ภาพโดย : Saigon Thiep Thi |
ตนุ (Chelonia mydas) เป็นเต่าทะเลที่เคยมีมากมายในท้องทะเล แต่การล่าทำให้จำนวนลดลงอย่างรวดเร็วและเริ่มหายาก จนถูกบรรจุเอาไว้ในบัญชีแดง (Red Book) ของสหภาพเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติระหว่างประเทศ หรือ IUCN (International Union for Conservation of Nature) เป็นสัตว์น้ำที่ตกอยู่ในอันตราย ต่างกับเต่าทะเลขนาดใหญ่ชนิดอื่น
เนื้อของเต่าตนุรับประทานได้ ในย่านเอเชียหลายประเทศนิยมรับประทานโดยเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ ขณะที่ไข่ของตนุ ก็มีรสชาติดี และมีราคาแพง ตามข้อมูลของกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อโตเต็มวัยตนุอาจจะมีกระดองยาวถึง 1 เมตร น้ำหนัก 130 กก.ชาวยุโรปก็นิยมรับประทานเนื้อของมัน โดยนำไปปรุงเป็นซุป “จัดเป็นอาหารรสเลิศและราคาแพง” ไข่ของมันที่เรียกว่า “ไข่จะละเม็ด” ก็มีรสอร่อยและราคาแพงเช่นกัน กระดองยังนำไปทำเป็นเครื่องประดับและตบแต่งบ้าน
ตามรายงานของเตื่อยแจ๋ นายเลเตี๋ยนเลียว (Le Tien Lieu) แห่ง อ.กวี่งลือว์ (Quynh Luu) จับเต่ายักษ์หายากตัวนี้ได้ ขณะลากอวนอาปลาที่ชายฝั่ง เมื่อข่าวสะพัดออกไป ชาวเวียดนามที่อยู่ใกล้เคียงได้ตามไปดูเต่ายักษ์เป็นจำนวนมาก หลายคนบอกว่าเป็นตัวใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเห็นในช่วงหลายสิบปีมานี้
การมีสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ในครอบครองเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในเวียดนาม แต่ก็มีพ่อค้าคนหนึ่งเสนอซื้อเต่าตัวนี้จากนายเลียวในราคา 1,500 ดอลลาร์ (45,000 บาท)
เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและพิทักษ์สัตว์น้ำของจังหวัด ได้พยายามชักชวนให้เขาปล่อยเต่าตนุยักษ์กลับลงสู่ทะเล แต่นายเลียวยังยืนยันที่จะต้องขอค่าตอบแทนจำนวนหนึ่ง ทำให้เจ้าหน้าที่รายงานถึงหน่วยเหนือ เตื่อยแจ๋กล่าว
ตนุเป็นหนึ่งในบรรดาเต่าทะเลขนาดใหญ่ 5 ชนิดที่พบในทะเลน่านน้ำเวียดนาม ซึ่งรวมทั้งเต่ามะเฟือง (Leatherback) เต่ากระ (Hawksbill) เต่าสังกะสี หรือ เต่าหญ้า (Olive Ridley) กับเต่าหัวฆ้อน (Loggerhead) ทั้ง 5 ชนิดนี้พบในน่านน้ำทะเลอันดามันของไทยเช่นกัน
ตนุยังแตกย่อยลงไปอีก 3-4 ชนิด เช่น ตนุดำ ตนุแบน ฯลฯ สำหรับเวียดนามแหล่งวางไข่และที่อาศัยใหญ่ที่สุดของเต่าตนุ คือ เขตวนอุทยานแห่งชาติเกาะกงด๋าว (Con Dao) เกาะใหญ่อันดับ 2 ที่อยู่ทางตอนใต้สุดของประเทศ.
ที่มา : ภาพชุดเต่า
ASTVผู้จัดการออนไลน์. (2554).ตนุยักษ์หนักกว่า 70 โลฯ ติดอวนเวียด โก่งราคาหน้าตาเฉย : อินโดจีน.[Online]. Available :http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9540000003454. [2554 มกราคม 12 ].
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น