วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

ปรากฏการณ์เกิดปะการังฟอกขาวในทะเลไทย ต้นปี 2554

ที่มาของภาพ
http://www.dmcr.go.th/dmcr2009/News/data/196.html
เกิดปะการังฟอกขาวรุนแรงที่สุด
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2554   - นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า จากการที่อุณหภูมิในน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างผิดปกติ กว่า 30 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเป็นจำนวนมากในน่านน้ำไทย โดยพบว่าสภาวะฟอกขาวของปะการัง ตามแนวปะการังทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย มีมากกว่า 70% นับว่าเป็นปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น และเป็นวิกฤตการณ์ที่น่าวิตกอย่างยิ่งสำหรับท้องทะเลไทย

ด้านนายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กล่าวว่า  " สถาบันฯ กำลังเร่งสำรวจว่าการ ฟอกขาวที่เกิดขึ้นทำให้แนวปะการังเสียหาย และส่วนที่เหลือมีการฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหน โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ประสานกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการสำรวจสภาพแนวปะการังใน 8 พื้นที่นอกเขตความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เริ่มดำเนินการแล้วประมาณ 1 เดือน คาดว่าจะสามารถประเมินสถานการณ์ของแนวปะการังทั้งประเทศได้สมบูรณ์ ประมาณเดือนพฤษภาคม 2554

นอกจากนี้ ยังได้เสนอกรมอุทยานฯ ให้กำหนดมาตรการด้านการใช้ ประโยชน์จากแนวปะการัง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้ประชาชนระมัดระวังในเรื่องการดำน้ำไม่ให้ไปรบกวนหรือสร้างความเสียหายให้กับแนวปะการังที่ยังรอดอยู่ และเพื่อให้แนวปะการังได้มีโอกาสฟื้นตัวตามธรรมชาติ"

ปรากฏการณ์ แนวปะการังฟอกขาว สิ่งแวดล้อมโลก ที่แปรเปลี่ยน
(ปรับปรุงจาก สำนักพิมพ์สารคดี. (2550))

ต้นฤดูร้อน 2541 นักดำน้ำหลายคน รู้สึกตรงกันว่าน้ำทะเลในอ่าวไทย มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ และแม้จะ ดำลึกลงไป หลายสิบเมตร อุณหภูมิก็ยังไม่ลดลง หลังจากนั้นไม่นาน ปรากฏการณ์บางอย่าง ในท้องทะเลก็เกิดขึ้น และสร้างความ หวั่นวิตกให้แก่ นักดำน้ำ และคนรักทะเลทั่วไป

ปรากฏการณ์แนวปะการังฟอกขาวคืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร?
เมื่อพบว่า ไม่เพียงอุณหภูมิน้ำทะเลเท่านั้น ที่เปลี่ยนแปลงไป หากลึกลงไปใต้ผืนน้ำ แนวปะการัง หลายต่อหลายแห่ง ที่เคยสร้างสีสัน ให้แก่โลกสีคราม ก็กลับซีดขาว แลเห็นเพียง โครงสร้างหินปูน ที่ดูราวกับไร้ชีวิต เป็นสัญญาณ ที่บ่งชัดว่า ปรากฏการณ์ แนวปะการังฟอกขาว ได้เกิดขึ้นแล้ว ในอ่าวไทย หากอธิบายจากสิ่งที่ตาเห็น ปรากฏการณ์แนวปะการังฟอกขาว หรือ Coral Reef Bleaching ก็คือ ปรากฏการณ์ที่ปะการังชนิดต่างๆ รวมถึง สิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง อีกหลายชนิด มีสีซีดลง และหาก การฟอกขาวนั้น เป็นไปโดยสมบูรณ์ อย่างที่เรียกกันว่า Completely bleaching เราก็จะพบว่า ปะการังเหล่านั้น เหลือเพียงเนื้อเยื่อใสๆ เผยให้เห็นสีขาว ของหินปูน ซึ่งเป็น โครงสร้างของมัน

ที่มาของภาพ
http://pattaya-times.com/images/th/6381.jpg
โดยทั่วไป ปะการัง และสิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง ชนิดที่จะเกิด การฟอกขาวได้นั้น จะมีลักษณะ การดำรงชีวิต ที่ต่างไปจากสัตว์อื่นๆ กล่าวคือ มีความสัมพันธ์แบบ พึ่งพาอาศัยกับ ไดโนแฟลกเจลเลต (Dinoflagellate) หรือสาหร่ายเซลล์เดียวขนาดเล็ก ที่เรียกกันว่า "ซูแซนเทลลี"

ซูแซนเทลลี จะอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อชั้นในของปะการัง (และสัตว์จำพวกที่ว่า) โดยเป็นตัวที่ช่วยสร้างสีสันให้แก่ร่าง หรือ Host ที่มันอาศัย

นอกจากซูแซนเทลลี จะใช้รงควัตถุในตัวมัน สร้างสีสัน ที่ช่วยในการ ปกป้อง เนื้อเยื่อของสัตว์ ที่มันอาศัยอยู่ ไม่ให้ถูกแผดเผาโดย รังสี จากดวงอาทิตย์ และทำให้สัตว์เหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องมีสีสันของมันเอง (หรือมีบ้างเล็กน้อย) แล้ว ซูแซนเทลลี ยังใช้รงควัตถุนี้ ในการ สังเคราะห์แสง สร้างอาหารให้แก่ตัวมัน และสัตว์ที่มันอาศัยร่วมอยู่ด้วย การที่มีซูแซนเทลลี อยู่คอยสร้างอาหารให้ จึงทำให้สัตว์เหล่านี้ โดยเฉพาะปะการัง ไม่ต้องหาอาหารเองมากนัก ทั้งยังได้ประโยชน์จาก ขบวนการสังเคราะห์แสง ที่สำคัญซูแซนเทลลี ยังช่วยให้ การสร้างหินปูน ในปะการัง หรือสัตว์ ที่สร้างเปลือกหินปูน เป็นไปได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งเท่ากับ ช่วยให้แนวปะการัง เจริญเติบโต เร็วขึ้นด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตจากสองอาณาจักร คืออาณาจักรพืช (สาหร่าย) และอาณาจักรสัตว์ (ปะการัง) ถือเป็นกุญแจสำคัญ ต่อพัฒนาการ และการเสื่อมสลาย ของแนวปะการัง ความสัมพันธ์ ที่ซับซ้อน ระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งสองนี้ ทำให้มันต้องปรับตัวอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ปะการัง ก็ยังคง เป็นสิ่งมีชีวิต ที่เจริญเติบโตได้ ในสภาวะที่จำกัด การเปลี่ยนแปลง สภาวะแวดล้อม ที่เกินกว่าขอบเขต ที่ปะการัง (รวมทั้งสัตว์ ที่อาศัยซูแซนเทลลี) จะทนได้ จะทำให้ ความสมดุลระหว่าง สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกันนั้น ถูกทำลาย และเป็นผลให้ ซูแซนเทลลี ไม่อาจอาศัยอยู่ใน Host ได้อีกต่อไป การสูญเสียซูแซนเทลลี ไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ก็เป็นผลให้ปะการัง และสัตว์ในกลุ่มนี้ ค่อยๆ ซีดขาว และตายลงได้ในที่สุด

โดยทั่วไป การฟอกขาวของปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในแนวปะการัง นั้น เกิดได้สองลักษณะคือ การสูญเสีย ซูแซนเทลลี จากเนื้อเยื่อของมัน และ/หรือ การที่ซูแซนเทลลี สูญเสีย รงควัตถุ ในตัวมันไป ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ ก็เกิดได้จากหลายสาเหตุ นับตั้งแต่ อุณหภูมิน้ำทะเล ที่เพิ่มสูงขึ้น หรือลดต่ำลง, ความเข้มแสง ที่มากเกินไป, ผลร่วมของความเข้มแสง และอุณหภูมิน้ำทะเล ที่เพิ่มสูงขึ้น, ความเค็ม ลดต่ำ และการติดเชื้อ โดยเฉพาะจากแบคทีเรีย

เราพบว่า สาเหตุที่ก่อให้เกิด ปรากฏการณ์ แนวปะการัง ฟอกขาว เป็นวงกว้างทั่วโลก มักเกิดจากการที่ อุณหภูมิน้ำทะเล เพิ่มสูงขึ้น, ผลจากความเข้มแสง หรือสองปัจจัยนี้ร่วมกัน ในขณะที่ สาเหตุอื่นๆ มักทำให้เกิด การฟอกขาวของปะการัง เฉพาะพื้นที่เท่านั้น นักวิทยาศาสตร์ ได้สังเกตพบว่า โดยทั่วไป ปะการัง จะสามารถปรับตัว ให้เข้ากับ สิ่งแวดล้อมที่มันอาศัย โดยจะคงสภาพอยู่ได้ถึง ระดับ อุณหภูมิสูงสุด ตามภาวะปกติ แต่ปะการังจะฟอกขาว หากอุณหภูมิ ขึ้นสูงกว่าระดับสูงสุด จากที่เคยเป็นเพียง 1 เซลเซียสเท่านั้น สมมุติเช่น อุณหภูมิสูงสุดในอ่าวไทย ตามปรกติอยู่ที่ 31 องศาเซลเซียส หากปีใด อุณหภูมิในอ่าวไทยสูงเกินกว่า 31 องศาเซลเซียส โอกาสที่ ปะการัง จะฟอกขาว ก็ย่อมเกิดขึ้นได้

ที่มาของภาพ
http://www.tongtomyai.com/board/index.php?topic=1188.0
ปรากฏการณ์แนวปะการังฟอกขาวนี้  นักวิทยาศาสตร์ สังเกตเห็น ความผิดปกติ จากปรากฏการณ์ แนวปะการัง ฟอกขาว มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 โดยพบว่า ปะการังเกิดการฟอกขาว อย่างกว้างขวาง ทั่วทั้งมหาสมุทรแปซิฟิก หลังจากนั้น ก็พบในมหาสมุทรอื่นๆ เป็นประจำ ในประเทศไทยเอง การเกิดปรากฏการณ์

แนวปะการังฟอกขาวในปี พ.ศ. 2541 นี้ ก็มิได้ เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่อาจนับเป็นครั้งแรก ที่เกิดการฟอกขาว ของปะการัง ขึ้นทั่วทั้งอ่าวไทย ทั้งนี้เชื่อกันว่า การเกิดปรากฏการณ์ แนวปะการังฟอกขาว ทั่วทั้งอ่าวไทยครั้ง นี้เป็นผลมาจาก ปรากฏการณ์ เอลนีโญ ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540  และส่งผลกระทบต่อ สภาพ ภูมิอากาศโลก รวมทั้งทำให้เกิด ปรากฏการณ์ แนวปะการัง ฟอกขาว ในน่านน้ำอื่นๆ เกือบทั่วโลกด้วย

ปรากฏการณ์ฟอกขาว ที่เกิดขึ้นกับ แนวปะการังครั้งนี้ อาจเป็น จุดเริ่มต้นของ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หรืออาจเป็นเพียง เหตุการณ์เล็กๆ ตามธรรมชาติก็ได้ ทั้งนี้เพราะ การเปลี่ยนแปลงของ แนวปะการัง มีขึ้นตลอดระยะเวลาวิวัฒนาการของแนวปะการัง ตั้งแต่เกือบ 500 ล้านปีมาแล้ว

กุญแจของความอยู่รอด ของแนวปะการัง ในแต่ละบริเวณ ที่สุดแล้ว ก็คงจะขึ้นอยู่กับ ปะการัง และซูแซนเทลลี ว่า จะมีการปรับตัวอย่างไร ภายใต้ปัจจัยอันแปรปรวน ของสภาพแวดล้อมโลก

ที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งใหญ่ของโลก เกิดขึ้นมาแล้ว หลายต่อหลายครั้ง แม้ในยุค Quaternary ในช่วงแสนปีที่ผ่านมา อุณหภูมิของทั้งน้ำ และอากาศ สูงยิ่งกว่าในปัจจุบัน แต่แนวปะการัง ก็ยังคงดำรงอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่มีในยุค Quaternary ก็คือ การคุกคามจากมนุษย์ และกิจกรรมของมนุษย์ และถึงวันนี้ เราเองก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เรามีส่วนร่วมอยู่ใน ขบวนวิวัฒนาการครั้งสำคัญนี้ ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นปรากฏการณ์ครั้งนี้ คงไม่เพียงทำให้เรา ได้เห็นสีที่แท้จริงของ ปะการัง และสัตว์ ในแนวปะการังเท่านั้น แต่น่าจะแสดงให้เห็นถึง สีที่แท้จริงของ Homo sapiens นี้ด้วย



Spring Analysis : ปะการังฟอกขาว ภัยร้ายใต้ทะเล


ที่มาข้อมูล
  • ไทยรัฐออนไลน์. (2554). ทช.เร่งสำรวจปะการัง หลังพบฟอกขาววิกฤติรุนแรง : การศึกษา. [Online]. Available :http://www.thairath.co.th/content/edu/139371. [2554 มกราคม 20].
  • สำนักพิมพ์สารคดี .(2550). ปรากฏการณ์ แนวปะการังฟอกขาว สิ่งแวดล้อมโลก ที่แปรเปลี่ยน. [Online]. Available :http://www.sarakadee.com/feature/1999/02/coral1.htm. [2554 มกราคม 20].

ไม่มีความคิดเห็น: