วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

“วาฬสีน้ำเงิน” เจ้าสมุทรที่ใกล้สูญพันธุ์

วาฬสีน้ำเงินขณะล่า "กริลล์" (BBC News)
แม้เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งครองผืนน้ำในมหาสมุทรทั่วโลก และมีขนาดใหญ่โตไม่น้อยกว่าตึก 8 ชั้น แต่ “วาฬสีน้ำเงิน” เกือบต้องสูญพันธุ์ไปจากโลกสีน้ำเงิน จากมนุษย์ที่ไล่ล่าอย่างหนักในช่วง 2-3 ศตวรรษที่ผ่านมา

“วาฬสีน้ำเงิน” (Blue Whale) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุด และอาจเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งอาศัยอยู่บนโลกนี้ แม้กระทั่งไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งเคยครองแผ่นดินบนโลกยังมีขนาดเล็กกว่าวาฬชนิดนี้ เคยมีผู้พบเห็นวาฬสีน้ำเงินขนาดยาวถึง 33 เมตร หนัก 190 ตัน แต่โดยทั่วไปจะพบวาฬที่มีขนาดเล็กกว่านี้ โดยมีขนาดเฉลี่ย 25-26.2 เมตร หนัก 100-120 ตัน

ข้อมูลจากเนชันนัลจีโอกราฟิกระบุว่า เฉพาะลิ้นของวาฬสีน้ำเงินอย่างเดียวก็หนักเท่าๆ กับช้างตัวหนึ่ง ส่วนหัวใจมีขนาดพอๆ กับรถยนต์คันหนึ่งเลยทีเดียว
วาฬหลังค่อมตีลังกากลางน้ำ

ในช่วงศตวรรษที่ 20 วาฬสีน้ำเงินถูกล่าจนเกือบจะสูญพันธุ์ กระทั่งช่วงกลางทศวรรษ 1960 ได้เริ่มมีการปกป้องวาฬชนิดนี้ และเร็วๆ นี้ประมาณว่า เหลือวาฬสีน้ำเงินในซีกโลกใต้อยู่ประมาณ 2,300 ตัว อีกทั้งมีหลักฐานว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นปีละ 7% แต่ยังไม่มีการประมาณจำนวนวาฬชนิดนี้ที่ดีพอในบริเวณอื่นของโลก

ถึงอย่างนั้น บีบีซีนิวส์ระบุว่า มีหลักฐานประชากรวาฬสีน้ำเงินเพิ่มจำนวนขึ้นในแอตแลนติกเหนือ โดยก่อนเริ่มอุตสาหกรรมล่าวาฬ คาดว่ามีวาฬสีน้ำเงินในท้องทะเลราว 200,000-300,000 ตัว และเชื่อว่าปัจจุบันน่าจะเหลือประมาณ 12,000 ตัว ซึ่งน้อยกว่า 1% ของจำนวนเดิมที่มีอยู่

วาฬสีน้ำเงินแม่-ลูก ซึ่งลูกวาฬแรกเกิด
มีขนาดใหญ่ 6-8 ม.(BBC News)
ทำไมต้องล่า “วาฬ” ?
วาฬถูกล่าเพื่อ “เนื้อ” และ “น้ำมัน” เป็นหลัก โดยการล่าวาฬสามารถย้อนกลับไปได้ไกลถึง 3,000 ปีก่อน ค.ศ.ชาวอินนูอิตในกรีนแลนด์ล่าวาฬเพื่อยังชีพ ส่วนชาวญี่ปุ่นและนอร์เวย์ต่างมีวัฒนธรรมในการล่าวาฬ โดยการล่าวาฬเป็นอุตสาหกรรมนั้นเริ่มต้นในคริสศตวรรษที่ 17 และมีการล่าวาฬหนักขึ้นในช่วงศตววรษที่ 18-19 โดยในอดีตเมืองต่างๆ ของสหรัฐฯ และยุโรปใช้น้ำมันจากวาฬเป็นเชื้อเพลิงในการจุดตะเกียง

