ปลาใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดโตเต็มที่อาจยาวเกิน 12 เมตร น้ำหนักเกิน 11 ตัน ฉลามวาฬพบได้ทั่วโลก แต่มีเพียงทะเลบางแห่ง...บางแห่งเท่านั้น ที่พบเขาชุกชุม จนกลายเป็นตำนานเล่าขานถึงปลาใหญ่สุดที่มวลมนุษยชาติได้รู้จัก เมื่อพ.ศ.2467 กลางอ่าวไทย ฉลามวาฬขนาดยาวเกิน 15 เมตรถูกจับได้ ตลอดประวัติศาสตร์หลายพันปีของมนุษย์ เราไม่เคยพบปลาตัวไหนใหญ่กว่านั้น...อีกแล้ว
ลำดับทางอนุกรมวิธาน
-Phylum Vertebrata
-Class Chordata
-Order Orectolobiformes
-Family Rhincodontidae
-Genus Rhincodon
-Sciencetific name Rhincodon typus
-Phylum Vertebrata
-Class Chordata
-Order Orectolobiformes
-Family Rhincodontidae
-Genus Rhincodon
-Sciencetific name Rhincodon typus
ชื่อไทย ฉลามวาฬ หัวบุ้งกี๋
ชื่อสามัญ Whale shark
ฉลามวาฬ ( Whale shark - Rhincodon typus ) เป็นสัตว์เลือดเย็นในพวกปลากระดูกอ่อน กลุ่มปลาฉลาม เป็นชนิดเดียวใน Family Rhincodontidae และอยู่ใน Order Orectolobiformes ร่วมกับฉลามเสือดาว ( leopard shark - Stegostoma fasciatum ) และ ฉลามขี้เซา ( Nurse shark - Nebrius ferrugineus )
ฉลามวาฬ ใช้เหงือกในการหายใจ มีช่องเหงือก 5 ช่อง มีครีบอก 2 อัน ครีบหาง 2 อัน และครีบก้น(หาง) 1 อัน หางของฉลามวาฬ อยู่ในแนวตั้งฉาก และโบกไปมาในแนวซ้าย-ขวา แตกต่างจากสัตว์เลือดอุ่นในทะเลที่หางอยู่ในแนวขนานและหายใจด้วยปอด อาทิ วาฬ โลมา พะยูน เป็นต้น
ฉลามวาฬเป็นปลาและสัตว์เลือดเย็นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กิน plankton เป็นอาหารเช่นเดียว กับกระเบนราหู ( Manta ray - Manta brevirostris ) แต่มีวิธีการกินที่แตกต่างกันออกไป โดยฉลามวาฬจะว่ายเข้าหาฝูง plankton แล้วอ้าปากหุบน้ำ เข้าไปจากนั้นก็จะใช้ซี่เหงือกกรอง plankton ไว้ ขณะที่ manta จะอ้าปากให้น้ำผ่านตลอดเวลา
ลักษณะของฉลามวาฬที่แตกต่างจากฉลามที่เรารู้จักกันคือ หัวที่ใหญ่โตมากเมื่อเทียบกับขนาดลำตัว และปากที่อยู่ด้านหน้าแทนที่จะอยู่ด้านล่าง ลักษณะการกินอาหารไม่ใช่ปัจจัยที่นักวิทยาศาสตร์ใช้แบ่งฉลามวาฬออกจากฉลามตัวอื่นๆ เนื่องจากยังมีฉลามอีก 2 ชนิดที่ กิน plankton เป็นอาหารแต่อยู่คนละ order กับฉลามวาฬ
วงจรชีวิต ฉลามวาฬเป็นสัตว์ที่มีวงจรชีวิตลึกลับ เท่าที่มีรายงานทราบว่าฉลามวาฬมีอายุยืนมาก จากรายงานของประเทศออสเตรเลียพบว่าฉลามวาฬจะเริ่มสืบพันธุ์ เมื่ออายุ 30 ปี หากเปรียบเทียบช่วงอายุการสืบพันธุ์กับฉลามอื่นใน Order เดียวกันแล้ว พบว่าฉลามวาฬอาจมีอายุถึง 100 ปี ไม่เคยมีใครเห็นฉลามวาฬผสมพันธุ์ในน้ำ แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นในทะเลลึกนอกจากนี้เรายังไม่ทราบแน่ชัดฉลามวาฬออกลูกเป็นตัวหรือเป็นไข่
ในปีค.ศ. 1953 มีเรือประมงลากอวนได้ไข่ของฉลามวาฬ ขนาด 35 เซนติเมตรขึ้นมาได้จากระดับความลึก 55 เมตร ภายในมีตัวอ่อนฉลามวาฬ แต่เราก็ยังไม่แน่ใจว่าฉลามวาฬออกลูกเป็นไข่ เนื่องจากว่าหลังจากนั้นไม่เคยมีใครเห็นไข่ฉลามวาฬอีกเลย
นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าฉลามวาฬออกลูกเป็นตัว (ไข่ฟักตัวในท้องแม่ แล้วออกมาเป็นตัวข้างนอก) สันนิษฐานว่า ฉลามวาฬ 1 ตัวอาจมีไข่มากว่า 100 ฟอง ในรังไข่ อย่างไรก็ตาม สมมุติฐานนี้ก็ยังไม่มีการยืนยัน
บางท่านอาจสงสัยว่า ทำไมไม่เทียบกับฉลามอื่นๆใน Order เดียวกัน คำตอบก็คือ ฉลามในกลุ่มเดียวกันนั้นออกลูกได้ทั้งเป็นตัว(ฉลามขี้เซา) และเป็นไข่(ฉลามเสือดาว) เรื่องที่น่าประหลาดอีกเรื่องก็คือ ฉลามวาฬ เกือบทั้งหมดที่พบมีขนาดใหญ่กว่า 3.5 เมตร มีเพียง 3 ครั้ง เท่านั้นที่พบขนาดเล็กกว่านั้น คือมีขนาด 60 เซนติเมตร 1.3 เมตร และ 3 เมตร
การแพร่กระจาย ฉลามวาฬมีการแพร่กระจายในทะเลเขตร้อนทั่วโลก ยกเว้นทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยน ฉลามวาฬมักอาศัยอยู่ในบริเวณที่น้ำมีอุณหภูมิ 21-26 องศาเซลเซียส โดยมีการแพร่กระจายสัมพันธ์กับกระแสน้ำอุ่นในบางบริเวณ ฉลามวาฬมักพบในเขตที่มวลน้ำอุ่นปะทะกับน้ำเย็นและ มี plankton มาก ในบริเวณน้ำผุด ( กระแสน้ำด้านล่างพัดปะทะแนวหินแล้วพัดพาเอาธาตุอาหารจากพื้นขึ้นสู่มวลน้ำด้านบน - Upwelling )
นอกจากนี้หลายคนเชื่อว่าฉลามวาฬมีการอพยพย้ายถิ่นแต่ยังไม่มีแนวทางแน่นอนว่าเป็นแนวทางใด ฉลามวาฬในเมืองไทยส่วนใหญ่พบตามกองหินใต้น้ำในบริเวณทะเลเปิด มีความลึก 30 เมตรขึ้นไป อาทิ ริเชลิว หินม่วง หินแดง กองตุ้งกู โลซิน ฯลฯ จุดที่เชื่อกันว่าพบฉลามวาฬบ่อยที่สุดคือ ริเชลิว มีความเป็นไปได้ในเรื่องการอพยพของฉลามวาฬในระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร อาทิ พบว่ามีการอพยพของฉลามวาฬจากเกาะปาปัวนิวกีนีลงมาตามชายฝั่งด้านตะวันออกของแนวปะการัง great barrier reef
การล่าฉลามวาฬในต่างประเทศ ชาวประมงต้องการเพียงแค่ซึ่งมีราคาสูงที่สุด ครีบและหางจะถูกนำมาตากแห้ง ก่อนแล่แล้วส่งโรงงานทำเป็น “หูฉลาม” บางครั้งชาวประมงแล่เอาครีบและหางกลางทะเล ก่อนปล่อยให้ซากศพจมสู่พื้นทะเล เนื้อส่วนท้องของฉลามวาฬจะถูกชำแหละเป็นชิ้น เนื้อส่วนนี้จะถูกนำไปทำเป็น “ฉลามเต้าหู้” ส่วนเครื่องในของฉลามวาฬ เช่น ตับ จะถูกนำส่งโรงงานไปทำน้ำมันตับปลา ใส่แคปซูลไปให้คนกินทั่วโลก แต่ไม่ใช่เฉพาะฉลามวาฬเท่านั้นที่มีตับ ปลาอื่นก็มี และยังมีอีกหมื่นอีกแสนปลาที่เป็นอาหารของพวกเราโดยตรง ไม่จำเป็นต้องฆ่าฉลามวาฬเพียงเพื่อหวังตับและครีบ
เหตุการณ์ทั้งหมดไม่ได้เกิดในทะเลไทย ประมงไทยยังนับถือฉลามวาฬเหมือนเจ้าพ่อ หรือตัวนำโชคแต่ฉลามวาฬเป็นสัตว์อพยพ มีการเดินทางจากทะเลหนึ่งไปอีกทะเลหนึ่ง เขาไม่รับรู้รับทราบกับการแบ่งขอบเขตประเทศของมนุษย์แม้แต่น้อย
