สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น 10 สุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่แห่งปี 2009 (ภาพจาก IISE)
นานาชาติยก "ไอ้เท่ง" ทากทะเลชนิดใหม่ของโลก ที่พบในไทยให้ติด 1 ใน 10 สุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่แห่งปี 2009 พร้อมกับหม้อข้าวหม้อแกงลิงยักษ์ในฟิลิปปินส์ แมงมุมสีทองจากมาดากัสการ์ จากหลายพันสปีชีส์ที่มีรายงานการค้นพบในปีเดียวกัน
สถาบันนานาชาติเพื่อการสำรวจสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ หรือไอไอเอสอี (International Institute for Species Exploration: IISE) มหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต (Arizona State University) สหรัฐอเมริกา และคณะกรรมการนักอนุกรมวิธานนานาชาติ ไดัคัดเลือกสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่จากทั่วโลกกว่าหลายพันสปีชีส์ให้เหลือเพียง 10 สปีชีส์ เพื่อขึ้นบัญชีสุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่แห่งปี 2009 ซึ่งได้มีการประกาศผลการคัดเลือกไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพพอดี และมีสปีชีส์ใหม่ที่พบในไทยได้ติดอันดับโลกด้วย
"คณะกรรมการตัดสินแต่ละคนมีอิสระในการคัดเลือกและกำหนดเกณฑ์การตัดสินของตัวเองจากคุณลักษณะที่แปลกใหม่หรือความจริงที่น่าประหลาดใจ รวมไปถึงชื่ออันแปลกประหลาดของสปีชีส์นั้นๆ" เควนติน วีลเลอร์ (Quentin Wheeler) ผู้อำนวยการสถาบันไอไอเอสอี และนักกีฏวิทยาจากสถาบันชีววิทยาศาสตร์ (School of Life Sciences) เผยไว้ในไลฟ์ไซน์ด็อตคอม
ทั้งนี้ การจัดอันดับ 10 สุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่แห่งปี 2009 ในปีนี้นับเป็นปีที่ 3 แล้ว ซึ่งในจำนวนนั้นมี "ทากทะเล" ชนิดใหม่ของโลก ที่ค้นพบในประเทศไทยรวมอยู่ด้วย โดยสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ทั้ง 10 สปีชีส์ มีดังนี้ (ไม่เรียงอันดับ)
แมงมุมสีทองสปีชีส์ใหม่ที่พบบนเกาะมาดาร์กัสการ์ เป็นแมงมุมสีทองที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และสามารถถักทอใยแมงมุมได้ใหญ่กว่า 1 เมตร (ภาพจาก IISE)
1. แมงมุมสีทองของโคแมค (Komac's golden orb spider) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เนฟิลา โคมาชิ (Nephila komaci) เป็นสปีชีส์แรกในสกุลเนฟิลาที่ถูกกล่าวขานถึงมาตั้งแต่เมื่อปี 1879 แต่เพิ่งจำแนกได้ว่าเป็นแมงมุมสปีชีส์ใหม่ตามหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์และได้รับการตีพิมพ์รายงานการค้นพบเมื่อปี 2009 โดย เอ็ม คุนต์เนอร์ (M. Kuntner) นักวิจัยของสถาบันชีววิทยาแห่งวิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์สโลวีเนียน (Institute of Biology of the Slovenian Academy of Sciences and Arts) และ โจนาธาน คอดดิงตัน (Jonathan Coddington) นักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาสมิธโซเนียน (Smithsonian's National Museum of Natural History)
แมงมุมชนิดนี้สามารถถักทอใยแมงมุมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ใหญ่กว่า 1 เมตร โดยที่แมงมุมตัวเมียที่สร้างใยขึ้นมานั้นเมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดยาวประมาณ 3.8-4.0 เซนติเมตรเท่านั้น ขณะที่แมงมุมตัวผู้มีขนาดเพียง 0.8-09 เซนติเมตร หรือเล็กกว่าราว 5 เท่า มีถิ่นอาศัยอยู่ในมาดากัสการ์ ซึ่งคุนต์เนอร์ตั้งชื่อสปีชีส์ให้ว่า โคมาชิ เพื่อรำลึกถึงแอนเดรจ โคแมค (Andrej Komac) นักวิทยาศาสตร์ผู้ที่เป็นเพื่อนรักที่สุดของเขาที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในระหว่างที่พวกเขากำลังศึกษาวิจัยแมงมุมชนิดนี้
ปลาแดร็กคูลา ตัวเล็กจิ๋ว แต่มีเขี้ยวยาวคล้ายค้างคาวดูดเลือดในตำนาน (ภาพจาก IISE)
2. ปลาแดร็กคูลา (Dracula fish) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แดนิโอเนลลา แดร็กคูลา (Danionella dracula) เป็นปลาน้ำจืดที่พบในแม่น้ำ Sha Du Zup รัฐคะฉิ่น สหภาพพม่า ตัวผู้มีเขี้ยวยาวแหลมคมคล้ายสุนัขหรือค้างคาวดูดเลือดในตำนาน และนี่ยังเป็นการรายงานการค้นพบอวัยวะที่มีลักษณะคล้ายฟัน (oral teeth-like structures) ของสัตว์ในวงศ์ไซพรินิเด (Cyprinidae) หรือวงศ์ปลาตะเพียน ซึ่งเป็นวงศ์ของปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ฟองน้ำเพชฌฆาต ฟองน้ำสปีชีส์ใหม่ที่มีโครงสร้างแตกต่างจากฟองน้ำชนิดอื่นๆ (ภาพจาก IISE)
3. ฟองน้ำเพชฌฆาต (killer sponge) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า คอนโดรคลาเดีย (เมลิเดอร์มา) เทอร์บิฟอร์มิส [Chondrocladia (Meliiderma) turbiformis] อยู่ในวงศ์คลาโดไรซิเด (Cladorhizidae) เป็นวงศ์ฟองน้ำในทะเลลึกที่กินสัตว์เป็นอาหาร มีความหลากหลายสูง พบในทะเลเปิดทั่วไป โดยเฉพาะในมหาสมุทรแปซิฟิก พบครั้งแรกในประเทศนิวซีแลนด์ มีลักษณะพิเศษคือโครงสร้างส่วนของสปิคูลไม่เหมือนฟองน้ำชนิดอื่น (เป็นแบบ trochirhabd spicule)
"ไอ้เท่ง" ทากทะเลสปีชีส์ใหม่ของโลกพบที่ป่าชายเลนในปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช มีตัวสีดำและหน้าตาละม้ายคล้ายกับ "ไอ้เท่ง" ตัวละครในหนังตะลุงของปักษ์ใต้บ้านเรา (ภาพจาก IISE)
4. ไอ้เท่ง (Aiteng) เป็นทากทะเลสปีชีส์ใหม่และวงศ์ใหม่ของโลกด้วย โดยจัดอยู่ในวงศ์ไอเทงกิเด (Aitengidae) ถูกค้นพบเมื่อปี 2009 บริเวณร่องน้ำในป่าชายเลนที่อ่าวปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่นำโดย ดร. ซี สเวนเนน (Dr. C.Swennen) นักวิจัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์ และนายสมศักดิ์ บัวทิพย์ นักวิทยาศาสตร์ จากแผนกชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ไอ้เท่งมีขนาดประมาณ 6-17 มิลลิเมตร ลำตัวมีสีดำ กินแมลงในระยะดักแด้เป็นอาหาร ซึ่งแตกต่างจากทากทะเลวงศ์อื่นๆ ที่มักกินสาหร่ายเป็นอาหาร สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ คล้ายกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั่วๆไป ซึ่งความพิเศษนี้พบได้น้อยมากในทากทะเลที่มีการค้นพบหรือมีการศึกษาอยู่แล้วในปัจจุบัน และทีมวิจัยได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้ว่า ไอเทง เอเตอร์ (Aiteng ater) ซึ่งชื่อสกุล Aiteng ตั้งตามจากชื่อตัวหนังตะลุงของปักษ์ใต้ที่ชื่อ "ไอ้เท่ง" ที่มีลักษณะตัวสีดำและมีตาคล้ายกับสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ ส่วนชื่อสปีชีส์ ater มาจากภาษาลาติน หมายถึง สีดำ (ข้อมูลจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
5. ระเบิดเขียว (Green bombers) พบที่อ่าวมอนเตอเรย์ (Monterey Bay) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า สวิมา บอมบิวิริดิส (Swima bombiviridis) เป็นหนอนทะเลชนิดหนึ่งที่สามารถทิ้งระเบิดเรืองแสงสีเขียวที่ดัดแปลงมาจากอวัยวะส่วนเหงือกเพื่อป้องกันตัวเองจากศัตรูคู่อาฆาต
6. ปลากบไซเซเดลิกา (Psychedelic frogfish) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ฮิสทิโอฟไรน์ ไซเซเดลิกา (Histiophryne psychedelica) ซึ่งเป็นปลากบที่มีรูปลักษณ์อันน่าพิศวงงงงวยที่ดูแล้วชวนประสาทหลอน และมีใบหน้าแบนราบแตกต่างจากปลากบชนิดอื่นๆ พบครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซีย
7. ปลาไฟฟ้า (Electric fish หรือ Omars' banded knifefish) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า จิมโนตัส โอมาโรรัม (Gymnotus omarorum) พบในประเทศอุรุกวัยซึ่งตั้งชื่อตามของ โอมาร์ มาคาดาร์ (Omar Macadar) และโอมาร์ ทรูจิลโล-เคนอซ (Omar Trujillo-Cenoz) สองนักวิทยาศาสตร์ผู้ริเริ่มศึกษาการสร้างกระแสไฟฟ้าของปลาในสกุลจิมโนตัส ซึ่งปลาสปีชีส์นี้ถูกใช้เป็นต้นแบบในการศึกษาเกี่ยวกับสรีรวิทยาและการสื่อสารด้วยกระแสไฟฟ้ามาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยก่อนหน้านั้นนักวิทยาศาสตร์ในอุรุกวัยเคยอ้างผิดว่าเป็นปลาสปีชีส์ จิมโนตัส คาราโป (Gymnotus carapo)
ที่มาข้อมูล : ASTV ผู้จัดการออนไลน์.(2553). Science & Technology. [Online]. Available :http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000071651. [2553.พฤษภาคม 27].
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น