สถานการณ์ในมหาสมุทรวิกฤตหนักสัตว์ทะเลลดฮวบกว่าที่คิด น่าห่วงสิ่งมีชีวิตหลายสปีชีส์อยู่ในสภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์อย่างไม่เคยเกิดมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษย์ ผลพวงจากการประมงเกินขนาด มลภาวะ และภาวะโลกร้อน ซึ่งท้ายที่สุดจะย้อนมากระทบมนุษย์เอง
ภาพจากบีบีซีนิวส์ |
ทั้งนี้ เป็นรายงานสถานการณ์ทางทะเลล่าสุดจากการรวมตัวกันของนักวิชาการหลากหลายสาขา ทั้งนักนิเวศวิทยาแนวปะการัง (coral reef ecologist) นักพิษวิทยา และนักวิชาการประมง ในการประชุมที่จัดขึ้นโดย "โครงการสากลว่าด้วยสถานการณ์มหาสมุทร (International Programme on the State of the Ocean) หรือ ไอพีเอสโอ (IPSO)" ซึ่งสรุปว่า การประมงเกินขนาด มลภาวะและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) นั้นได้ส่งผลกระทบในแบบที่เราไม่เคยตระหนักมาก่อน และผลกระทบกำลังย้อนกลับมายังมนุษย์
“สิ่งที่ได้พบนั้นน่าตกใจ เท่าที่เราเข้าใจถึงผลกระทบจากสิ่งที่มนุษยชาติกระทำต่อมหาสมุทรนั้น เลวร้ายกว่าที่เราแต่ละคนจะนึกได้ เรานั่งถกกันถึงสิ่งที่เราประจักษ์ แต่ได้เราข้อสรุปพร้อมกับภาพที่เผยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราเคยนึก หรือในแบบที่เราไม่เคยคาดคิดว่าจะได้เห็นเมื่อหลายร้อยปี” บีบีซีนิวส์รายงานความเห็นของ อเล็กซ์ โรเจอร์ส (Alex Rogers) ศาสตราจารย์ชีววิทยาด้านการอนุรักษ์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ของโครงการไอพีเอสโอ
ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีทั้งสิ่งมีชีวิตทางทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว และหลายสปีชีส์ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ นอกจากนี้บีบีซีนิวส์เพิ่มเติมอีกว่า ยังมีอัตราเร่งในการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ อย่างการละลายของแผ่นน้ำแข็งที่กรีนแลนด์และแอนตาร์กติก ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น และมีการปลดปล่อยก๊าซมีเทนที่ถูกกักเก็บไว้ที่ก้นทะเลมากขึ้น
“อัตราการเปลี่ยนแปลงเกินระดับที่เราคาดไว้เมื่อ 200 ปีก่อนไปอย่างมหาศาล ซึ่งถ้าคุณตรวจสอบดู ไม่ว่าจะเป็นการประมงในเขตอบอุ่น แนวปะการังหรือน้ำแข็งในทะเลอาร์กติก ทั้งหมดนี้ล้วนตกอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลง แต่เกิดขึ้นรวดเร็วกว่าที่เราคาดมาก” โอเว โฮ-กัลด์เบิร์ก (Ove Hoegh-Guldberg) ผู้เชี่ยวชาญปะการังจากมหาวิทยาลัยควีนแลนด์ (University of Queensland) ในออสเตรเลียกล่าว
หากแต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กังวลมากกว่านั้น คือ รูปแบบที่ปัญหาต่างๆ ส่งผลเสริมกันจนคุกคามสิ่งมีชีวิตทางทะเลมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การพบอนุภาคพลาสติกเล็กๆ ที่มีสารพิษติดแน่นอยู่ที่ก้นทะเล ซึ่งการพบอนุภาคพลาสติกดังกล่าวนั้นได้เพิ่มปริมาณสารพิษในก้นทะเลมากขึ้น และปลาที่อยู่ในน้ำลึกก็รับสารพิษเหล่านั้นไป
อนุภาคพลาสติกยังช่วยลำเลียงสาหร่ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ทำให้เกิดปรากฏการณ์การแพร่กระจายของสาหร่ายที่เป็นพิษอย่างรวดเร็วหรือปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง (algal bloom) เพิ่มขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์นี้ยังเป็นผลจากปุ๋ยในพื้นที่เกษตร ซึ่งไหลทะลักลงไปปนเปื้อนน้ำทะเลอีกด้วย นอกจากนี้การเป็นกรดของน้ำทะเล อุณหภูมิที่สูงขึ้น มลพิษจากท้องถิ่น และการประมงเกินขนาด ได้ส่งผลเสริมกันในการคุกคามแนวปะการังมากขึ้น โดย 3 ใน 4 ของแนวปะการังทั่วโลกกำลังเสี่ยงที่ลดลงอย่างรุนแรง
บีบีซีนิวส์ระบุว่าโลกผ่าน “การสูญพันธุ์” ครั้งใหญ่มาแล้ว 5 ครั้ง โดยมีสาเหตุจากเหตุการณืทางธรรมชาติอย่างอุกกาบาตพุ่งชนโลก แต่ตอนนี้มีการพูดถึงบ่อยครั้งว่า การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ต่อไปจะเป็นผลจากการกระทำหลายๆ อย่างของมนุษย์ แม้รายงานของไอพีเอสโอสรุปว่ายังเร็วเกินไปที่จะกล่าวเช่นนั้น แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นได้และเกิดขึ้นเร็วกว่าคาบการสูญพันธุ์ใหญ่ทั้งหมดที่ผ่านมา
“สิ่งที่เราเผชิญอยู่นี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยพบในข้อมูลที่ได้จากฟอสซิล สิ่งแวดล้อมปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก และเรายังได้โลกที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด แต่อัตราการสูญพันธุ์ในตอนนี้ก็สูงกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมาก และสิ่งที่เราเผชิญอยู่นี้คือเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ระดับโลกอย่างแน่นอน” ศ.โรเจอร์สบอกบีบีซีนิวส์
ในรายงานของไอพีเอสโอระบุอีกว่า เหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ก่อนหน้านี้สัมพันธ์กับแนวโน้มที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งการวัฏจักรคาร์บอน (carbon cycle) ที่ถูกรบกวน การเป็นกรดของน้ำทะเล และการลดลงของออกซิเจนในน้ำทะเลหรือที่เรียกว่า “ไฮโปเซีย” (hypoxia) และระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มหาสมุทรดูดซับยังสูงกว่าระดับที่พบในยุคการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสัตว์น้ำเมื่อ 55 ล้านปีก่อน หรือระหว่างสมัยพาลีโอซีน-อีโอซีน (Paleocene-Eocene) ในมหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic)
****************************
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000076313
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000076313
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น