จนกระทั่งในปี 1986 คณะกรรมการควบคุมการล่าวาฬนานาชาติ (International Whaling Commission) หรือไอดับเบิลยูซี (IWC) ได้ห้ามการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ ปัจจุบันความต้องการน้ำมันวาฬลดลงมาก และเหลือเพียงการล่าเพื่อเป็นอาหาร โดยปัจจุบันวาฬมิงก์ซึ่งเป็นวาฬขนาดเล็กที่ถูกล่ามากที่สุด

“ไอดับเบิลยูซี” คณะกรรมการจัดสรรโควตาล่าวาฬ
คณะกรรมการควบคุมการล่าวาฬนานาชาติจัดตั้งขึ้นเมื่อ 2 ธ.ค.1946 ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี สหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อการล่าวาฬที่เหมาะสมต่อจำนวนวาฬที่มีอยู่ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมล่าวาฬ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 88 ประเทศ ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่นและนอร์เวย์ที่ล่าวาฬเป็นวัฒนธรรมด้วย

วาฬสีน้ำเงินพ่นน้ำ อีกหนึ่งสัญญลักษณ์
ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้
(BBC News)
ภารกิจหลักของไอดับเบิลยูซี คือกำหนดจำนวนและตารางที่เหมาะสมในการล่าวาฬ ซึ่งการกำหนดนี้เพื่อคุ้มครองวาฬบางสปีชีส์ กำหนดพื้นที่เฉพาะให้วาฬได้หลบภัยจากการล่า จำกัดจำนวนและขนาดของวาฬที่จะถูกล่า วางเงื่อนไขสำหรับการเปิด-ปิดฤดูกาลล่า และห้ามล่าลูกวาฬและวาฬตัวเมียที่มีลูกอ่อน และผู้ล่าวาฬยังต้องรวบรวมรายงานการจับ รวมถึงสถิติและข้อมูลเชิงชีววิทยาให้แก่คณะกรรมการด้วย

สัตว์ใหญ่ที่กินเฉพาะสัตว์เล็ก
วาฬสีน้ำเงินเป็นวาฬกรองกิน (baleen whale) มีแผ่นกรองซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับเล็บที่เรียกว่า “บาลีน” (baleen) เชื่อมกับขากรรไกร และจัดเป็นสัตว์กินเนื้อ แต่เหยื่อของวาฬกลับเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็กๆ เวลากินอาหารสัตว์น้ำขนาดยักษ์นี้จะกลืนน้ำปริมาณมหาศาลเพื่อกรองเอา “กริลล์” (krill) สัตว์น้ำขนาดเล็กคล้ายกุ้งและกลืนกิน

วาฬต้องดำน้ำลงไปล่ากริลล์ที่ความลึกประมาณ 100 เมตร และปกติจะดำน้ำนาน 20 นาที แต่มีบันทึกสูงสุดว่าดำได้นานถึง 36 นาที ทั้งนี้ วาฬสีน้ำเงินที่โตเต็มวัยกินกริลล์วันหนึ่งได้มากถึง 4 ตัน

อีกหนึ่งลีลาของวาฬสีน้ำเงิน
(Julia Communication)
วาฬไม่ใช่ “ปลา”
เราคุ้นเคยกับการเรียกวาฬว่า “ปลาวาฬ” เช่นเดียวกับการเรียกโลมาว่า “ปลาโลมา” แต่สัตว์น้ำทั้งสองชนิดนั้นเป็นสัตว์เลือดอุ่นที่เลี้ยงลูกด้วยนม ต่างจาก “ฉลาม” ที่จัดเป็นปลาชนิดหนึ่ง ทั้งวาฬและโลมาเป็นสัตว์ในลำดับเซตาเซีย (Cetacea) เช่นเดียวกัน โดยวาฬจะหายใจได้เช่นเดียวกับคน และหายใจแต่ละครั้งสามารถดำน้ำได้นานถึง 20 นาที และวาฬยังพ่นน้ำออกจากช่องหายใจได้สูงถึง 9 เมตร

