วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2552

World Ocean Conference 2009 (WOC 2009) หาแนวทางบริหารจัดการมหาสมุทร จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


นายสำราญ รักชาติ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำคณะผู้แทนไทย เป็นตัวแทนประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรธรณี กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เข้าร่วมการประชุม World Ocean Conference 2009 (WOC 2009) ณ เมืองมานาโด จังหวัดสุลาเวสีเหนือ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 11 – 15 พฤษภาคม 2552
การประชุมดังกล่าว ประกอบด้วย การประชุมที่สำคัญ คือ การประชุมระดับรัฐมนตรี/เจ้าหน้าที่อาวุโส เพื่อแสวงหาเจตนารมณ์ทางการเมืองในการบริหารจัดการมหาสมุทรในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลของการประชุมจะปรากฏเป็น Manado Ocean Declaration , การประชุม Global Ocean Policy day , การประชุม Coral Triangle Initiative (CTI) Summit และ การประชุมวิชาการ ในเรื่องเกี่ยวกับสมุทรศาสตร์ เทคโนโลยี และนโยบาย
โดยการประชุมระดับรัฐมนตรี/เจ้าหน้าที่อาวุโส เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี/ เจ้าหน้าที่อาวุโส จัดขึ้นเพื่อแสวงหาเจตนารมณ์ทางการเมืองในการบริหารจัดการมหาสมุทรในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการประชุมดังกล่าว H.E. Dr. Susilo Bambang Yudhoyono ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นประธานในพิธีเปิด มีผู้แทนเข้าร่วมประชุม 577 คน จาก 72 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 12 องค์กร รวมทั้ง ธนาคารโลก และธนาคาร เพื่อการพัฒนาเอเซีย (ADB)
การประชุมในครั้งนี้ ได้มีการพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลายเรื่อง อาทิ มหาสมุทรและชายฝั่งกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะที่มีต่อชุมชนชายฝั่ง บทบาทของมหาสมุทรในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวและลดผลกระทบ การเตรียมความพร้อมของชุมชนชายฝั่งเพื่อปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
สาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้คือ ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบและรับรองปฏิญญา Manado Ocean Declaration ซึ่งแสดงเจตนารมย์ทางการเมืองที่ประเทศต่างๆ จะร่วมมือกันในการบริหารจัดการมหาสมุทรในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเนื้อหากล่าวถึงความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมหาสมุทร รวมถึงแนวทางแก้ไข (การปรับตัวและลดผลกระทบ) เพื่อจัดการกับผลกระทบในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีแนวทางที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ ในรูปของโอกาสความร่วมมือระหว่างประเทศที่จำเป็น ได้แก่ การวิจัย การแลกเปลี่ยนข้อมูล การเสริมสร้างศักยภาพ การถ่ายโอนความรู้และเทคโนโลยี การสนับสนุนทางการเงิน และอื่นๆ
Manado Ocean Declaration มีเจตนารมย์ทางการเมืองซึ่งคาดหวังที่จะนำไปสู่การพิจารณาในที่ประชุม Climate Conference ของ UNFCCC ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในเดือนธันวาคม 2552 เพื่อให้โลกเห็นความสำคัญของทะเลและมหาสมุทรที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งที่ผ่านมามักเน้นแต่เรื่องบนแผ่นดิน และมุ่งหวังให้ที่ประชุมเห็นความสำคัญ และมีมาตรการแนวทางการบริหารจัดการมหาสมุทรในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดทำยุทธศาสตร์ในการนำทรัพยากรทางทะเลมาใช้อย่างชาญฉลาดเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ
สำหรับการประชุม Global Ocean Policy Day ได้มีการระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการและองค์กรต่างๆ พิจารณาให้ความเห็นเรื่องบทบาทของมหาสมุทรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยเฉพาะในเรื่องการปรับตัวและลดผลกระทบ เช่น การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พลังงานสะอาดที่ได้จากคลื่น ลม กระแสน้ำ ผลกระทบต่อชุมชนชายฝั่ง การเสื่อมโทรมของชายฝั่งทะเล มลพิษทางทะเล และการจับปลาที่มากเกินควร
การประชุม Coral Triangle Initiative (CTI) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือ 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ติมอร์เลสเต้ ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะโซโลมอน ที่ประกอบด้วย แนวปะการังที่มีพื้นที่ 75,000 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนชนิดปะการังถึง 76% และชนิดปลาในแนวปะการังถึง 37% ของโลก โดยมีประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งธนาคารพัฒนาเอเซีย (ADB) และกองทุนสนับสนุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) ให้การสนับสนุน เพื่อการอนุรักษ์และการบริหารจัดการแนวปะการัง ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน สำหรับประชากรร่วมกันทั้ง 6 ประเทศ 120 ล้านคน
สำหรับการประชุมวิชาการ ในเรื่องเกี่ยวกับสมุทรศาสตร์และทคโนโลยีนั้น ได้มีการรายงานด้วยว่า 90% ของมลพิษในทะเลและมหาสมุทรมาจากบนบก คาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์สร้าง 25% ได้ลงไปสู่ทะเลและมหาสมุทร และยังมีการทำนายด้วยว่า ในปี คศ. 2099 มีการคาดการณ์กันว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยจะสูงขึ้นถึง 59 เซนติเมตร ซึ่งย่อมจะมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างมากแน่นอน
ที่มา : ข่าวมกลุ่มสื่อสารองค์กร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โทรศัพท์/โทรสาร ๐ – ๒๒๙๘ – ๒๐๒๐

ไม่มีความคิดเห็น: