นับเป็นจุดดำน้ำที่ดีอีกจุดหนึ่ง

เบิร์ดร็อค จุดดำน้ำนี้อยู่ทางตอนใต้ของเกาะสี่ จุดดำน้ำเป็นหน้าผาตัดลงไปถึงความลึก 120 ฟุต ลงไปจะมีกัลปังหาขนาดใหญ่ เกาะตามแนวหน้าผา ในระดับลึกลงไปจะพบเต่าและฉลามกบอาศัยอยู่

สโตนเฮนจ์ เป็นแนวหน้าผาใต้น้ำ เพียงแต่อยู่ตอนเหนือของเกาะสี่หน้าผาใต้น้ำนี้อยู่ที่ระดับความลึก 60 ฟุต ถึง 120 ฟุต บริเวณนี้มีกัลปังหากอใหญ่มากมาย ปะการังอ่อน แส้ทะเล และฟองน้ำ ตามโขดหินอาจพบฉลามกบ และฉลามขนาดเล็กอื่น ๆ

ฮันนีมูนเบย์ จุดดำน้ำนี้อยู่ใกล้ชายหาดทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสี่ สามารถดำน้ำได้ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึกเพราะแนวปะการังอยู่ที่ระดับความลึกเพียง 15-70 ฟุต แนวปะการังจะเริ่มจากพื้นราบที่ความลึก 15 ฟุต ก่อนจะค่อยลาดลงไปถึง 70 ฟุต จุดนี้ควรดำน้ำตอนรุ่งเช้าหรือพลบค่ำ เพราะเป็นเวลาที่เหล่าปลานานาชนิดออกมาหากิน

อิสเทิร์นฟร้อน แนวปะการังนี้อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะห้า ใต้ทะเลเต็มไปด้วยก้อนหินน้อยใหญ่ บางก้อนสูงถึง 90 ฟุต ตามก้อนหินเหล่านี้ ถูกประดับประดาด้วยกัลปังหาและแส้ทะเล

สวนปลาไหล อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะห้า เป็นลานทรายกว้างซึ่งเป็นที่อยู่ของปลาไหลขนาดเล็กชนิดหนึ่งชื่อ Garden Eel ที่ขี้ตกใจ

แบทฟิชเบน (หินสามก้อน) แนวปะการังนี้อยู่ทางตอนเหนือของเกาะหก เป็นสวนปะการังแข็งขนาดใหญ่ตั้งแต่ความลึก 30-50 ฟุต มีสีสันของปลาดาวขนนก ฟองน้ำสีแดงสด และปลาดาวสีสวยชนิดอื่นคอยสลับ บางครั้งอาจพบปลาหูช้างอีกด้วย

เรือนกล้วยไม้ เป็นจุดดำน้ำอยู่ทางตะวันออกของเกาะหก เป็นจุดดำน้ำที่สามารถพบแนวปะการังที่สวยงามมากอีกแห่ง เพราะพื้นทะเลเต็มไปด้วยสีสันสดใสของปะการังอ่อน และกัลปังหา ฝูงปลาเล็กปลาน้อยรายล้อมตลอดแนวปะการัง มอร์นิ่ง เอจ แนวปะการังนี้อยู่ห่างจากเกาะเจ็ดมาทางตะวันออก เป็นดงปะการังอ่อนหลากสี กัลปังหา แส้ทะเล ที่ถูกล้อมรอบด้วยปะการังแข็งชนิดต่าง ๆ อยู่ที่ความลึก 30-40 ฟุต แนวปะการังแข็งขยายตัวลงไปถึงความลึก 110 ฟุต

ดีฟซิก แนวปะการังนี้อยู่ทางตอนเหนือของแจ็ด เป็นก้อนหินใหญ่ที่มีกัลปังหาพัด แส้ทะเล ปะการังแข็งชนิดต่าง ๆ ฟองน้ำปกคลุมอยู่ที่ความลึก 40-140 ฟุต จุดนี้จะพบปลาในแนวปะการังหลากชนิด

เกาะแปดเกาะเก้า เป็นอีกบริเวณที่มีจุดดำน้ำที่น่าสนใจหลายจุดให้ได้ชมความงามใต้ทะเล ได้แก่

  • หินหัวกะโหลก อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะแปด เป็นกองหินใต้น้ำที่ความลึก 40-120 ฟุต ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักถ่ายภาพใต้น้ำ เพราะมีหลายมุมสวยงาม เช่น ผนังหินที่มีช่องว่างให้ยื่นหน้าออก ช่องแคบระหว่างผนังหินที่เต็มไปด้วยปะการังอ่อน กัลปังหา ดอกไม้ทะเล ฝูงปลาหลากสีสันทำให้หินหัวกะโหลกเป็นจุดดำน้ำที่ขึ้นชื่อแห่งหนึ่งของสิมิลัน
  • บีคอนบีช (อ่าวกวางเอน) เป็นหาดทรายขนาดย่อมทางตะวันออกของเกาะสิมิลัน บริเวณนี้เป็นผืนทรายใต้น้ำที่ความลึก 18-30 ฟุต ก่อนจะลาดลงไปถึง 100 ฟุต นักดำน้ำสามารถชมปะการังได้ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก เพราะยอดปะการังอยู่ห่างจากผิวน้ำเพียง 10-15 ฟุต อาณาจักรปะการังแข็งเป็นที่อาศัยของฝูงปลานานาชนิด รวมทั้งปลาเก๋าและปลาไหลมอร์เรย์ นักดำน้ำจะได้พบปลาแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา รุ่งเช้าและก่อนค่ำจะเป็นเวลาที่ปลาลอยตัวเหนือแนวปะการังเพื่อล่าเหยื่อ ส่วนตอนกลางคืนเป็นเวลาของกุ้ง ปูเสฉวน
  • เทอเทิล กัลลี่ จุดดำน้ำนี้อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสิมิลัน ตอนเหนือของบีคอนบีช เป็นดงปะการังแข็งหลายสายพันธุ์ที่ชูกิ่งก้านอวดสีสันกัน
  • กองหินแฟนตาซี แนวปะการังนี้อยู่ห่างจากเกาะสิมิลันไปทางตะวันตกเพียง 150 เมตร นับเป็นแนวปะการังที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของสิมิลัน มีก้อนหินใต้น้ำที่ความลึก 30-40 ฟุต ไล่ไปจนถึง 90 ฟุต ระหว่างกองหินเต็มไปด้วยปลาหลากชนิด บางครั้งพบฝูงปลาโนรีนับร้อยตัว หรือกระเบนราหู กัลปังหาขนาดใหญ่เกาะตามหน้าผา สลับสีด้วยปลาดาวสีจัดจ้านชนิดต่าง ๆ
  • คริสมาสต์พ้อยท์ แนวปะการังนี้อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะเก้า ในดงผาหินมีโพรงถ้ำหลายแห่งที่สามารถลอดได้ ตามผนังถ้ำมีดอกไม้ทะเล พืชและสัตว์เล็ก ๆ เกาะเต็มผนังดูสีสันสวยสดใส มีปะการังอ่อนหลายสีและฝูงปลาจำนวนมากว่ายเวียนไปมา
  • เดอะ มอริง แนวปะการังนี้อยู่ห่างจากเกาะเก้ามาทางใต้ราว 300 เมตร มีจุดดำน้ำสองจุด คือที่ความลึก 60 ฟุต และ 40 ฟุต จุดแรกเป็นแอ่งขนาดใหญ่ ที่เป็นบ้านของปะการังอ่อนและเขากวาง อีกจุดหนึ่งเป็นซุ้มประตู โดยมีกัลปังหาพัดอยู่ด้านล่าง และแขวนตัวตามส่วนโค้งของซุ้ม

นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อร้านดำน้ำในจังหวัดภูเก็ตที่มีอยู่เป็นจำนวนมากได้ ซึ่งจะมีบริการทั้งดำน้ำตื้นและน้ำลึก

การเดินทาง
ผู้ที่จะเดินทางไปหมู่เกาะสิมิลัน ต้องลงเรือที่ท่าเรือทับละมุ เพราะจะอยู่ใกล้อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันที่สุด หากมาจากอำเภอเมืองพังงา มีรถโดยสารประจำทาง สายพังงา-ท่าเรือทับละมุ ออกจากสถานีขนส่งพังงา จากอำเภอท้ายเหมืองมีรถสองแถว ท้ายเหมือง-ทับละมุ หรือติดต่อ บริษัท เม็ดทรายทัวร์ มีเรือให้เช่าเหมาลำขนาด 30-60 คน ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง โทร. 0 7644 3276 0 1893 8042 สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการดำน้ำลึก มีเรือ liveaboard มากมายในภูเก็ตที่นำเที่ยวหมู่เกาะสิมิลัน

รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม ไปอำเภอคุระบุรี และก่อนถึงอำเภอคุระบุรี 6 กิโลเมตร บริเวณกิโลเมตรที่ 721 มีทางแยกให้เลี้ยวซ้ายเข้าท่าเรือคุระบุรี ประมาณ 2 กิโลเมตร

รถโดยสารประจำทาง มีรถออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี วันละ 2 เที่ยว เวลา 19.00 น. และ 21.00 น. ใช้เวลาเดินทาง 10 ชั่วโมง บริษัท ลิกไนท์ จำกัด โทร. 0 2435 5016 0 2435 7428

ที่มา :
ข้อมูล : กิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ.(2553). การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. [Online]. Available :
http://thai.tourismthailand.org/activities/content-81-1.html. [2553.พฤษภาคม 3 ].
ภาพ : http://student.nu.ac.th/bigboss/image/island16.jpg

Read more >>