หลายสิบปีผ่านไป ฉลามวาฬยังคงอยู่คู่ทะเลไทย พบชุกชุมที่หินริเชลิว ฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดพังงา ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน บริเวณหินม่วง-หินแดง ในเดือนมกราคม ฯลฯ รวมทั้งข้อมูลที่พบทั่วไปในอ่าวไทย เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี หินเพลิง จังหวัดระยอง หินแพ จังหวัดชุมพร ฯลฯ นักดำน้ำต่างพากันลงทะเล ยอมเสียเงินหลายหมื่นบาท บางคนลงทุนข้ามโลกมา เพื่อเพียงได้เห็น ได้มีโอกาสว่ายน้ำเคียงคู่กับปลาใหญ่ที่สุดในโลกสักครั้งในชีวิต ข้อมูลจากการสำรวจขั้นต้น ฉลามวาฬหนึ่งตัวที่หินริเชลิว ทำรายได้ให้ประเทศไทยประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี
บริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก มีชาวประมงและนักดำน้ำเจอกันเป็นประจำในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งฉลามวาฬส่วนใหญ่จะเข้ามากินอาหาร ได้แก่ พวกลูกกุ้ง เคย เนื่องจากมีความชุกชุมมากในช่วงนี้ จากการสอบถามคุณวิเชียร สิงห์โตทอง ประธานชมรมธุรกิจท่องเที่ยว บอกว่าในปี พ.ศ. 2546 เจอฉลามวาฬ 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2546 มีความยาวประมาณ 8 เมตร ที่บริเวณเกาะรัง จังหวัดตราด ความลึกของน้ำประมาณ 30 เมตร และเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2546 พบบริเวณหินเพลิง จังหวัดระยอง ความยาวลำตัวประมาณ 7-8 เมตร พบที่ความลึกของน้ำประมาณ 30 เมตร และจากการสอบถามชาวประมงเรือไดหมึก พบฉลามวาฬเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูหนาว (ตุลาคม-กุมภาพันธ์) บริเวณเกาะทะลุ และบริเวณหมู่เกาะมัน ที่ความลึกของน้ำประมาณ 15-17 เมตร ในปีพ.ศ.2548 คืนวันที่ 22 พฤษภาคม 2548 คุณวิเชียร สิงห์โตทอง พบปลาฉลามวาฬเพศเมีย ความยาวลำตัว 4.5 เมตร น้ำหนัก 480 กิโลกรัม เข้ามาเกยตื้นที่บริเวณหาดแหลมแม่พิมพ์ จังหวัดระยอง ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ชาวบ้านและชาวประมงในบริเวณนั้นช่วยกันผลักให้ฉลามวาฬลงทะเลไปได้ แต่ฉลามวาฬอาจได้รับบาดเจ็บหรือป่วย เช้าวันที่ 23 พฤษภาคม 2548 ก็พบว่าได้เสียชีวิตแล้ว ซากของฉลามวาฬได้นำไปผ่าพิสูจน์ปรากฏว่าไม่พบอาหารในกระเพาะเลย คาดว่าน่าจะป่วยหรือได้รับบาดเจ็บจนว่ายน้ำ ไม่ไหว
ข้อมูล : การจัดองค์ความรู้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (http://km.dmcr.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=99:2009-02-17-04-13-13&catid=93:2009-02-16-08-37-08&Itemid=28)
1 ความคิดเห็น:
อยากดูมั้งจัง
แสดงความคิดเห็น