วาฬแรกเกิดหนักได้ถึง 3 ตัน และมีขนาดถึง 8 เมตร โดยในช่วงปีแรกวาฬตัวน้อย จะกินนมแม่อย่างเดียวมากถึงวันละ 91 กก. ซึ่งวาฬมีอายุเฉลี่ยประมาณ 80-90 ปี โดยศัตรูของวาฬนอกจากมนุษย์แล้วยังมีปลาฉลามที่เป็นผู้ล่าอีกชนิดหนึ่ง นอกจากนี้ทุกๆ ปียังพบว่าวาฬบาดเจ็บจากการปะทะกับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ด้วย

นักท่องสมุทรส่งเสียงได้ไกล 1,600 กม.
วาฬสีน้ำเงินอาศัยอยู่ทั่วไปในมหาสมุทรทั่วโลก โดยมักจะว่ายน้ำเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ปกติจะพบเพียงลำพังหรือไปเป็นคู่ ในช่วงหน้าร้อนวาฬสีน้ำเงินจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในน่านน้ำแถบขั้วโลก และจะอพยพสู่แถบศูนย์สูตรในช่วงที่ฤดูหนาวมาเยือน โดยวาฬสีน้ำเงินจะว่ายน้ำได้ไกล 8 กม.ในเวลา 1 ชั่วโมง แต่หากตื่นเต้นหรือตกใจวาฬสีน้ำเงินจะเร่งความเร็วได้ถึง 32 กม.ต่อชั่วโมง

กริลล์ตัวเล็กๆ คืออาหารหลักของ
วาฬตัวใหญ่ (BBC News)
นอกจากเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว วาฬสีน้ำเงินยังเป็นสัตว์ที่เสียงดังกังวานที่สุดในโลกอีกด้วย ซึ่งภายในสภาวะที่เหมาะสม วาฬสีน้ำเงินสามารถส่งเสียงถึงวาฬอีกตัวที่อยู่ไกล 1,600 กิโลเมตรได้ โดยจะส่งชุดเสียงเป็นคลื่นสั้น เสียงครวญครางหรือโหยหวนออกไป


ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าวาฬสีน้ำเงินไม่ได้ส่งเสียงเพื่อการสื่อสารเพียงอย่างเดียว แต่ใช้เพื่อนำทางใต้มหาสมุทรที่ลึกและอับแสงด้วย


สถานภาพใกล้สูญพันธุ์ของวาฬสีน้ำเงินนั้น สะท้อนให้เห็นว่าไม่มีสัตว์โลกใดรอดพ้นจากการคุกคามของมนุษย์ไปได้ แม้กระทั่งสัตว์ใหญ่ที่สุดในโลกนี้ แต่ยังไม่สายเกินไปที่เราจะเพิ่มโอกาสให้เพื่อนร่วมโลกนี้ได้อยู่คู่กับมหาสมุทรต่อไป

ภาพสะเทือนใจเมื่ออุตสาหกรรมล่าวาฬ
ของญี่ปุ่นจับวาฬแม่-ลูก
ทั้งที่ผิดข้อห้ามของ IWC

อุตสาหกรรมล่าวาฬ ซึ่งมีเทคโนโลยี
ก้าวหน้ากว่าอดีตมาก
(Australian Costom Service)

ที่มา :
ASTVผู้จัดการออนไลน์. (2553). “วาฬสีน้ำเงิน” เจ้าสมุทรที่ใกล้สูญพันธุ์. Science & Technology. [Online]. Available : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000090170. [2553 กรกฎาคม 23 ].
Read more >>

วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เมื่อผู้สื่อข่าวดำน้ำเป็น

เมื่อวันที่ 13-19 ก.ค.2553 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสสอนหลักสูตรดำน้ำสากลระดับ Open Water Diver ให้แก่ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3, 5, 7, 9 , ทีวีไทย และกำลังพลส่วนหนึ่งจากกรมกิจการพลเรือนทหารบก นำโดย พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (เสธ.ไก่อู) โฆษก ศอฉ. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพาผู้สื่อข่าว ไปทำข่าวเกี่ยวกับการนำรถถังของกองทัพบก จำนวน 25 คัน ไปทิ้งใต้ทะเลที่ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส เพื่อสร้างปะการังเทียม  ตามโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ งานนี้ทางกองทัพบก เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเรียนให้ผู้สื่อข่าวฯ ทั้งหมด

ข่าวใต้ทะเลหายไป
แต่เดิมที่ผ่านมาการทำข่าวใต้ทะเล ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีส่วนแบ่งพื้นที่ข่าวหน้าจอโทรทัศน์น้อยมาก  และมักจะไม่ค่อยได้รับการนำเสนอข่าว หรือบางครั้งการนำเสนอข่าวก็อาจคลาดเคลื่อนจากความจริง ไม่ได้ภาพประกอบข่าวที่ตรงกับความเป็นจริงนัก ทั้งๆ ที่ข่าวใต้ทะเลมีหลากหลายประเด็นข่าวมาก อาทิ
  • ทรัพยากรปะการังและสัตว์น้ำ ที่กำลังเสื่อมโทรมและถูกทำลาย
  • การทำการประมงที่ผิดกฏหมาย เช่น การระเบิดปลา การลากอวนในแนวปะการัง
  • ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบ  เช่น การเกิดปะการังฟอกขาว ขยะใต้ทะเล
  • เหตุการณ์หลายอย่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำน้ำ เช่น การพิสูจน์ทราบตู้คอนเทนเนอร์ที่แสมสาร ครูสอนดำน้ำสูญหาย นักดำน้ำเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในระหว่างการดำน้ำ ปัญหาเกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยวดำน้ำในประเทศไทย
  • ฯลฯ  
ในส่วนตัวแล้วผมคิดว่า เหตุการณ์ที่กล่าวมานี้ สาเหตุที่ไม่ค่อยได้นำเสนอข่าวผ่านทางจอโทรทัศน์ไปยังผู้ชม อาจมาจากปัจจัยที่สำคัญ เช่น
  1. ผู้สื่อข่าวและช่างภาพดำน้ำไม่เป็น ด้วยสาเหตุนี้ ทำให้ผู้สื่อข่าวไม่สามารถที่จะเขียนข่าวได้ ช่างภาพก็ไม่สามารถที่จะหาภาพจริงมาประกอบตามเนื้อข่าวได้
  2. กล้องถ่ายวิดีโอใต้น้ำและอุปกรณ์ประกอบ ค่อนข่างมีราคาแพง ส่งผลให้ทางสถานีโทรทัศน์ ไม่กล้าที่จะลงทุน  หากลงทุนไปแล้วไม่แน่ใจว่าจะสามารถใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่าหรือไม่
  3. อุปกรณ์เกี่ยวกับชุดดำน้ำ ถังอากาศ และเรือสำหรับดำน้ำ ต้องมีการวางแผนในรายละเอียด เพราะในบางสถานที่ไม่ได้มีไว้ให้เช่าหรือให้บริการ อาจต้องมีการจัดเตรียมไปเอง
  4. การมองประเด็นข่าวของกองบรรณาธิการ ข้อนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ   เพราะหาก บก.ข่าว มองประเด็นข่าวเกี่ยวกับใต้ทะเลไม่ออกแล้ว  งานนี้ก็คงไม่มีข่าวใดๆ ให้ผู้สื่อข่าวทำ
ผมขออนุญาตยกตัวอย่างในข้อ 4 (ในฐานะผู้ชม)  เกี่ยวกับเนื้อหาข่าวที่อยากชม เช่น  "ในวันที่ 9 ส.ค.2553 กรมประมงเชิญผู้สื่อข่าวไปชมการทิ้งรถถัง และตู้รถไฟ เพื่อจัดสร้างปะการังเทียม ตามแนวพระราชดำริ ที่นราธิวาส"   สิ่งที่ผมอยากชมข่าว ไม่ใช่เพียงแค่ว่า ความเป็นมา การจัดงานพิธี  ใครมาเป็นประธาน ใครเป็นให้ผู้การสนับสนุน แล้วก็ชมภาพการทิ้งรถถัง และตู้รถไฟจากเรือบาส จมลงสู่ทะเล" 

ผมอยากชมว่า จริงหรือไม่ ที่กล่าวว่า  "การจัดสร้างแนวปะการังเทียมทำให้สัตว์น้ำบางชนิดที่หายไปในช่วงเวลาหนึ่งกลับมาให้เห็นในพื้นที่ เช่น ปลาหมอทะเลขนาดใหญ่ ปลาช่อนทะเล ปลาผีเสื้อเทวรูป และปลาจะละเม็ดเทา"  หากเขียนข่าวเช่นนี้ ใครจะเป็นผู้ลงไปพิสูจน์ทราบว่าเป็นเช่นนั้นจริง มีภาพประกอบปลาเหล่านี้ให้เห็นจริง (ไม่ได้เอาภาพจากที่อื่นมา Insert แทน) 

นอกจากนั้น อาจจะต้องมีภาพให้เห็นว่า รถถังและตู้รถไฟที่ทิ้งลงไป มีการวางตัวกันอย่างไรที่ใต้พื้นทะเล  ไปขัดขวางการไหลของกระแสน้ำหรือไม่ อีกทั้งจะมีผลกระทบกับระบบนิเวศน์อื่นๆ ใต้ทะเลหรือไม่  เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นภาพจริง ไม่ได้เห็นภาพแค่การจัดงานพิธี ภาพแค่รถถัง และตู้รถไฟจมหายไปในทะเลเท่านั้น

ข่าวใต้ทะเลจะกลับมา
ขณะนี้ ผมรู้สึกภูมิใจ ที่สามารถติดอาวุธให้ผู้สื่อข่าวได้ ติดอาวุธในที่นี่หมายถึง การดำน้ำเป็น การถ่ายภาพวิดีโอใต้น้ำได้  ซึ่งสามารถแก้ปัญหาปัจจัยเริ่มแรกตามที่กล่าวมาได้ 

ส่วนเรื่องกล้องถ่ายวิดีโอใต้น้ำ เดี๋ยวนี้ก็มีราคาไม่แพงเท่าใดนัก ทางสถานีโทรทัศน์ฯ น่าจะลงทุนได้ เอาขนาดราคาปานกลางก็พอ เพราะการถ่ายภาพข่าว ไม่จำเป็นต้องใช้กล้องในระดับมืออาชีพ ที่ใช้ถ่ายโฆษณาหรือถ่ายสารคดีใต้น้ำ  และผมก็เชื่อว่าเทคโนโยโลยีการปรับปรุงคุณภาพของภาพ เดี๋ยวนี้มีโปรแกรมดีดีที่ช่วยได้หลายโปรแกรม  หรือหากทางสถานีต้องการได้ภาพดีดี ก็สามารถหาเช่ากล้องถ่ายใต้น้ำระดับมืออาชีพไปใช้ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อเป็นของตนเอง  

ชุดดำน้ำ ถังอากาศ ผู้สื่อข่าวก็สามารถเช่าได้ทั่วไป  ราคาวันละ 400-500 บาท(ครบชุด)  ถังอากาศใบละ 100-200 บาทต่อใบ (แล้วแต่สถานที่)  ซึ่งผมคิดว่าไม่แพงเกินไป ทางสถานีฯ ไม่จำเป็นต้องจัดซื้อมาไว้เป็นอุปกรณ์ประจำให้ผู้สื่อข่าว เมื่อจะใช้ก็ค่อยจ่ายค่าเช่าไป


สำหรับการมองประเด็นข่าวของกองบรรณาธิการ เรื่องนี้ต้องเป็นวิจารณญาณของสถานีโทรทัศน์แต่ละช่องเอง ผมคงไม่กล้าที่จะแนะนำ เพราะผมเป็นเพียงแค่คนชมข่าวเท่านั้น


แต่อย่างไรก็ตาม ผมขอแนะนำผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่ดำน้ำเป็นแล้ว  ควรจะต้องปฏิบัติในเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง  คือ
  1. หมั่นหาประสบการณ์และพัฒนาทักษะในการดำน้ำ และการถ่ายภาพใต้น้ำอยู่เสมอ
  2. ควรเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น คือ Advanced Open Water Diver  เพราะจะสามารถดำน้ำในที่ลึกได้ สามารถใช้เข็มทิศในการเดินทางใต้น้ำได้  สามารถที่จะดำน้ำในเวลากลางคืนได้ ฯลฯ
  3. ควรเรียนคอร์สพิเศษเกี่ยวกับการถ่ายวิดีโอใต้น้ำเพิ่มเติม    
โลกใต้ทะเลของไทย มีเรื่องราวที่เป็นปัญหา รอให้ผู้สื่อข่าวตีแผ่ความจริงออกมาอีกเป็นจำนวนมาก   วันนี้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ กองทัพบกได้เล็งเห็นความสำคัญของการสอนให้ผู้สื่อข่าวดำน้ำเป็น ถึงแม้ กองทัพบกมุ่งหวังเพียงต้องการให้นักข่าวไปทำข่าว การทิ้งรถถังของกองทัพบกเพื่อจัดสร้างปะการังเทียมเท่านั้น  แต่การกระทำครั้งนี้  ถือว่าเป็นคุณูปการอย่างยิ่งต่อวงการข่าวของประเทศไทย  ที่ความจริงของโลกใต้ทะเล จะถูกเปิดเผยและตีแผ่ต่อสายตาประชาชน ทางสถานีโทรทัศน์ฯ ช่องต่างๆ ด้วยฝีมือของผู้สื่อข่าวเหล่านี้ ในโอกาสต่อไป  

เขียนโดย สุชาต จันทรวงศ์

ข้อมูลเพิ่มเติม
Read more >>

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส ปี 2553

๒๕๔๔ ราษฎรบ้านละเวง อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานความช่วยเหลือจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้ทรงพิจารณาช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ เนื่องจากปัจจุบันได้ลดลงเป็นอันมาก ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานคำแนะนำให้จัดประชุมหารือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องทางด้านต่างๆ และได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้จัดตั้งโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน และในโครงการดังกล่าวมีกิจกรรมการฟื้นฟูระบบนิเวศสัตว์น้ำ โดยการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (ปะการังเทียม) ซึ่งใช้วัสดุจำพวกคอนกรีต ท่อระบายน้ำ ซากเรือ หรือ วัสดุขนาดใหญ่ที่ไม่ใช้งานแล้ว

การจัดสร้างปะการังเทียมดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีแหล่งทำการประมงสำหรับชาวประมงขนาดเล็กเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังช่วยป้องกันแหล่งทำการประมงใกล้ฝั่งจากเครื่องมือทำการประมงที่มีอัตราการทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อนสูง เช่น อวนลาก อวนรุน เป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งและให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นแหล่งสำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล เช่น กีฬาตกปลา และดำน้ำ

การจัดสร้างปะการังเทียมในโครงการฯ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง กองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร กรมเจ้าท่า และกรมประมง มีการจัดวางตู้รถไฟเก่า ๖๐๘ ตู้ ท่อคอนกรีตระบายน้ำ ๗๐๗ ท่อ รถยนต์เก็บขยะมูลฝอย ๓๘๙ คัน และแท่งคอนกรีต ๒๗,๗๖๓ แท่ง ซึ่งกระจายอยู่ตามชายฝั่งจังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส รวม ๗๒ แห่งโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สำนักงาน กปร. จำนวน ๓๓,๒๔๔,๕๐๐ ล้านบาท และกรมประมง ๑๒๕ ล้านบาท

จากการติดตามผลการจัดสร้างปะการังเทียมในภาพรวมพบว่าให้ผลดีในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้อุดมสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ชาวประมง และช่วยในการบริหารจัดการการทำการประมงโดยช่วยป้องกันเรืออวนลาก อวนรุน ไม่ให้เข้ามาทำการประมงใกล้ฝั่ง รวมทั้งเป็นแหล่งประมงใกล้ฝั่ง เหมาะสำหรับชาวประมงพื้นบ้านที่ไม่ต้องออกไปทำการประมงไกลฝั่ง ช่วยให้ประหยัดค่าน้ำมันลงได้ถึง 10-20 เปอร์เซ็นต์ และมีรายได้เพิ่มขึ้น 20-30 เปอร์เซ็นต์ ชาวประมงชายฝั่งขนาดเล็กมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินในการประกอบอาชีพ อีกทั้งเป็นแนวป้องกันการทำลายสัตว์น้ำขนาดเล็กและสภาพแวดล้อมจากการทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนลากและอวนรุน ซึ่งสามารถลดข้อขัดแย้งระหว่างชาวประมงในเรื่องแย่งชิงทรัพยากรและที่ทำกิน อันเป็นสาเหตุมาจากแหล่งทำการประมงมีจำกัด รวมทั้งเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลรวมทั้งกีฬาที่เกี่ยวข้อง เช่น แหล่งตกปลาและดำน้ำ นอกจากนี้ยังพบสัตว์น้ำบางชนิดที่หายไปในช่วงเวลาหนึ่งกลับมาให้เห็นในพื้นที่ เช่น ปลาหมอทะเลขนาดใหญ่ ปลาช่อนทะเล ปลาผีเสื้อเทวรูป และปลาจะละเม็ดเทา

และเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ในโอกาสที่คณะบุคคลต่างๆ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำรัส ใจความว่า ให้ร่วมมือกันจัดสร้างปะการังเทียมเพิ่มเติม ทำให้หลายหน่วยงานร่วมแรงร่วมใจในการที่จะจัดสร้างปะการังเทียมในพื้นที่ของโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส เช่น กระทรวงคมนาคมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทยสนับสนุนตู้รถสินค้า จำนวน ๒๗๓ ตู้ กรุงเทพมหานครสนับสนุนรถยนต์เก็บขยะมูลฝอย จำนวน ๑๙๘ คัน กองทัพบกสนับสนุนรถถัง รุ่น ที ๖๙ จำนวน ๒๕ คัน และกองทัพไทยสนับสนุนรถยนต์ ๓ คัน โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน ซึ่งมอบหมายให้กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานงานหน่วยงานต่างๆ กำหนดจุดพิกัดที่จัดวางปะการังเทียมร่วมกับชาวประมงท้องถิ่น และควบคุมการจัดวางวัสดุให้ถูกต้องตามที่ชาวประมงต้องการ นอกจากนั้นยังมีหลายหน่วยงานที่ร่วมให้การสนับสนุนพร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน เช่น กรมเจ้าท่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย กองทัพเรือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมศุลกากร


พื้นที่จัดสร้างปะการังเทียม พ.ศ. ๒๕๕๓




  1. BK ๑๐ พื้นที่ ต.บ้านน้ำบ่อ อ.ปะนาเระ ปัตตานี ชนิดวัสดุ รถเก็บขยะมูลฝอย ๑๐ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๑ ม. ระยะห่างฝั่ง ๒.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖ - ๔๘.๓๖๒ ลองติจูด (E) ๑๐๑-๓๖.๑๒๔
  2. BK ๑๑ พื้นที่ ต.บ้านน้ำบ่อ อ.ปะนาเระ ปัตตานี ชนิดวัสดุ รถเก็บขยะมูลฝอย ๑๐ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๒ ม. ระยะห่างฝั่ง ๒.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๔๗.๘๔๕ ลองติจูด (E) ๑๐๑-๓๖.๔๒๕
  3. BK ๑๒ พื้นที่ ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี ปัตตานี ชนิดวัสดุ รถเก็บขยะมูลฝอย ๔๐ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๕ ม. ระยะห่างฝั่ง ๕.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๔๕.๒๕๔ ลองติจูด (E)๑๐๑-๓๙.๑๗๕
  4. BK ๑๓ พื้นที่ ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี ปัตตานี ชนิดวัสดุ รถเก็บขยะมูลฝอย ๔๐ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๗ ม. ระยะห่างฝั่ง ๕.๕ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๔๕.๔๑๑ ลองติจูด (E)๑๐๑-๓๙.๙๖๘
  5. BK ๑๔ พื้นที่ ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น ปัตตานี ชนิดวัสดุ รถเก็บขยะมูลฝอย ๑๐ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๑ ม. ระยะห่างฝั่ง ๓.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๓๕.๖๒๘ ลองติจูด (E)๑๐๑-๔๔.๗๖๐
  6. BK ๑๕ พื้นที่ ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น ปัตตานี ชนิดวัสดุ รถเก็บขยะมูลฝอย ๒๕ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๕ ม. ระยะห่างฝั่ง ๕.๐ กม.ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๓๖.๒๐๕ ลองติจูด (E)๑๐๑-๔๕.๗๖๒
  7. BK ๑๖ พื้นที่ ต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ นราธิวาส ชนิดวัสดุ รถเก็บขยะมูลฝอย ๕๐ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๒๐ ม. ระยะห่างฝั่ง ๑๒.๐ กม.ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๒๑.๓๔๘ ลองติจูด (E)๑๐๒-๐๖.๔๕๒
  8. SRT ๕๓-๑ พื้นที่ ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี ปัตตานี ชนิดวัสดุ ตู้รถไฟ ๕๐ ตู้ พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๒๐ ม. ระยะห่างฝั่ง ๘.๕ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๔๒.๓๒๓ ลองติจูด (E)๑๐๑-๔๔.๑๓๓
  9. SRT ๕๓-๒ พื้นที่ ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น ปัตตานี ชนิดวัสดุ ตู้รถไฟ ๑๐ ตู้ พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๑ ม. ระยะห่างฝั่ง ๒.๓ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๓๙.๕๕๘ ลองติจูด (E)๑๐๑-๔๑.๙๑๐
  10. SRT ๕๓-๓ พื้นที่ ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น ปัตตานี ชนิดวัสดุ ตู้รถไฟ ๑๕ ตู้ พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๒ ม. ระยะห่างฝั่ง ๓.๒ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๓๙.๘๑๔ ลองติจูด (E)๑๐๑-๔๒.๒๗๘
  11. SRT ๕๓-๔ พื้นที่ ต.บางนาค อ.เมือง นราธิวาส ชนิดวัสดุ ตู้รถไฟ ๕๐ ตู้ รถเก็บขยะมูลฝอย ๒๓ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๒๒ ม. ระยะห่างฝั่ง ๑๑.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๓๒.๕๙๕ ลองติจูด (E)๑๐๑-๕๒.๕๕๗
  12. SRT ๕๓-๕ พื้นที่ ต.ไพรวัน อ.ตากใบ นราธิวาส ชนิดวัสดุ ตู้รถไฟ ๔๐ ตู้ พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๘ ม. ระยะห่างฝั่ง ๗.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๒๔.๔๐๔ ลองติจูด (E)๑๐๑-๕๘.๓๖๖
  13. SRT ๕๓-๖ พื้นที่ ต.ไพรวัน อ.ตากใบ นราธิวาส ชนิดวัสดุ ตู้รถไฟ ๕๐ ตู้  พื้นทะเล ทรายปนโคลน  ความลึกน้ำ ๑๙ ม. ระยะห่างฝั่ง ๙.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๒๕.๒๙๐ ลองติจูด (E)๑๐๑-๕๙.๑๐๐
  14. SRT๕๓-๗ พื้นที่ ต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ นราธิวาส ชนิดวัสดุ ตู้รถไฟ ๕๐ ตู้ พื้นทะเล ทรายปนโคลน  ความลึกน้ำ ๒๐ ม. ระยะห่างฝั่ง ๑๑.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๒๒.๐๗๕ ลองติจูด (E)๑๐๒-๐๖.๒๐๐
  15. RTA ๕๓ พื้นที่ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง นราธิวาส  ชนิดวัสดุ รถถัง ๒๕ คัน รถของกองทัพไทย ๓ คัน พื้นทะเล ทราย ความลึกน้ำ ๒๑ ม. ระยะห่างฝั่ง ๙.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๒๙.๐๗๕ ลองติจูด (E)๑๐๑-๕๕.๗๕๕
ที่มา :
กรมประมง. (2553). โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. เอกสารประชาสัมพันธ์โครงการ.
Read more >>