วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส ปี 2553

๒๕๔๔ ราษฎรบ้านละเวง อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานความช่วยเหลือจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้ทรงพิจารณาช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ เนื่องจากปัจจุบันได้ลดลงเป็นอันมาก ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานคำแนะนำให้จัดประชุมหารือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องทางด้านต่างๆ และได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้จัดตั้งโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน และในโครงการดังกล่าวมีกิจกรรมการฟื้นฟูระบบนิเวศสัตว์น้ำ โดยการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (ปะการังเทียม) ซึ่งใช้วัสดุจำพวกคอนกรีต ท่อระบายน้ำ ซากเรือ หรือ วัสดุขนาดใหญ่ที่ไม่ใช้งานแล้ว

การจัดสร้างปะการังเทียมดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีแหล่งทำการประมงสำหรับชาวประมงขนาดเล็กเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังช่วยป้องกันแหล่งทำการประมงใกล้ฝั่งจากเครื่องมือทำการประมงที่มีอัตราการทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อนสูง เช่น อวนลาก อวนรุน เป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งและให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นแหล่งสำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล เช่น กีฬาตกปลา และดำน้ำ

การจัดสร้างปะการังเทียมในโครงการฯ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง กองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร กรมเจ้าท่า และกรมประมง มีการจัดวางตู้รถไฟเก่า ๖๐๘ ตู้ ท่อคอนกรีตระบายน้ำ ๗๐๗ ท่อ รถยนต์เก็บขยะมูลฝอย ๓๘๙ คัน และแท่งคอนกรีต ๒๗,๗๖๓ แท่ง ซึ่งกระจายอยู่ตามชายฝั่งจังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส รวม ๗๒ แห่งโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สำนักงาน กปร. จำนวน ๓๓,๒๔๔,๕๐๐ ล้านบาท และกรมประมง ๑๒๕ ล้านบาท

จากการติดตามผลการจัดสร้างปะการังเทียมในภาพรวมพบว่าให้ผลดีในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้อุดมสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ชาวประมง และช่วยในการบริหารจัดการการทำการประมงโดยช่วยป้องกันเรืออวนลาก อวนรุน ไม่ให้เข้ามาทำการประมงใกล้ฝั่ง รวมทั้งเป็นแหล่งประมงใกล้ฝั่ง เหมาะสำหรับชาวประมงพื้นบ้านที่ไม่ต้องออกไปทำการประมงไกลฝั่ง ช่วยให้ประหยัดค่าน้ำมันลงได้ถึง 10-20 เปอร์เซ็นต์ และมีรายได้เพิ่มขึ้น 20-30 เปอร์เซ็นต์ ชาวประมงชายฝั่งขนาดเล็กมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินในการประกอบอาชีพ อีกทั้งเป็นแนวป้องกันการทำลายสัตว์น้ำขนาดเล็กและสภาพแวดล้อมจากการทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนลากและอวนรุน ซึ่งสามารถลดข้อขัดแย้งระหว่างชาวประมงในเรื่องแย่งชิงทรัพยากรและที่ทำกิน อันเป็นสาเหตุมาจากแหล่งทำการประมงมีจำกัด รวมทั้งเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลรวมทั้งกีฬาที่เกี่ยวข้อง เช่น แหล่งตกปลาและดำน้ำ นอกจากนี้ยังพบสัตว์น้ำบางชนิดที่หายไปในช่วงเวลาหนึ่งกลับมาให้เห็นในพื้นที่ เช่น ปลาหมอทะเลขนาดใหญ่ ปลาช่อนทะเล ปลาผีเสื้อเทวรูป และปลาจะละเม็ดเทา

และเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ในโอกาสที่คณะบุคคลต่างๆ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำรัส ใจความว่า ให้ร่วมมือกันจัดสร้างปะการังเทียมเพิ่มเติม ทำให้หลายหน่วยงานร่วมแรงร่วมใจในการที่จะจัดสร้างปะการังเทียมในพื้นที่ของโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส เช่น กระทรวงคมนาคมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทยสนับสนุนตู้รถสินค้า จำนวน ๒๗๓ ตู้ กรุงเทพมหานครสนับสนุนรถยนต์เก็บขยะมูลฝอย จำนวน ๑๙๘ คัน กองทัพบกสนับสนุนรถถัง รุ่น ที ๖๙ จำนวน ๒๕ คัน และกองทัพไทยสนับสนุนรถยนต์ ๓ คัน โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน ซึ่งมอบหมายให้กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานงานหน่วยงานต่างๆ กำหนดจุดพิกัดที่จัดวางปะการังเทียมร่วมกับชาวประมงท้องถิ่น และควบคุมการจัดวางวัสดุให้ถูกต้องตามที่ชาวประมงต้องการ นอกจากนั้นยังมีหลายหน่วยงานที่ร่วมให้การสนับสนุนพร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน เช่น กรมเจ้าท่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย กองทัพเรือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมศุลกากร


พื้นที่จัดสร้างปะการังเทียม พ.ศ. ๒๕๕๓




  1. BK ๑๐ พื้นที่ ต.บ้านน้ำบ่อ อ.ปะนาเระ ปัตตานี ชนิดวัสดุ รถเก็บขยะมูลฝอย ๑๐ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๑ ม. ระยะห่างฝั่ง ๒.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖ - ๔๘.๓๖๒ ลองติจูด (E) ๑๐๑-๓๖.๑๒๔
  2. BK ๑๑ พื้นที่ ต.บ้านน้ำบ่อ อ.ปะนาเระ ปัตตานี ชนิดวัสดุ รถเก็บขยะมูลฝอย ๑๐ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๒ ม. ระยะห่างฝั่ง ๒.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๔๗.๘๔๕ ลองติจูด (E) ๑๐๑-๓๖.๔๒๕
  3. BK ๑๒ พื้นที่ ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี ปัตตานี ชนิดวัสดุ รถเก็บขยะมูลฝอย ๔๐ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๕ ม. ระยะห่างฝั่ง ๕.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๔๕.๒๕๔ ลองติจูด (E)๑๐๑-๓๙.๑๗๕
  4. BK ๑๓ พื้นที่ ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี ปัตตานี ชนิดวัสดุ รถเก็บขยะมูลฝอย ๔๐ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๗ ม. ระยะห่างฝั่ง ๕.๕ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๔๕.๔๑๑ ลองติจูด (E)๑๐๑-๓๙.๙๖๘
  5. BK ๑๔ พื้นที่ ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น ปัตตานี ชนิดวัสดุ รถเก็บขยะมูลฝอย ๑๐ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๑ ม. ระยะห่างฝั่ง ๓.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๓๕.๖๒๘ ลองติจูด (E)๑๐๑-๔๔.๗๖๐
  6. BK ๑๕ พื้นที่ ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น ปัตตานี ชนิดวัสดุ รถเก็บขยะมูลฝอย ๒๕ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๕ ม. ระยะห่างฝั่ง ๕.๐ กม.ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๓๖.๒๐๕ ลองติจูด (E)๑๐๑-๔๕.๗๖๒
  7. BK ๑๖ พื้นที่ ต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ นราธิวาส ชนิดวัสดุ รถเก็บขยะมูลฝอย ๕๐ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๒๐ ม. ระยะห่างฝั่ง ๑๒.๐ กม.ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๒๑.๓๔๘ ลองติจูด (E)๑๐๒-๐๖.๔๕๒
  8. SRT ๕๓-๑ พื้นที่ ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี ปัตตานี ชนิดวัสดุ ตู้รถไฟ ๕๐ ตู้ พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๒๐ ม. ระยะห่างฝั่ง ๘.๕ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๔๒.๓๒๓ ลองติจูด (E)๑๐๑-๔๔.๑๓๓
  9. SRT ๕๓-๒ พื้นที่ ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น ปัตตานี ชนิดวัสดุ ตู้รถไฟ ๑๐ ตู้ พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๑ ม. ระยะห่างฝั่ง ๒.๓ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๓๙.๕๕๘ ลองติจูด (E)๑๐๑-๔๑.๙๑๐
  10. SRT ๕๓-๓ พื้นที่ ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น ปัตตานี ชนิดวัสดุ ตู้รถไฟ ๑๕ ตู้ พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๒ ม. ระยะห่างฝั่ง ๓.๒ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๓๙.๘๑๔ ลองติจูด (E)๑๐๑-๔๒.๒๗๘
  11. SRT ๕๓-๔ พื้นที่ ต.บางนาค อ.เมือง นราธิวาส ชนิดวัสดุ ตู้รถไฟ ๕๐ ตู้ รถเก็บขยะมูลฝอย ๒๓ คัน พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๒๒ ม. ระยะห่างฝั่ง ๑๑.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๓๒.๕๙๕ ลองติจูด (E)๑๐๑-๕๒.๕๕๗
  12. SRT ๕๓-๕ พื้นที่ ต.ไพรวัน อ.ตากใบ นราธิวาส ชนิดวัสดุ ตู้รถไฟ ๔๐ ตู้ พื้นทะเล ทรายปนโคลน ความลึกน้ำ ๑๘ ม. ระยะห่างฝั่ง ๗.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๒๔.๔๐๔ ลองติจูด (E)๑๐๑-๕๘.๓๖๖
  13. SRT ๕๓-๖ พื้นที่ ต.ไพรวัน อ.ตากใบ นราธิวาส ชนิดวัสดุ ตู้รถไฟ ๕๐ ตู้  พื้นทะเล ทรายปนโคลน  ความลึกน้ำ ๑๙ ม. ระยะห่างฝั่ง ๙.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๒๕.๒๙๐ ลองติจูด (E)๑๐๑-๕๙.๑๐๐
  14. SRT๕๓-๗ พื้นที่ ต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ นราธิวาส ชนิดวัสดุ ตู้รถไฟ ๕๐ ตู้ พื้นทะเล ทรายปนโคลน  ความลึกน้ำ ๒๐ ม. ระยะห่างฝั่ง ๑๑.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๒๒.๐๗๕ ลองติจูด (E)๑๐๒-๐๖.๒๐๐
  15. RTA ๕๓ พื้นที่ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง นราธิวาส  ชนิดวัสดุ รถถัง ๒๕ คัน รถของกองทัพไทย ๓ คัน พื้นทะเล ทราย ความลึกน้ำ ๒๑ ม. ระยะห่างฝั่ง ๙.๐ กม. ตำแหน่ง ละติจูด(N)๐๖-๒๙.๐๗๕ ลองติจูด (E)๑๐๑-๕๕.๗๕๕
ที่มา :
กรมประมง. (2553). โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. เอกสารประชาสัมพันธ์โครงการ.

ไม่มีความคิดเห็น: