วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เมื่อผู้สื่อข่าวดำน้ำเป็น

เมื่อวันที่ 13-19 ก.ค.2553 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสสอนหลักสูตรดำน้ำสากลระดับ Open Water Diver ให้แก่ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3, 5, 7, 9 , ทีวีไทย และกำลังพลส่วนหนึ่งจากกรมกิจการพลเรือนทหารบก นำโดย พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (เสธ.ไก่อู) โฆษก ศอฉ. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพาผู้สื่อข่าว ไปทำข่าวเกี่ยวกับการนำรถถังของกองทัพบก จำนวน 25 คัน ไปทิ้งใต้ทะเลที่ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส เพื่อสร้างปะการังเทียม  ตามโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ งานนี้ทางกองทัพบก เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเรียนให้ผู้สื่อข่าวฯ ทั้งหมด

ข่าวใต้ทะเลหายไป
แต่เดิมที่ผ่านมาการทำข่าวใต้ทะเล ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีส่วนแบ่งพื้นที่ข่าวหน้าจอโทรทัศน์น้อยมาก  และมักจะไม่ค่อยได้รับการนำเสนอข่าว หรือบางครั้งการนำเสนอข่าวก็อาจคลาดเคลื่อนจากความจริง ไม่ได้ภาพประกอบข่าวที่ตรงกับความเป็นจริงนัก ทั้งๆ ที่ข่าวใต้ทะเลมีหลากหลายประเด็นข่าวมาก อาทิ
  • ทรัพยากรปะการังและสัตว์น้ำ ที่กำลังเสื่อมโทรมและถูกทำลาย
  • การทำการประมงที่ผิดกฏหมาย เช่น การระเบิดปลา การลากอวนในแนวปะการัง
  • ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบ  เช่น การเกิดปะการังฟอกขาว ขยะใต้ทะเล
  • เหตุการณ์หลายอย่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำน้ำ เช่น การพิสูจน์ทราบตู้คอนเทนเนอร์ที่แสมสาร ครูสอนดำน้ำสูญหาย นักดำน้ำเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในระหว่างการดำน้ำ ปัญหาเกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยวดำน้ำในประเทศไทย
  • ฯลฯ  
ในส่วนตัวแล้วผมคิดว่า เหตุการณ์ที่กล่าวมานี้ สาเหตุที่ไม่ค่อยได้นำเสนอข่าวผ่านทางจอโทรทัศน์ไปยังผู้ชม อาจมาจากปัจจัยที่สำคัญ เช่น
  1. ผู้สื่อข่าวและช่างภาพดำน้ำไม่เป็น ด้วยสาเหตุนี้ ทำให้ผู้สื่อข่าวไม่สามารถที่จะเขียนข่าวได้ ช่างภาพก็ไม่สามารถที่จะหาภาพจริงมาประกอบตามเนื้อข่าวได้
  2. กล้องถ่ายวิดีโอใต้น้ำและอุปกรณ์ประกอบ ค่อนข่างมีราคาแพง ส่งผลให้ทางสถานีโทรทัศน์ ไม่กล้าที่จะลงทุน  หากลงทุนไปแล้วไม่แน่ใจว่าจะสามารถใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่าหรือไม่
  3. อุปกรณ์เกี่ยวกับชุดดำน้ำ ถังอากาศ และเรือสำหรับดำน้ำ ต้องมีการวางแผนในรายละเอียด เพราะในบางสถานที่ไม่ได้มีไว้ให้เช่าหรือให้บริการ อาจต้องมีการจัดเตรียมไปเอง
  4. การมองประเด็นข่าวของกองบรรณาธิการ ข้อนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ   เพราะหาก บก.ข่าว มองประเด็นข่าวเกี่ยวกับใต้ทะเลไม่ออกแล้ว  งานนี้ก็คงไม่มีข่าวใดๆ ให้ผู้สื่อข่าวทำ
ผมขออนุญาตยกตัวอย่างในข้อ 4 (ในฐานะผู้ชม)  เกี่ยวกับเนื้อหาข่าวที่อยากชม เช่น  "ในวันที่ 9 ส.ค.2553 กรมประมงเชิญผู้สื่อข่าวไปชมการทิ้งรถถัง และตู้รถไฟ เพื่อจัดสร้างปะการังเทียม ตามแนวพระราชดำริ ที่นราธิวาส"   สิ่งที่ผมอยากชมข่าว ไม่ใช่เพียงแค่ว่า ความเป็นมา การจัดงานพิธี  ใครมาเป็นประธาน ใครเป็นให้ผู้การสนับสนุน แล้วก็ชมภาพการทิ้งรถถัง และตู้รถไฟจากเรือบาส จมลงสู่ทะเล" 

ผมอยากชมว่า จริงหรือไม่ ที่กล่าวว่า  "การจัดสร้างแนวปะการังเทียมทำให้สัตว์น้ำบางชนิดที่หายไปในช่วงเวลาหนึ่งกลับมาให้เห็นในพื้นที่ เช่น ปลาหมอทะเลขนาดใหญ่ ปลาช่อนทะเล ปลาผีเสื้อเทวรูป และปลาจะละเม็ดเทา"  หากเขียนข่าวเช่นนี้ ใครจะเป็นผู้ลงไปพิสูจน์ทราบว่าเป็นเช่นนั้นจริง มีภาพประกอบปลาเหล่านี้ให้เห็นจริง (ไม่ได้เอาภาพจากที่อื่นมา Insert แทน) 

นอกจากนั้น อาจจะต้องมีภาพให้เห็นว่า รถถังและตู้รถไฟที่ทิ้งลงไป มีการวางตัวกันอย่างไรที่ใต้พื้นทะเล  ไปขัดขวางการไหลของกระแสน้ำหรือไม่ อีกทั้งจะมีผลกระทบกับระบบนิเวศน์อื่นๆ ใต้ทะเลหรือไม่  เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นภาพจริง ไม่ได้เห็นภาพแค่การจัดงานพิธี ภาพแค่รถถัง และตู้รถไฟจมหายไปในทะเลเท่านั้น

ข่าวใต้ทะเลจะกลับมา
ขณะนี้ ผมรู้สึกภูมิใจ ที่สามารถติดอาวุธให้ผู้สื่อข่าวได้ ติดอาวุธในที่นี่หมายถึง การดำน้ำเป็น การถ่ายภาพวิดีโอใต้น้ำได้  ซึ่งสามารถแก้ปัญหาปัจจัยเริ่มแรกตามที่กล่าวมาได้ 

ส่วนเรื่องกล้องถ่ายวิดีโอใต้น้ำ เดี๋ยวนี้ก็มีราคาไม่แพงเท่าใดนัก ทางสถานีโทรทัศน์ฯ น่าจะลงทุนได้ เอาขนาดราคาปานกลางก็พอ เพราะการถ่ายภาพข่าว ไม่จำเป็นต้องใช้กล้องในระดับมืออาชีพ ที่ใช้ถ่ายโฆษณาหรือถ่ายสารคดีใต้น้ำ  และผมก็เชื่อว่าเทคโนโยโลยีการปรับปรุงคุณภาพของภาพ เดี๋ยวนี้มีโปรแกรมดีดีที่ช่วยได้หลายโปรแกรม  หรือหากทางสถานีต้องการได้ภาพดีดี ก็สามารถหาเช่ากล้องถ่ายใต้น้ำระดับมืออาชีพไปใช้ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อเป็นของตนเอง  

ชุดดำน้ำ ถังอากาศ ผู้สื่อข่าวก็สามารถเช่าได้ทั่วไป  ราคาวันละ 400-500 บาท(ครบชุด)  ถังอากาศใบละ 100-200 บาทต่อใบ (แล้วแต่สถานที่)  ซึ่งผมคิดว่าไม่แพงเกินไป ทางสถานีฯ ไม่จำเป็นต้องจัดซื้อมาไว้เป็นอุปกรณ์ประจำให้ผู้สื่อข่าว เมื่อจะใช้ก็ค่อยจ่ายค่าเช่าไป


สำหรับการมองประเด็นข่าวของกองบรรณาธิการ เรื่องนี้ต้องเป็นวิจารณญาณของสถานีโทรทัศน์แต่ละช่องเอง ผมคงไม่กล้าที่จะแนะนำ เพราะผมเป็นเพียงแค่คนชมข่าวเท่านั้น


แต่อย่างไรก็ตาม ผมขอแนะนำผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่ดำน้ำเป็นแล้ว  ควรจะต้องปฏิบัติในเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง  คือ
  1. หมั่นหาประสบการณ์และพัฒนาทักษะในการดำน้ำ และการถ่ายภาพใต้น้ำอยู่เสมอ
  2. ควรเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น คือ Advanced Open Water Diver  เพราะจะสามารถดำน้ำในที่ลึกได้ สามารถใช้เข็มทิศในการเดินทางใต้น้ำได้  สามารถที่จะดำน้ำในเวลากลางคืนได้ ฯลฯ
  3. ควรเรียนคอร์สพิเศษเกี่ยวกับการถ่ายวิดีโอใต้น้ำเพิ่มเติม    
โลกใต้ทะเลของไทย มีเรื่องราวที่เป็นปัญหา รอให้ผู้สื่อข่าวตีแผ่ความจริงออกมาอีกเป็นจำนวนมาก   วันนี้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ กองทัพบกได้เล็งเห็นความสำคัญของการสอนให้ผู้สื่อข่าวดำน้ำเป็น ถึงแม้ กองทัพบกมุ่งหวังเพียงต้องการให้นักข่าวไปทำข่าว การทิ้งรถถังของกองทัพบกเพื่อจัดสร้างปะการังเทียมเท่านั้น  แต่การกระทำครั้งนี้  ถือว่าเป็นคุณูปการอย่างยิ่งต่อวงการข่าวของประเทศไทย  ที่ความจริงของโลกใต้ทะเล จะถูกเปิดเผยและตีแผ่ต่อสายตาประชาชน ทางสถานีโทรทัศน์ฯ ช่องต่างๆ ด้วยฝีมือของผู้สื่อข่าวเหล่านี้ ในโอกาสต่อไป  

เขียนโดย สุชาต จันทรวงศ์

ข้อมูลเพิ่มเติม

ไม่มีความคิดเห็น: